มติครม.ให้ผู้ขาดส่งประกันสังคมกลับเป็นสมาชิกได้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังแม้ขาดส่งเป็นระยะเวลา 20 ปี กลับเข้าได้รับสิทธิเท่าเดิม
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน โดยให้ผู้ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เพราะไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินประกันสังคมมีโอกาสกลับเป็นผู้ประกันตนอีกได้ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนผู้เป็นหลักประกันตน
สำหรับ ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ที่อยู่ในประกันสังคม เมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากมีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดการเป็นผู้ประกัน
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่ขอต่ออายุขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือ ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะสิ้นสภาพทันที ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้สิ้นสภาพสูงถึง 950,000 ราย ทำให้กระทรวงแรงงานเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังแม้ขาดส่งเป็นระยะเวลา 20 ปี
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีทุพลภาพ กรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.แผนปฏิรูปปท.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบและทำการแก้ไขเพิ่มเติม โดยหลังจากนี้จะจัดส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ นั้น กำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศและด้านที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปประเทศ กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย และให้มีการประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ รวมไปถึงกำหนดหลักเกณฑ์การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เป็นต้น ขณะที่ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน นอกจากนี้ยังให้กำหนดกลไกการมีส่วนร่วมของประชา การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลด้วย