ชงรีดภาษี! บ้านเกิน 3 ล้าน
เอกชนจ่อยื่นสนช. ทบทวนผ่อนปรน ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง จี้จัดเก็บบ้านเกิน 3 ล้านบาทหารายได้เข้ารัฐ แจง 50 ล้านบาทสูงเกินไป เชื่อภาคอุตสาหกรรม-เอสเอ็มอีทั่วไทยกระทบหนักเข้าข่ายพาณิชย์เสียภาษี 2%
ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยตํ่ากว่า 50 ล้านบาทที่ได้รับการยกเว้น ดูจะเอื้อเศรษฐีที่มีฐานะมากกว่า ส่วนพาณิชยกรรมระบุว่าทุกประเภทที่ไม่ใช่เกษตรและที่อยู่อาศัยจะต้องเสีย 2% ซึ่งรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายเล็กที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้าข่ายเสียภาษีในอัตรานี้ด้วย ทำให้วิตกกันว่าผู้บริโภคจะถูกซํ้าเติม
นายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ…เข้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่าจะมีการหารือในประเด็น อัตราภาษีประเภท 3 หรือประเภทพาณิชยกรรมเพราะมีกระแสพูดถึงมากที่สุด เนื่องจากกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง และเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี จะยื่นข้อเรียกร้องให้สนช.ทบทวน ขณะที่สมาคม ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ แต่จะดูท่าทีก่อน
อย่างไรก็ดีเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการจัดเก็บรายได้จากพาณิชยกรรมมากที่สุดดูจากเป้าที่ตั้งไว้ 60,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาษีเก่า 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่ ควรกำหนดอัตราที่ต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจฟุ่มเฟือย อย่าง สถานบันเทิง อาบอบนวด ฯลฯ ควรเก็บ 2% ขณะที่โรงเรียน โรงพยาบาลเอกชน ร้านค้า ร้านอาหาร ควรเก็บตํ่าลง กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กิจการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะ โรงเรียนจะได้รับยกเว้นภาษีสูงถึง 90% หรือ ปกติ เสียภาษีตามประเภท 100% แต่เสียเพียง 10%
“บ้านเสนอว่าควรยกเว้นภาษีตํ่ากว่า 3 ล้านบาทจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นกลุ่มกลางล่าง ขณะที่บ้าน ตํ่ากว่า 50 ล้านบาท มองว่า เป็นระดับเศรษฐี ยกเว้นมากไปเกรงว่า รัฐจะเสียรายได้”
ขณะที่นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจ (Biz Club) 17 จังหวัดภาคเหนือ ในส่วนของภาษีที่ดินและโรงเรือนเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งตามร่างนี้มีเพดานการจัดเก็บภาษีสูงถึง 2% ของราคาประเมิน เห็นว่าในกรณีที่มีการใช้ที่ดินและโรงเรือนเพื่อการพาณิชย์อย่างชัดเจน 100% น่าจะไม่กระทบ เพราะผู้ประกอบการมีสายป่านเพียงพอ แต่น่าเป็นห่วงกรณีผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย หรือผู้ประ กอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ และใช้ที่ดินและอาคารบางส่วนมาประกอบธุรกิจ
“ผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะจัดเก็บภาษีพวกเขาอย่างไร และจะดูแลสนับสนุนเขาอย่างไร” นายพัฒนากล่าวและว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจเพื่อทำเป็นฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs อย่างชัดเจน เพื่อใช้จัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม และเอื้อต่อการเติบโต
นายพัฒนายังตั้งข้อสังเกตอีกประเด็นว่า กรณีผลิตสินค้าในบ้านไม่มีหน้าร้านเปิดขายออน ไลน์ จะเข้าข่ายภาษีใด หรืออยู่ในข่ายพาณิชย์ของภาษีที่ดินหรือไม่
“ผมฝากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องให้พิจารณาผู้ประกอบธุรกิจใน 2 กลุ่มนี้ และต้องตอบคำถามของผู้ประกอบการ 2 กลุ่มนี้ให้ได้ว่าจัดเก็บอย่างไร เพราะผู้ประกอบ ธุรกิจในโมเดลแบบนี้ มีอยู่เกินกว่า 80% ของผู้ประกอบธุรกิจทั่วประเทศ เฉพะที่จังหวัดเชียงรายก็มีเกินกว่า 20,000 ราย”
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจผลกระทบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทพาณิชยกรรมย่านลาดพร้าว เริ่มจากร้านสะดวกซื้อ บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ได้รับการชี้แจงจากพนักงานว่า บริษัทเป็นผู้เสียภาษีส่วนราคาสินค้าจะปรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตลาด สอดคล้องกับนายวรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ผู้จัดการหจก.พีคอยล์กล่าวว่า ได้รับสิทธิ์ดำเนินการแทน บมจ.บางจากเชื่อว่าไม่ น่าจะผลักภาระภาษีให้กับผู้รับจ้างขายอีก เพราะปัจจุบันกำไรไม่มากนัก ขณะเดียวกันสัญญาระบุชัดเจนว่าภาระภาษีบริษัทเป็นผู้เสีย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3248 ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.2560