ต้องรู้ก่อนเป็นเหยื่อ ! ผ่า ธุรกิจแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่
กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง กับกรณีฉ้อโกง ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และ มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาล ครั้งนี้ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ น.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ ซินแสโชกุน ซึ่งกำลังถูกจับกุมดำเนินคดี ข้อหา ฉ้อโกง ซึ่ง มีเหตุการณ์ถูกจับกุมในครั้งนี้ มาจากกรณีโด่งดัง ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่นถูกลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 3,000 คน เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมานี้เอง ทั้งนี้ในทางคดีจะดำเนินต่อไปอย่างไรและจบอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป
วันนี้อยากนำความรู้ในเรื่อง การดำเนินธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ มานำเสนอเพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับอนาคตต่อไป หากมีใครมาชักชวนลงทุนหรือซื้อสินค้า หรือ บริการ ที่น่าสงสัยเหล่านี้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อกันอีก
ทุกวันนี้การฉ้อโกงในลักษณะแชร์ลูกโซ่มีความซับซ้อนขึ้น เนื่องจากมีการนำรูปแบบของธุรกิจการค้าขายตรง ที่มีการทำการตลาดขายตรงแบบเครือข่ายมาปรับใช้ หรือที่ทางการเรียกว่า “ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่” ทำให้แต่ละครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมูลค่ามหาศาล
ทั้งนี้ทั้งนั้น มีข้อสังเกตโดยทั่วไปสำหรับธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ กับ ธุรกิจขายตรงถูกกฎหมายทั่วไปก็คือ
1 จะเน้น ชักชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมเป็นเครือข่าย และสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนจากการชักจูงผู้อื่นให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายด้วย โดยไม่ได้สนใจที่จะจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ไปสู่ผู้บริโภคแต่อย่างใด แต่จะเอาสินค้าหรือบริการมาใช้บังหน้าในการประกอบธุรกิจเท่านั้น
2 จะมีการโฆษณาชวนเชื่อและอวดอ้างสรรพคุณสินค้า จนเกินจริงและมีการแอบอ้างบุคคลสำคัญ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจนทำให้เกิดความน่าสนใจในการที่จะเข้ามาลงทุนด้วย
3 ผลตอบแทนจากธุรกิจประเภทดังกล่าวมาจากการหาสมาชิกมาเข้าร่วมลงทุนเพิ่ม ไม่ได้มาจากการจำหน่าย สินค้าหรือบริการแต่อย่างใด
4 จะมีการเก็บค่าสมัครสมาชิกค่อนข้างสูง และจะมีการให้ซื้อสินค้า ที่มีคุณภาพต่ำ
5 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ มีแม่ทีมในการออกหาสมาชิกเพิ่ม
เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างการขายตรงที่ถูกกฎหมายกับธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่
1. ค่าธรรมเนียมในการสมัคร
- ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมาย ค่าธรรมเนียมในการเริ่มต้นธุรกิจมีอัตราไม่สูงมาก เป็นค่าสมัคร
จ่ายเพื่อเอกสารคู่มือ ความรู้ เอกสารอบรมและผลิตภัณฑ์ตัวอย่างสินค้าเท่านั้น
- ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ ค่าธรรมเนียมในการสมัครสูง ผู้สมัครจะถูกหลอกให้จ่าย
ค่าฝึกอบรมและซื้อสินค้าเกินความต้องการซึ่งอาจมาในรูปสินค้าเป็นส่วนใหญ่ และรายได้ของผู้ที่อยู่ในระบบและผลกำไรของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการรับสมาชิกใหม่
2. สินค้าและบริการ
- ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมาย สินค้าจะมีคุณภาพสูง ยอดขายจะมาจากการจำหน่ายสินค้า
และจะเน้นที่ความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ และจะมีการรับประกันสินค้าโดยการคืนเงิน และจะมีการเปลี่ยนสินค้าหรือขายสินค้าคืนบริษัทได้
- ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ ไม่มีการรับรองเรื่องคุณภาพสินค้า และไม่มีการสนใจ
ในการขายและไม่มีนโยบายซื้อสินค้ากลับคืนเพราะอาจทำให้ระบบแชร์ลูกโซ่ล้มได้
3. การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน
- ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมาย การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจะขึ้นอยู่กับการทำงานของคนขาย และยอดขาย ซึ่งหมายถึงรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนมาจากการขายสินค้า
- ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนมาจากการหาสมาชิกใหม่
4.ความก้าวหน้าของธุรกิจ
- ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมายมีโอกาสเติบโตได้เสมอ เนื่องผู้บริโภคจะมีการซื้อสินค้าซ้ำเพราะ พอใจในสินค้า บริษัทจึงสามารถออกสินค้าใหม่เพื่อขยายตลาดได้
- ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ โอกาสที่ธุรกิจจะล้มมีค่อนข้างสูง เพราะเมื่อดำเนินการ ไประยะหนึ่งจะไม่มีสมาชิกเข้าร่วมลงทุน ส่งผลให้ไม่มีเงินจ่ายหมุนเวียนในระบบธุรกิจและระบบปิระมิดจะล้มในที่สุด
5. การได้ความคุ้มครองทางกฎหมาย
- ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมาย ผู้บริโภค ผู้ขาย และบริษัทขายตรงจะได้รับความคุ้มครองตาม กฎหมาย (พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545) ซึ่งผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจขายตรงจะต้องขอจดทะเบียน ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นระบบที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย
ประเภทของธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่
1. ประเภทแรก คือ บริษัทที่มองเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ แม้ว่าจะมีสินค้าอุปโลกน์ขึ้นมา แต่ลักษณะการแนะนำคนเข้ามาสมัครจะระบุอย่างชัดเจนว่า จะได้ส่วนแบ่งจากการหาสมาชิก ซึ่งลักษณะแบบนี้ จะสังเกตได้ง่าย เช่น สินค้าไม่มีคุณภาพ สถานที่และเอกสารต่างๆ ไม่มีมาตรฐาน หากจะมองกันไปที่กระบวนการ ทำตลาดแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ได้นำเสนอสินค้ามากนัก ไม่ได้สาธิตสินค้ากันอย่างจริงจัง มีสินค้าอยู่ไม่กี่รายการ นอกจากไม่ได้พูดถึงตัวสินค้าอย่างจริงจังแล้ว ยังเน้นการนำเสนอแผนการตลาดเป็นการล่าหัวคิว โดยเน้นรายได้กันเป็นสัปดาห์หรือเป็นรายวัน และยังไม่มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพสมาชิกในการทำตลาดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน
2. ประเภทที่สอง คือ บริษัทประกอบธุรกิจขายตรงในระบบหลายชั้นที่ถูกกฎหมาย มีการสร้างบริษัท ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะแตกต่างจากประเภทแรกทั้งในเรื่องของสถานที่ หรือเอกสารหลักฐานจะมีครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งดูผิวเผินภายนอกแล้วมีความน่าเชื่อถือมาก แม้แต่ผู้บริหาร ที่ปรึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างล้วนดูมีคุณภาพทั้งสิ้น และบริษัทยังมีแผนการตลาดที่ดึงดูดใจคน โดยจะมีแผนการตลาด 2 แบบ ให้สามารถทำแบบที่ถูกกฎหมาย ก็ได้ หรือเป็นการล่าหัวคิวเต็มตัวก็ได้
ในปัจจุบันมีบริษัทหลายบริษัทที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนการตลาดที่ถูกกฎหมายได้ตามยอด จึงเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมแผนการตลาดลักษณะแชร์ลูกโซ่โดยเปิดซ้อนขึ้นมาอีกแผนหนึ่ง ซึ่งหากผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องธุรกิจขายตรงเป็นอย่างดีก็มีโอกาสที่จะถูกหลอกจนหมดเนื้อหมดตัวได้
สินค้าและบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่นิยมใช้ในการหลอกลวง
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น สาหร่าย เห็ดหลินจือ น้ำลูกยอ เป็นต้น
- สมุนไพร เช่น โสมเกาหลี
- อัญมณี เช่น เพชร พลอย เครื่องประดับ
- สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น กาแฟโสม
- สินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี เป็นต้น
- การบริการ เช่น การจัดสรรวันพักผ่อน บริการจัดคอร์สการศึกษา เป็นต้น