2 ยักษ์น้ำมัน อัด 4 แสนล้าน ชิงปิโตรเลียม
พลังงาน เดินหน้าเปิดประมูลแหล่งสัมปทานหมดอายุ มิ.ย.นี้ หลังพ.ร.บ.ปิโตรเลียม คลอด ปตท.สผ.และเชฟรอน ขานรับเข้าร่วม มั่นใจคว้าการประมูล อัดงบ 5 ปี 4 แสนล้าน รักษากำลังผลิตต่อเนื่อง ยันหากรายใหม่ชนะประมูลประ เทศต้องนำเข้าก๊าซ 3.5 แสนล้านบาท
ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถฝ่าแรงต้านของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยการลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ออกมาให้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ไปทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กช.) จะต้องนำกฎหมายรอง ประกอบไปด้วยกฎกระทรวง 5 ฉบับ และ 1 ประกาศกระทรวง ไปจัดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนเมษายนนี้ และรวบรวมนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และนำกลับมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนาม เพื่อนำไปสู่การประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ได้ช้าสุดไม่เกินเดือนกรกฎาคมปีนี้ และพิจารณาหาผู้ชนะได้ไม่เกินเดือนธันวาคม 2560
จากกรอบระยะเวลาดังกล่าว สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการที่มีความสนใจเข้าประมูลมากขึ้น โดยเฉพาะผู้รับสัมปทานรายเดิม อย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เจ้าของแหล่งบงกชในแปลง B15/16/17 และบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจ และผลิต จำกัด เจ้าของแหล่งเอราวัณ ในแปลง B10/11/ 12/13 รวมปริมาณผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของปริมาณการใช้ก๊าซทั้งประเทศ
โดยล่าสุดทางปตท.สผ.ได้ประกาศออกมาแล้วว่า เมื่อกรอบเวลาการประมูลมีความชัดเจนขึ้นแล้ว ก็พร้อมที่จะลงทุนในระยะเวลาที่เหลืออีก 5 ปี เพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามสัญญาประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถชนะการประมูล และทำให้การผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่องได้ เช่นเดียวกันบริษัท เชฟรอนฯ ที่จะเข้าประมูลในแหล่งเดิม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสำหรับการรักษากำลังการผลิตต่อไปอีก 5 ปีไม่ตํ่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีความชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปรอเพียงแค่กระทรวงพลังงานออกทีโออาร์เปิดประมูล ซึ่งปตท.สผ.ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยหวังว่าขั้นตอนการดำเนินการที่เหลือนี้ หากเดินตามกรอบที่วางไว้ทางผู้ประกอบการยังสามารถรับได้อยู่ แม้ว่าการวางแผนกำลังการผลิตจะเหนื่อยก็ตาม เพราะถือว่าล่าช้ามากแล้ว แต่หากขั้นตอนประมูลเกิดสะดุด และยังไม่สามารถหาผู้ชนะการประมูลได้ภายในปลายปีนี้ จะทำให้การวางแผนการผลิตเหนื่อยมากขึ้นไปอีก และอาจจะต้องลดการลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ลงมาจากที่ตั้งไว้ 1.5 แสนล้านบาท
เนื่องจากในการรักษาระดับ การผลิตที่ต่อเนื่องนี้ จะต้องมีการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมิน ที่ใช้ระยะเวลา 1 ปี และจะต้องสั่งสร้างแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมพัฒนา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งจะเหลือระยะเวลาผลิตในการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งหากไม่สามารถหาผู้ชนะการประมูลได้ทันภายในปีนี้ จะทำให้การตัดสินใจที่จะลงทุนรักษาระดับการผลิตให้ต่อเนื่องต้องลดลงด้วย เพราะหากลงทุนไปแล้วเหลือ ระยะเวลาเพียง 4 ปี เงินลงทุนที่ใส่ลงไปผลิตปิโตรเลียมออกมายังไม่คุ้มทุนสัมปทานก็สิ้นสุดแล้ว
นายมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการคาดหวังจะเป็นผู้ชนะการประมูลหรือไม่นั้น ในฐานะเจ้าของบ้านก็คิดว่ามีความได้เปรียบ เพราะทราบรายละเอียดของบ้านเป็นอย่างไร โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินงานและโครงสร้างธรณีวิทยา แต่ทั้งนี้ หากปตท.สผ. รวมถึงเชฟรอนประมูลและไม่ชนะ เปลี่ยนมือให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ จะทำให้การผลิตปิโตรเลียมไม่เกิดความต่อเนื่องหลังจากปี 2565-2566 ไปแล้ว ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้ปริมาณหายไป 2.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีและแอลพีจี คิดเป็นมูลค่าราว 3.5 แสนล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่าราว 1.3 แสนล้านบาท และเงินลงทุนที่หายไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท กระทบต่อรายได้รัฐในรูปค่าภาคหลวงและภาษีที่หายไปราว 2 แสนล้านบาท
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ดังนั้นเชฟรอน ยังคงมีแผนลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนใจเข้าร่วมประมูลในแปลงสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2565 เมื่อพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ผ่านการพิจารณาของสนช.แล้ว อยากจะให้กระทรวงพลังงานเร่งออกประกาศกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เปิดประมูลจากภาครัฐหรือทีโออาร์โดยเร็ว เพื่อให้บริษัท สามารถพิจารณาในการวางแผนการลงทุนรักษาระดับการผลิตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ก่อนสัมปทานจะหมดอายุ โดยแต่ละปีบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังจากสนช.มีมติผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมแล้ว ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ทางกรมจะนำกฎกระทรวง 5 ฉบับ และ 1 ประกาศ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และหลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุ โดยคาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้หรืออย่างช้าสุดไม่เกินเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ได้ผู้ชนะประมูลอย่างช้าสุดไม่เกินเดือนธันวาคมปีนี้
โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งกรมไม่ต้องการปริมาณผู้เข้าร่วมประมูล แต่จะเน้นไปที่คุณสมบัติที่มีประสบการณ์การผลิตปิโตรเลียมมากกว่า เพื่อให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 ปี ก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน ทางผู้ประกอบการรายเดิม อาจจะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามสัญญา
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3249 ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.2560