เรียนรู้ธุรกิจจากปรากฏการณ์ "นมอัดเม็ด-ไมโลก้อน"

เรียนรู้ธุรกิจจากปรากฏการณ์ "นมอัดเม็ด-ไมโลก้อน"

เรียนรู้ธุรกิจจากปรากฏการณ์ "นมอัดเม็ด-ไมโลก้อน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พูดถึงสินค้าที่ฮอตฮิตที่สุดในเวลานี้ คงไม่มีใครเกิน “ไมโลก้อน” หรือ Milo Energy Cube ถึงขนาดมีการปั่นราคาจากหลักร้อยต้นๆ กลายเป็นเกือบถึงหลักพัน ซึ่งที่มาความนิยมของไมโลก้อนนั้น เป็นเพราะยังไม่มีการนำเข้ามาขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีเพียงรายเล็กๆ ที่หิ้วเข้ามา


จากความแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงทำให้มีการอยากลอง และเมื่อมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกลายเป็นกระแสขึ้นมา ซึ่งก็มีเสียงแว่วมาว่าประเทศมาเลเซียเองที่มีการจำหน่ายไมโลก้อนนี้อยู่นั้น ยอดการสั่งผลิตแทบจะไม่ทันกับการซื้อ ซึ่งความจริงแล้วไมโลก้อนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไนจีเรีย แต่มีการนำเข้ามาจำหน่ายยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

และหากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนนมอัดเม็ดสวนดุสิตก็ประสบกับสถานการณ์เช่นเดียวกัน จากลูกค้าทัวร์จีนที่เข้ามาท่องเที่ยวอยู่ในเมืองไทย เมื่อได้ลิ้มลองรสชาติจึงติดใจและขนกลับบ้านไปเป็นของฝาก จนทำให้ช่วงหนึ่งเกือบขาดตลาด สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะนมอัดเม็ดสวนดุสิตผลิตจากนมผงที่เป็นนมวัวแท้ ไม่ผสมสารแต่งกลิ่นแต่งสี จึงทำให้รสชาติหวานมันอร่อยกว่า นมอัดเม็ดทั่วไปที่ใช้หางนม

ฟังเรื่องราวของสินค้าทั้งสองตัวแล้วก็พาลให้คิดว่า หากวันหนึ่งธุรกิจเราต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้บ้าง จะต้องรับมืออย่างไร ฟังดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่หากเตรียมตัวมาไม่ดี จากรุ่งก็อาจกลายเป็นร่วงได้เหมือนกัน ฉะนั้นควรเตรียมรับมือไว้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกัน


ค้นหาจุดสูงสุดของกำลังการผลิต

ก่อนตัดสินใจเปิดตัวสินค้าใดออกไป เราควรประเมินศักยภาพกำลังการผลิตไว้ตั้งแต่ต้นว่าเราสามารถผลิตสินค้าได้ประมาณวันละเท่าไหร่ และหากสูงที่สุดหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะสามารถทำได้ที่เท่าไหร่ ต้องใช้วิธีการเตรียมการอย่างไร เพื่อให้สามารถเพิ่มการผลิตได้ ศึกษาไว้เป็นข้อมูลเก็บไว้ เพื่อวันหนึ่งที่อาจฉุกละหุกจะได้ตั้งรับได้ทัน ซึ่งการกำลังการผลิตที่ว่านั้นหมายถึงองค์ประกอบทุกอย่างที่ใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ แรงงานคน ประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมไปถึงรายละเอียดเสริมเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้หีบห่อ ศักยภาพการขนส่ง และที่สำคัญ คือ เงินทุนหมุนเวียน

วางแผนการขายและกำลังการผลิตให้สอดคล้องกัน

ในการทำธุรกิจแน่นอน ใครๆ ก็อยากขายสินค้าหรือบริการ ยิ่งขายดี ก็ยิ่งอยากทำออกมาขายเยอะๆ อีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าแผนการขายหรือการทำตลาดออกไป ควรทำให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่สามารถรับได้จริงด้วย เพราะหากสินค้าได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นมา แต่ไม่สามารถผลิตออกมาได้ทันตามความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค มีความล่าช้ามากกว่าปกติ จากผลดีอาจกลายเป็นผลร้ายได้

ค่อยๆ เรียงลำดับความสำคัญ

แม้จะเตรียมวางแผนมาไว้อย่างดี แต่บางทีโอกาสก็มักจะมาแบบไม่ให้เราได้ทันตั้งตัว ฉะนั้นหากขายดีจริงๆ แต่ไม่สามารถผลิตได้ทัน อาจลองใช้วิธีให้สั่งจองไว้ล่วงหน้า พร้อมเงินมัดจำ กำหนดระยะเวลาการผลิตที่แน่นอน เรียงลำดับเป็นคิวๆ ไปก็น่าจะพอช่วยได้ แต่หากคิดว่าได้ทำทุกอย่างเต็มกำลังสุดความสามารถแล้ว ก็ยังไม่สามารถผลิตให้ได้ทัน ควรรีบแจ้งกับลูกค้าได้ทราบ เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน หรือหากไม่สามารถรอได้ จะได้ไม่เป็นการทำให้ลูกค้าเสียเวลารอ ดีกว่ารับปากไว้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายทำไม่ได้ เพราะเมื่อเทียบกับยอดขายที่อาจหายไปแล้ว น่าจะคุ้มกว่าการเสียชื่อเสียงหรือความไว้วางใจระยะยาว

อย่าเร่งผลิตมากจนเกินไป จนสินค้าล้นสต๊อก

เมื่อเห็นว่าสินค้าขายดี ควรรอดูเวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อหาความน่าจะเป็นจากความต้องการที่แท้จริง หรือค่อยๆ เพิ่มการผลิตขึ้นทีละนิดๆ เพราะถึงแม้จะขายดียังไง แต่วันหนึ่งยอดขายก็ต้องลดน้อยลงมากกว่าช่วงแรกอยู่ดี อยู่ที่ว่าจะลดลงมาเหลือเท่าไหร่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จากสินค้าขายดี อาจกลายเป็นสินค้าค้างสต๊อกจำนวนมากก็เป็นไปได้

ตั้งสติ เลือกทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด

ในการทำธุรกิจ โอกาสอาจเป็นสิ่งสำคัญที่ใครหลายคนอยากได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราต้องการจะเลือกสิ่งใดมากกว่า เพราะถึงแม้เราจะทำตามโอกาสที่เข้ามาได้ แต่หากต้องแลกกับหลายสิ่งที่ลองเอามาชั่งน้ำหนักดูแล้ว กลับเสียมากกว่าได้ ทั้งคุณภาพ หรือการโหมงานที่หนักเกินไป การเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ ไปก่อน ทำตามแผนที่ได้วางไว้ เตรียมตัวให้พร้อม และค่อยเริ่มต้นใหม่ก็ได้ หากเราเชื่อมั่นและคิดว่าทำดีแล้ว ยังไงก็ต้องดี เราอาจไม่ได้ยอดขายถล่มทลาย แต่อาจกลายเป็นที่จดจำ กล่าวขวัญไปในระยะยาว


Text : นิตยา สุเรียมมา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook