“Khan Academy” ผู้สร้างปรากฏการณ์ติวเตอร์ที่มีลูกศิษย์กว่า 50 ล้านคน

“Khan Academy” ผู้สร้างปรากฏการณ์ติวเตอร์ที่มีลูกศิษย์กว่า 50 ล้านคน

“Khan Academy” ผู้สร้างปรากฏการณ์ติวเตอร์ที่มีลูกศิษย์กว่า 50 ล้านคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากลองไปถามนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ เชื่อเถอะว่าต้องมีคนรู้จัก “Khan Academy” โรงเรียนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายคนสอบผ่านเพราะติวด้วยตัวเองผ่านช่องทางนี้ และคงมีอีกมากที่นึกขอบคุณคนที่ก่อตั้งสถาบันขึ้นมา จากคลิปติววิชาเรียนไม่กี่คลิปที่นำเสนอผ่านยูปทูปพัฒนาไปสู่ห้องเรียนดิจิทัลขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ ซัลมาน ข่าน อดีตนักวิเคราะห์การเงินชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-บังคลาเทศได้รับการยกย่องว่าเป็น The world’s teacher หรือครูของโลกทั้งที่ไม่ได้จบคุรุศาสตร์หรือมีใบอนุญาตในการเป็นครูแต่อย่างใด ทั้งยังได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้านเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน

ข่านเป็นบัณฑิต 3 ปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ปริญญาใบแรกสาขาวิทยาศาสตร์เอกคณิตศาสตร์ ใบที่สองวิศวกรรมสาขาไฟฟ้า และใบที่สามวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พอเรียนจบก็ไปทำงานแวดวงไอทีที่ซิลิคอนวัลเลย์ ทำได้ไม่นานก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้วยเหตุผลที่ว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ค่อยมีผู้หญิง ทำให้หาแฟนยากมาก ถ้าอยู่ต่อไปมีหวังเป็นโสดจนตาย

เขาเข้าเรียนเอ็มบีเอที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ทุกอย่างเป็นไปตามที่ใจฝัน ได้แฟนมาคนหนึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์เชื้อสายเอเชียใต้เหมือนกัน เรียนจบแต่งงานกัน ภรรยาก็เป็นหมอไป ส่วนข่านได้งานเป็นนักวิเคราะห์การเงินของ hedge fund –กองทุนเก็งกำไรแห่งหนึ่งในบอสตัน แล้วเหตุการณ์ก็เริ่มต้นจากนาเดีย ญาติวัย 12 ปีอาศัยที่นิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียน่าโทรมาขอให้ช่วยติววิชาพีชคณิตให้ ข่านก็อธิบายให้ฟังทางโทรศัพท์โดยใช้ Yahoo Doodle โปรแกรมเมสเซนเจอร์ของยาฮูร่วมด้วย

ความที่เป็นคนมีพรสวรรค์ในการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อีกทั้งเป็นวิชาที่ถนัด ทำให้ญาติ ๆ กว่า 10 คนมารุมล้อมขอให้ติวให้บ้าง จนมีคนแนะขึ้นมาว่าทำเป็นคลิปแล้วอัพลงยูทูปเถอะ ปี 2006 ข่านเริ่มทำคลิปความยาว 7-14 นาที อธิบายวิชาต่าง ๆ แล้วนำลงยูทูป ไม่เพียงแค่ญาติ ๆ ของเขา แต่คนภายนอกก็เข้ามาดูด้วย ยอดวิวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นเขายังทำงานที่เฮดจ์ฟันด์ และใช้เวลาหลังเลิกงานทำคลิปเป็นงานอดิเรก

ข่านรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการปฏิวัติการศึกษาอย่างหนึ่งเพราะนักเรียนได้รับความรู้ที่เขาถ่ายทอดไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกขอเพียงมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ปี 2009 เขาจึงลาออกจากงาน ก่อตั้ง Khan Academy องค์กรไม่แสวงกำไรขึ้นมา และทุ่มเทให้กับการทำคลิปโดยไม่มีรายได้เข้ามาแม้แต่น้อย จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนทั้งโลกโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ จนกระทั่งมีเงินบริจาคก้อนแรก 10,000 เหรียญจากเศรษฐีนีอเมริกัน แอนน์ ดูเออร์เข้ามา แอนน์รู้จัก Khan Academy เพราะบิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์พูดถึง พอรู้ว่าสิ่งที่ข่านทำไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย จึงบริจาคเงินให้เป็นทุน

ส่วนเกตส์ไม่ได้แค่พูดถึง ภายหลังยังบริจาคเงินให้ด้วย 1.5 ล้านเหรียญเนื่องจากลูกของเกตส์ก็ติวหนังสือจาก Khan Academy เช่นกัน และเป็นที่ทราบกันว่าเกตส์นั้นสนับสนุนด้านการศึกษาอยู่แล้ว เขาจึงอยากให้สิ่งที่ข่านทำยืนหยัดอยู่ได้ หลังจากนั้น ยอดเงินบริจาคก็หลั่งไหลเข้ามา เช่น จากกูเกิ้ล 2 ล้านเหรียญ จากเอทีแอนด์ที และจากคาร์ลอส ซาลิม มหาเศรษฐีอันดับ 1 ชาวเม็กซิโกที่ทุ่มงบไม่อั้นให้แปลคลิปการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษาสเปน พอมีรายได้เข้ามา ข่านก็จ้างสตาฟมาประจำและปรับปรุงห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น พนักงานองค์กรตอนนี้มีกว่า 100 คน ยังไม่รวมอาสาสมัครจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มาร่วมออกแบบเนื้อหาบทเรียนให้

ปัจจุบัน Khan Academy มีคลิปสอนวิชาต่าง ๆ กว่า 5,000 คอร์ส รวม 20,000 กว่าคลิป ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรม การเงิน ครอบคลุมระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา วิดีโอที่ทำออกมามีมากกว่า 65 ภาษา (มีภาษาไทยด้วยภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ และมูลนิธิไทยคม) มีแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำ ครูเองก็ได้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอน ข้อมูลระบุในแต่ละวัน บทเรียนของ Khan Academy มากกว่า 1,000 ล้านบทเรียนจะผ่านสายตาผู้ชม และแต่ละเดือนมีครูราว 2 ล้านคน นักเรียนประมาณ 40 ล้านคนเข้ามาใช้งานในห้องเรียนดิจิทัลแห่งนี้

การตัดสินใจละทิ้งหน้าที่การงานที่กำลังรุ่งเรืองในตลาดการเงินเพื่อมาตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรที่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากประชาชนนับเป็นอะไรที่ต่างกันคนละขั้ว เรื่องราวของซัลมาน ข่านให้ข้อคิดที่ว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จ บางครั้งก็ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากเงินเป็นที่ตั้ง แต่มาจากการรักในสิ่งที่ทำและความมั่งมั่นตั้งใจที่จะมอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม


ข้อมูล
www.entrepreneur.com/article/252255
https://hbr.org/2014/01/salman-khan

Cr. Khan Academy
TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook