5 วิธีจัดการเงินของ “หนุ่มสาวนักช้อป” ให้มีเงินออม

5 วิธีจัดการเงินของ “หนุ่มสาวนักช้อป” ให้มีเงินออม

5 วิธีจัดการเงินของ “หนุ่มสาวนักช้อป” ให้มีเงินออม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความนี้แอดมินเพจอภินิหารเงินออมตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อขาช้อป ทุกท่านที่จะเกิดอาการคันไม้คันมือทุกครั้งที่ถึงวันเงินเดือนออก ในวันนั้น “หนุ่มสาวนักช้อป” มักจะมีแววตาเป็นประกายวิ้งๆ อารมณ์พลุ่งพล่าน เลือดลมในร่างกายสูบฉีดเพราะต่อมช้อปปิ้งเต้นรัวเป็นจังหวะร็อคดุดันที่พร้อมใช้จ่ายกับทุกอย่างที่ขวางหน้า ในขณะที่บางคนหัวใจเต้นเป็นจังหวะแจ็สที่ฟังเบาๆ ใช้จ่ายสบายๆ แต่จ่ายเรื่อยๆ


หลายคนอาจจะถึงขั้นงุนงงว่าได้เงินเดือนมาแล้วจะเอาไปซื้ออะไรก่อนดี อันนี้ก็ดี อันนั้นก็อยากได้ อันโน้นก็จำเป็น ดูแล้วสิ่งของรอบตัวมันน่าโดนไปหมดทุกอย่าง #เงินหมด งงเด้ งงเด้!! #ชีวิตพังยับเยิน ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากล้มละลายเพราะการช้อปปิ้ง อ่านแนวคิดในบทความนี้แล้วลองนำไปปรับใช้กันได้เลย จะได้กลายเป็นนักช้อปที่มีเงินออมกันนะจ๊ะ

aom0104601

5 วิธีจัดการเงินของ “หนุ่มสาวนักช้อป” ให้มีเงินออม

ข้อแรก คือ จัดลำดับว่าอะไรจำเป็นที่สุด

ความจำเป็นของแต่ละคนมีมากน้อยแตกต่างกัน ถ้าเรามีเงินที่จำกัด แต่ไม่สามารถซื้อของทุกอย่างพร้อมกันได้ วิธีที่จะจัดการกับเรื่องจำเป็นได้ง่ายที่สุด คือ จัดลำดับความสำคัญ เริ่มจากเขียนสิ่งของทุกอย่างที่เราคิดว่าจำเป็นลงในกระดาษ พร้อมกับราคาของแต่ละชิ้น แล้วดูว่าตอนนี้เรามีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ สุดท้ายเลือกว่าจะต้องซื้ออะไรก่อนหลัง


วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่าตอนนี้เงินในกระเป๋าของเราพร้อมที่จะจ่ายมั๊ย ถ้าเงินไม่พอก็รอซื้อครั้งต่อไปที่มีรายได้เข้ามา หรือเปลี่ยนมาใช้ของที่มีคุณภาพใก้ลเคียงกัน แต่ราคาต่ำกว่าจะได้ประหยัดเงิน รวมทั้งวางแผนเงินในอนาคตได้อีกด้วยว่าจะต้องใช้จ่ายกับอะไรและเท่าไหร่บ้าง


ข้อสอง คือ ออมเงินก่อนช้อปปิ้ง

ก่อนที่เราจะเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างสุขสำราญบานใจ แต่ไม่อยากกระเป๋าฉีกและบาดเจ็บจากพายุหนี้สินที่ถล่มใส่เรานั้น ควรแบ่งเงินไปออมก่อนอย่างน้อย 10% ของรายได้ เช่น รายได้ 20,000 บาท เราควรตัดเงิน 2,000 บาทไปออมทันที เหลือเงินเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น


ถ้าใครได้รับเงินเป็นรายวันไม่เท่ากันก็ใช้วิธีนี้ได้เหมือนกัน เช่น สมมติได้เงินวันละ 200 – 400 บาท แต่ละวันให้เรานำเงิน 20 – 40 บาทไปหยอดกระปุกออมสิน พอครบเดือนก็นำไปฝากธนาคารนะจ๊ะ


ทางเลือกในการเก็บเงินออม เช่น ฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ฝากประจำปลอดภาษี กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะมีความเสี่ยงต่ำ เหมาะกับคนพึ่งเริ่มต้นออมเงิน พร้อมกับศึกษาเรื่องการลงทุนอื่นๆที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เพื่อจะได้รู้วิธีในการนำเงินออมไปต่อยอดให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนะจ๊ะ


ข้อสาม คือ ออมเงิน 50% ของเงินที่ช้อปปิ้ง

บางคนเห็นเงินในกระเป๋าของตัวเองทีไร จะต้องหยิบออกไปใช้จ่ายหมดทุกที วิธีออมจากเงินช้อปปิ้งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เราจะได้บังคับใจตัวเองไม่ให้ซื้อของพร่่ำเพรื่อ ตัวอย่าง เราซื้อเสื้อผ้าและเครื่องสำอางหมดเงินไป 2,000 บาท เราจะต้องนำเงิน 1,000 บาทมาหยอดกระปุกออมสินไว้ ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ช้อปปิ้ง

เมื่อเราเห็นเงินในกระเป๋าน้อยลง ก็จะช้อปปิ้งน้อยลง พอออมเงินครบ 1 เดือนหรือ 1 ปี เปิดกระปุกออมสิน ออกมานับแล้วรีบนำไปเก็บไว้ที่ธนาคารทันที จะได้ไม่เผลอใจหยิบออกมาใช้จ่ายนะจ๊ะ แบบนี้เราก็จะมีเงินออมจากการช้อปปิ้งแบบง่ายๆแล้วจ้า


ข้อสี่ คือ ตั้งงบช้อปปิ้งลั้นลา

เราอยากได้ของโน้นนี่นั่นเต็มไปหมด แต่อย่าลืมว่าเงินในกระเป๋าของเรามี “จำกัด” ถ้าใช้ช้อปปิ้งหมดแล้ว ตอนนั้นเราอาจจะต้องกินกระเป๋าแทนข้าวเลยก็ได้ ถ้าเราไม่อยากใช้เงินเกินตัว ควรแบ่งเงินมาเลยว่าจะใช้เงินช้อปปิ้งเท่าไหร่ ถ้าใช้หมดแล้วก็หยุดช้อปปิ้งทันที

ตัวอย่าง เราตั้งใจจะช้อปปิ้งเดือนละ 3,000 บาท ถ้าเราอยากซื้อกระเป๋าใบหนึ่ง แต่ตอนนี้มันเกินงบที่ตั้งไว้แล้ว เราควรเปลี่ยนไปซื้อในเดือนต่อไปแทน แต่ถ้าเราใช้งบไม่หมด เช่น ช้อปปิ้งไป 2,500 บาท เหลือเงินอีก 500 บาท ควรนำไปออมเงินนะจ๊ะ ไม่ใช่นำเงิน 500 ไปใช้จ่ายในเดือนต่อไป


ข้อที่ห้า คือ อย่าช้อปปิ้งก่อนนอน

ช่วงเวลาก่อนนอนเราจะรู้สึกสบายตัวมากๆ ตวัดหน้าจอมือถือไปมา พร้อมกับนอนกลิ้งบนเตียง ตอนนั้นสติของเราค่อยๆหายไปเพราะเตียงนอนดูดพลังไปเกือบหมด จังหวะนี้แหละที่จะทำให้เราเสียเงินมากที่สุด เพราะเคลิบเคลิ้มไปกับโปรโมชั่นของถูก สุดท้ายคลิกซื้อ ตัดบัตรเครดิตจบปุ๊บ เราหลับทันที คร๊อกฟี่ๆๆๆ


ตื่นเช้ามาก็รู้สึกมึนงงๆว่าเมื่อคืนนี้เกิดอะไรขึ้น แต่จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง มารู้ตัวและตื่นตัวอีกทีตอนของมาส่งที่บ้านแล้วเห็นตัวเลขอันน่าสะพรึงของบิลบัตรเครดิตที่จะต้องจ่ายในรอบต่อไป #จบกันเงินออมที่เก็บสะสมมา


อย่าช้อปปิ้งก่อนนอน เพราะความง่วงทำให้สติของเราหายไป ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงดูแอพหรือเว็ปช้อปปิ้งก่อนนอน ถ้าเลิกดูไม่ได้ก็ควรตั้งงบช้อปปิ้งไว้จะได้รู้ว่าตัวเองใช้เกินงบรึยัง แต่ถ้าสุดท้ายใช้ทุกวิธีแล้วยังหยุดช้อปปิ้งไม่ได้ก็ลบแอพช้อปปิ้งทิ้งซะ ถ้าถึงเวลานอนก็หลับเลย โดยที่ไม่หยิบมือถือมาจิ้มเล่นนะจ๊ะ


สรุปว่า…

ตอนนี้เรารู้วิธีช้อปปิ้งแล้วมีเงินออมว่าจะต้องจัดลำดับความสำคัญ ออมเงินก่อนช้อปปิ้ง ออมเงิน 50% ของเงินที่ช้อปปิ้ง ตั้งงบช้อปปิ้งลั้นลาและไม่ช้อปก่อนนอน ต่อไปก็จะต้องลงมือทำจริงๆแล้วนะจ๊ะ ซึ่งวิธีข้างต้นไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่จะต้องทำตามเป๊ะ เพราะแต่ละคนมีสไตล์แตกต่างกัน ควรเลือกนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง วิธีส่วนตัวของผู้เขียนจะใช้การตั้งงบช้อปปิ้ง เพราะมันง่าย ส่วนคนอื่นๆใช้วิธีไหน ได้ผลยังไงส่งข่าวมาบอกกันบ้างนะจ๊ะ ^^


อภินิหารเงินออม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook