รู้ สู้ ศึก ! เจาะลึกตลาดความงาม 8 ประเทศอาเซียน

รู้ สู้ ศึก ! เจาะลึกตลาดความงาม 8 ประเทศอาเซียน

รู้ สู้ ศึก ! เจาะลึกตลาดความงาม 8 ประเทศอาเซียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข้อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าธุรกิจความงามเป็นหนึ่งในธุรกิจ ดาวรุ่งในปี 2560 และครองแชมป์ธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จึงไม่น่าแปลก ที่ธุรกิจความงามจะเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ ยิ่งได้เห็นมูลค่าของตลาดความงามในประเทศไทยที่มากถึง 250,000 ล้านบาท ที่ทำให้ธุรกิจความงามคึกคัก จนทำให้ผู้ประกอบการรายเก่าที่คุ้นเคย หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ต่างก็งัดกลยุทธ์สารพัดมาลงสนาม ประลองศึกความงามทั่วประเทศกันกว่า 1,800 ราย

ทุกสนามรบ ย่อมเต็มไปด้วยบาดแผล....เช่นเดียวกับธุรกิจความงามในประเทศไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด หนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการความงามไม่ต้องรบกันเอง คือ ต้องมองหาโอกาสทางตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างยอดขาย ขยายกลุ่มลูกค้า ซึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนการขนส่งแล้ว มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมในอาเซียนยังมากถึง 500,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

1.ฟิลิปปินส์ : Philippine - The Value Considerations

ฟิลิปปินส์ เป็นตลาดหนึ่งในอาเซียนที่น่าจับตามองโดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น จากอานิสงส์การค้าการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) 2016 เติบโตขึ้น 6.8% นอกจากนี้ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมความงามในฟิลิปินส์น่าจับตามอง คือ ฟิลิปปินส์มีประชากรถึง 98 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และ 61.5% ของประชากรฟิลิปปินส์ อายุน้อยกว่า 30 และ 40% อายุน้อยว่า 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผุ้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจความงามในอนาคต ที่สำคัญคือ ปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้าสินค้าความงามจากไทยกว่า 33% ซึ่งถือว่ามากเป็นลำดับที่ 1 ขณะที่นำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นลำดับที่ 2 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 21%

ชาวฟิลิปปินส์มีระบบคิดและวัฒนธรรมคล้ายชาวตะวันตก เพราะเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมานาน มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย เน้นความเรียบง่าย สะดวก เหมาะสมกับรายได้ ชาวฟิลิปปินส์มักมองหาแบรนด์ที่ควบรวมหลากคุณสมบัติการบำรุงในหนึ่งเดียว เพราะหมายถึงคุ้มค่าที่จะจ่าย ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าความงามที่ช่วยลดเลือนริ้วรอย ขาวกระจ่างใส และป้องกันแสงแดดในหลอดเดียว โดยนิยามความงามของชาวฟิลิปปินส์นั้น ต้องยิ้มสวย ผิวพรรณสะอาดหมดจด รูปร่างสวยงามสมส่วน และมีผิวขาว กระจ่างใส ซึ่งหากใครมีคุณสมบัติความงามเหล่านี้จะได้รับโอกาสมากกว่าในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดความงามในฟิลิปปินส์ เติบโต 4.2% และมีมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านเหรียญ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Shower and Hair Care ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ โซเซียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามในฟิลิปินส์ เป็นช่องทางสำคัญสำหรับใช้สื่อสารเพื่อสร้างแบรนด์ให้ดูน่าเชื่อถือและแตกต่างจากตลาดล่าง


2.เมียนมา : Myanmar - Plenty of Potential

ตลาดความงามของเมียนมาเติบโตอย่างต่อเนื่องและอนาคตสดใส ด้วยจำนวนประชากร 53 ล้านคน และการผ่อนปรนจากการคว่ำบาตรของอเมริกาและยุโรป ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัว ซึ่งคาดการณ์ว่าชนชั้นกลางของเมียนมาจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2020 ประกอบกับรัฐบาลยังเพิ่มเงินเดือนข้าราชการอีก 50%เพื่อให้ข้าราชการที่มีอยู่ 1.5 ล้านคนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงในปัจจุบันประชากรเมียนมากว่าครึ่งอายุน้อยกว่า 30 ปี แน่นอนว่าปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มความงามและ Personal Care โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะชาวเมียนมาคุ้นเคยกับสินค้าความงามจากยูนิลิเวอร์ และค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจีนแม้ราคาของสินค้าไทยจะสูงกว่าก็ตาม และที่สำคัญในปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดในเมียนมาทำแบรนด์เครื่องสำอางของตน มีเพียง ทานาคา เป็นของที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นที่นิยมกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะคุณสมบัติในการบำรุงผิวและป้องกันแสงแดด

ตลาดความงามในเมียนมามีศักยภาพมาก มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 318 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 14% ต่อปี หรือ โดยยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมขยายตัว 97.5% รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 70.25% ส่วนกลุ่มดูแลและบำรุงผิวกายเติบโต 63% นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีรายได้ระดับกลางและระดับสูงในเมียนมา นิยมเลือกใช้บริการสถานเสริมความงามและบริการทางการแพทย์ในไทยและสิงคโปร์ โดยอัตราการใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 150,000-200,000 บาท/ครั้งอีกด้วย

สำหรับการทำการตลาดในเมียนมานั้น แนะนำว่าควรหาพันธมิตรทางธุรกิจในเมียนมาให้ได้ก่อน หรือการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายผู้ไทยอาจเริ่มจากเข้าไปค้าขายตามชายแดนก่อน หรือ ออกงานแสดงสินค้าที่เมียนมา โดยสินค้าที่ขายควรลงรายละเอียดสินค้าอย่าง เช่น ฉลาก วิธีใช้ ต่างๆ เป็นภาษาเมียนมา ส่วนสื่อประชาสัมพันธ์ที่ชาวเมียนมา เข้าถึงมากกว่า 94 % คือ ทีวี และชาวเมียนมากว่า 48% ยังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเพราะโฆษณาทีวี ซึ่งค่าโฆษณาทีวีช่วงไพรม์ไทม์ มีราคาประมาณ 48,000 บาท ต่อ 30 วินาทีเท่านั้น ขณะที่โฆษณานิตยสารราคาประมาณ 5,000 - 10,000 บาท ขณะที่สื่อออนไลน์จะเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงเช่นกัน เพราะชาวเมียนมาเล่นเฟซบุ๊กถึง 62.6% ตามมาด้วยไลน์และยูทูบ คิดเป็นสัดส่วน 21% และ 18% ตามลำดับ

3.กัมพูชา: Cambodia - Import Over-Reliant

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปลงทุนสูงขึ้นทุกปี กัมพูชาจึงเป็นตลาดที่กำลังพัฒนาที่น่าจับตา แม้ในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก การตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งจะเน้นพิจารณาจากประโยชน์ของ สินค้าและราคาเป็นสำคัญ แต่ก็กำลังขยับฐานะสู่ชนชั้นกลาง แนวโน้มความนิยมสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็น สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน มักเป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สกินแคร์ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ล้วนนำเข้าจากประเทศไทย โดยยอดการนำเข้าในปี 2014 คือ 12.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่นำเข้าจากไทยเพียง 4.16 ล้านบาท โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าความงามจากต่างประเทศได้ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา คือ กัมพูชาไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากไทยและเวียดนาม ตลาดความงามกัมพูชาจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทย

กัมพูชามีประชากรโดยประมาณ 15 ล้านคน มีค่าเฉลี่ยของอายุอยู่ที่ 27 ปี ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในอาเซียน และ 74% ของประชากรนั้น อายุน้อยกว่า 34 ปี ตลาดความงามของกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างเป็นเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 2014 นั้น มีอัตราการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพิ่มขึ้นกว่า 400% ซึ่งปัจจับหลักที่หนุนให้คลาดความงามเติบโตอย่างมากนั้น นอกจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และรายได้ของคนกัมพูชาแล้ว คนกัมพูชามีความเชื่อว่ารูปลักษณ์ที่ดีนั้นสื่อถึงฐานะทางการเงินที่ดี ทำให้ประชากรส่วนมากหันมาใส่ใจสุขภาพและความงามของตนเองมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของศูนย์ธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม ผู้บริโภคชาวกัมพูชา พบว่า ชาวกัมพูชากว่า 60% ชอบออกกำลังกายตามสวยสาธารณะ, 39% ใช้สกินแคร์, 21% ต้องแต่งหน้าก่อนออกจากบ้าน ชาวกัมพูชาจะเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยและคิดว่าราคาเหมาะสม และถ้าให้เลือกระหว่างสินค้าของไทยและเวียดนามในราคาที่เท่ากันหรือแตกต่างกันไม่มากคนกัมพูชาจะเลือกสินค้าไทย

4.สปป.ลาว : Laos -Rising Demand for Beauty Product

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ลาวเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 29% มีการคาดการณ์ว่า GDP ลาวจะโตต่อเนื่อง 8% ตั้งแต่ปี 2013 จนถึง 2018 และรัฐบาลลาวเองก็ตั้งเป้าว่า สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางภายในปี 2020 แม้ สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่มีประชากรไม่มากนัก แต่ประชากรส่วนใหญ่ในอยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) มีสัดส่วนร้อยร้อยละ 62 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตลาดเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณและเสริมความงาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดด แป้งฝุ่น และเครื่องสำอางค์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้า จากไทย จีน และเวียดนาม แต่ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้บริโภค ของกินของใช้ สินค้าที่ใช้กับร่างกายและมีผลต่อสุขภาพ ชาวลาวเชื่อถือ ในคุณภาพ ความปลอดภัย และนิยมสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจาก จีนและเวียดนาม

การคืบคลานเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน จะกระตุ้นให้เครื่องสำอางจากต่างประเทศ รวมถึงเครื่องสำอางของไทยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ และจากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ความชื่นชอบในสื่อโทรทัศน์วิทยุและดารานักแสดงไทย จึงถือเป็นโอกาสให้เครื่องสำอางแบรนด์ไทยสามารถเข้าถึงประชากรลาวได้มากขึ้น โดยสินค้าเครื่องสำอางของไทยสามารถกระจายเข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท และตลาดกลางแจ้ง รวมถึงร้านขายของชำซึ่งตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันการส่งออกเครื่องสำอางของไทยยังได้อานิสงส์จากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในชุมชนเมือง ซึ่งช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าความงามเพิ่มขึ้น

5.เวียดนาม : Vietnam - Up From a Low Base

เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว GDP เพิ่มขึ้น 6.2 % ในปี 2016 เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนี้ส่งผลให้ความต้องการด้านความสวยความงามของชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย จะเห็นได้จากยอดขายเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2015 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และเติบโตขึ้นอีก 4% ในปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดความงามในเวียดนามเติบโต คือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรในเวียดนาม การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้านค้าออนไลน์ ประชาชนในเขตชนบทซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และ จำนวนประชากรกว่า20 ล้านคน หรือ 40 % ในเวียดนามเป็นผู้หญิง อายุ 15-29 ปี

รสนิยมการบริโภคของชาวเวียดนามเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมความทันสมัย ชื่นชอบสินค้าแฟชั่น สินค้าไอที คนเมืองวัยแรงงานและวัยรุ่นมีความอ่อนไหวต่อกระแสความนิยมในตลาดโลกมากขึ้น ผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสนใจสินค้าความงามที่มาจากธรรมชาติ 100% แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ ทำให้ผู้หญิงจากเวียดนามทางใต้ จะมีกำลังซื้อมากกว่าผู้หญิงจากเวียดนามเหนือเล็กน้อย โดยสินค้าความงามที่ได้รับความนิยมคือ โฟมล้างหน้า ครีมกันแดด และ ลิปบาล์ม

กว่า 90% ของตลาดความงามในเวียดนามถูกครอบครองโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยแบ่งเป็น เกาหลี 30%, ยุโรป 23%, ญี่ปุ่น 17%, ไทย 13%, อเมริกา 10% และอื่นๆ 7 % ชาวเวียดนามคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของเกาหลี และมักมองว่าแบรนด์เกาหลีเป็นแบรนด์ของวัยรุ่น ราคาจับต้องได้ และอินเทรนด์กับแฟชั่น และมักมองสินค้าจากอเมริกาว่าราคาแพง คุณภาพดี และเป็นแบรนด์สำหรับผู้ใหญ่ ขณะที่แบรนด์จากญี่ปุ่นเป็นแบรนด์คุณภาพดี และคุ้มค่า ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยม เช่น Saigon Thorakao Lanhao แต่แบรนด์เหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างยอดขายในเวียดนามได้มากนัก ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า

แม้ตลาดเวียดนามจะเติบโตต่อเนื่องแต่หากเทียบมูลค่าตลาดความงามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและฟิลิปินส์แล้ว ยังถือว่ามีขนาดเล็กว่าและตามหลังค่อนข้างมาก ปัจจัยหนึ่งเพราะเครื่องสำอางค์ ยังได้รับความนิยมไม่แพร่หลายนัก เพราะจากผลสำรวจพบว่ามี 44% ของผู้หญิงเวียดนามใช้เครื่องสำอางเป็นประจำ และเพียง 24% ของผู้หญิงเวียดนามเท่านั้นที่นิยมแต่งหน้าทุกวัน ทำให้เห็นได้ว่า การแต่งหน้ายังไม่เป็นที่นิยมของสาวชาวเวียดนามมากนัก แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดความงามของเวียดนามก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ผ่านการจัดจำหน่ายออนไลน์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาเก็ต และร้านค้าปลีกที่จำหน่ายเครื่องสำอางค์โดยเฉพาะก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน

6.อินโดนีเซีย : Indonesia - Coming of Men's Grooming

ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ มีจำนวนประชากรกว่า 250 ล้านคน ถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ประกอบกับเทรนด์ความงามที่เสริมให้ผู้บริโภคอยากมีผิวขาวกระจ่างใส ไร้จุดด่างดำ กลายมาเป็นความงามในอุดมคติของชาวอินโดนีเซีย ทำให้ ปัจจุบันมูลค่าตลาดความงามของอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญโดยประมาณ และมีการคาดการจากยูโรมอนิเตอร์ว่า ตลาดความงามของอินโดนีเซียจะเติบโตต่อเนื่อง 17% ต่อปี

ปัญหาสำคัญของตลาดความงามในอินโดนีเซียนคือ โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ อย่างระบบขนส่ง และการเดินทางที่ค่อนข้างยากลำบาก รวมถึงร้านค้าปลีกที่ช่วยกระจายสินค้ามีจำกัด อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับการแก้ไขและพัฒนาขึ้นหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ธุรกิจความงามเติบโตขึ้น ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมริ์ซที่ อินโดนีเซียเป็นตลาดอีคอมเมริซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่าตลาดมากถึง 1.1 พันล้านเหรียญ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Nielsen ที่พบว่ายอดขายเครื่องสำอางในตัวเมืองของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 9.4 % ขณะที่ยอดขายในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นถึง 27.5 % โดยตลาดต่างจังหวัด จะเน้นขายสินค้าในกลุ่มสกินแคร์พื้นฐาน และเครื่องสำอางที่ติดทน ขณะที่การทำตลาดในเมืองของอินโดนีเซีย เน้นเสนอขายสินค้าไฮเอนด์เป็นหลัก

เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้สินค้าฮาลาล เป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตอย่างน่าจับตามอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Men Grooming ก็เติบโตเช่นกัน โดยสินค้าความงามของผู้ชายที่ได้รับความนิยมได้แก่ โฟมล้างหน้า ครีมบำรุง และลดเลือนริ้วรอยโดย ลอรีอัล อินโดนีเซีย มียอดขายสินค้าเพื่อผู้ชายมากขึ้น 300% และยอดขายโดยรวมก็เติบโต 30 % ทุกปีเช่นกัน

7.มาเลเซีย : Malaysia - Image Conscious

จำนวนประชากร 30 ล้านคน เป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มาเลเซียมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ กลุ่มหลักๆ คือ ชาวมาเลย์ ชาวจีน และชาวอินเดีย รสนิยมจึงแบ่งย่อยตามกลุ่มเชื้อชาติด้วย แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตก มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น นิยมสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น กลุ่มวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มีการใช้จ่ายสินค้าไอทีสูงกว่าด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ คนมาเลเซียมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและสนใจเรื่องข้อมูลข่าวสาร

ตลาดความงามในมาเลเซียมีมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญ และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.7% ต่อปี มาเลเซียเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดความงามฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในมาเลเซีย คือ เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า แต่งตา และลิปสติก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงมาเลเซียที่ต้องการสร้างความมั่นใจ และใส่ใจในภาพลักษณ์ของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์ความงามที่โดนเด่นในมาเลเซีย คือ Sulwhasoo ของเกาหลี และ แบรนด์ที่ได้มาตราฐานฮาลาล อย่าง Crystal Dia จากเกาหลีเช่นกัน ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยจะมองหาแบรนด์ทางเลือกที่ราคาย่อมเยาว์ลงมา แต่ยังคงสีสันและคุณภาพใกล้เคียงแบรนด์ชั้นนำ เช่น แบรนด์ Silky Girl ของมาเลเซีย ที่ผลิตลิปสติกเนื้อแมทที่มีสีและคุณสมบัติคล้ายแบรนด์ชื่อดังจากอเมริกา วางจำหน่ายในมาเลเซีย และส่งออกไปยัง สิงคโปร์ บรูไน และ อินโดนีเซียด้วย ถึงแม้สตรีทแบรนด์อย่าง Silky Girl, Maybelline และ Revlon จะเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการตอบรับอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามชาวมาเลเซียยังมองหาความพรีเมี่ยมจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อย่าง MAC BOBBI BROWN ซึ่งยอดขายยังขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน

8.สิงคโปร์ - Only The Best

ตลาดความงามของสิงคโปร์จะเติบโตต่อเนื่องทุกปีจนมีมูลค่าถึง 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,840 ล้านบาทภายในปี 2020 ถือว่าเติบโตเต็มที่มากที่สุดในอาเซียน อัตราการเติบโตจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 2.5 % ต่อปี คนสิงคโปร์ชอบดำเนินชีวิตอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ ชอบความเป็นระบบ มีการศึกษาดี มีรายได้สูง จึงมีกาลังซื้อค่อนข้างสูงไปด้วย นิยมสินค้าแบรนด์ เนม ได้รับอิทธิพลเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจากตะวันตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น สนใจติดตามกระแส นิยมและแฟชั่นในตลาดโลกมาก กระแสนิยมในโลกมีผลต่อการ ตัดสินใจซื้อสินค้าสูง ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพค่อนข้างมาก นิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย สินค้าความงามจากธรรมชาติและออร์แกนิกส์ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้มีรายได้และมีระดับการศึกษา สูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิคมากขึ้น ผู้หญิงสิงคโปร์มีความ เป็นวัตถุนิยม และให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก

เนื่องจากสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างสูง ทำให้สินค้าความงามที่ได้รับความนิยมมักเป็นสินค้าที่ราคาสูง มีส่วนประกอบชั้นเยี่ยมที่มีราคาแพงเป็นส่วนผสม และมีแพคเกจจิ้งที่สวยงาม ผลิตภัณฑ์ความงามที่ได้รับความนิยมจึงเป็นเครื่องสำอางที่ให้สีสันอย่าง อายแชร์โดว์ ลิปสติก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และน้ำหอม กลุมผลิตภัณฑ์ที่เติบโตคือ ครีมลดเลือนจุดด่างดำ และกลุ่มเครื่องสำอางอย่างลิปสติก อายแชร์โดว์ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Cosmeceutical ก็เติบโต และได้รับความนิยมเช่นกัน แบรนด์ผู้นำตลาดความงามสิงคโปร์คือ แบรนด์ชั้นนำอย่าง ลอรีอัล และแบรนด์จากเกาหลี


ที่กลายเป็นส่วนหลักที่ผลักดันตลาดเครื่องสำอางของสิงคโปร์ให้เติบโต และได้รับการยอมรับรับในวงกว้าง และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของสิงคโปร์เองก็เติบโตต่อเนื่อง แบรนด์เครื่องสำอางหลายแบรนด์ มองหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นร้านออนไลน์ เพื่อสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้น


อนุชนา วิชเวช
ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ
บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook