ประมงไทยป่วนหนัก! สั่งเรือ 1.2 หมื่นลำวัดขนาดใหม่ สหรัฐฯจ่อแบน12รายการ

ประมงไทยป่วนหนัก! สั่งเรือ 1.2 หมื่นลำวัดขนาดใหม่ สหรัฐฯจ่อแบน12รายการ

ประมงไทยป่วนหนัก! สั่งเรือ 1.2 หมื่นลำวัดขนาดใหม่ สหรัฐฯจ่อแบน12รายการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุตสาหกรรมประมงไทยวุ่น หลังปลดใบเหลืองอียูยังไม่สำเร็จ-มกอช.ส่งสัญญาณมะกันเตรียมประกาศแบนนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย 12 ชนิด ดีเดย์ปี 61ด้านประมงพาณิชย์ เรียงคิวกว่า 1 หมื่นลำ วัดขนาดเรือใหม่ กลุ่มเรือดัดแปลง ผวาถูกหั่นวันหยุดเพิ่ม

การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย นับวันยิ่งทวีความเข้มข้นทุกขณะ ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 (วันที่ 4 เม.ย.60) สั่งการให้ กรมเจ้าท่า ร่วมกับกรมประมง และ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจเรือและวัดขนาดเรือทั้งหมดใหม่ให้กับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป พร้อมทั้งตอกอัตลักษณ์เรือประมงพาณิชย์ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น ทั้งที่มีและไม่มีทะเบียนเรือใบอนุญาตใช้เรือ หรือใบอนุญาตทำการประมง ให้นำเรือเข้ามาตรวจสอบภายในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการบริหารจัดการกองเรือประมงของไทย


นายธงชัย พงษ์วิชัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ มีเรือเป้าหมายจำนวน 1.2 หมื่นลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ที่มีทะเบียนเรือและมีใบอนุญาตทำการประมง จำนวน 1.09 หมื่นลำ เรือที่มีทะเบียนแต่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง 579 ลำ เรือที่ไม่มีทะเบียนเรือและไม่มีใบอนุญาตทำการประมง 235 ลำ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ 239 ลำ คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมด 24 วันทำการ


"ปัจจุบันเรือพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะเห็นมีการต่อเติมทำให้ขนาดของเรือไม่ตรงกับหนังสือประจำเรือ หรือบางรายก็มีการสวมเรือที่ไม่มีทะเบียน นำไปออกทำการประมงสลับกับเรือที่มีใบอนุญาต สำหรับโทษของเรือที่ไม่นำไปตรวจวัดขนาดและประทับตราในวันเวลาที่กำหนด คือ ปรับตันกรอสละ 1,000 บาท ยึดทะเบียน 10 ปี และยึดทะเบียนตลอดชีพ"


สอดคล้องกับนาย ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การวัดตรวจขนาดเรือใหม่ในครั้งนี้เป็นผลจากมีเรือประมงเกือบ 2,000 รายไม่สามารถออกไปทำการประมงได้มาร้องเรียน เพราะสภาพเรือไม่ตรงกับใบอนุญาตจากการดัดแปลงขนาดเรือ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง เรื่องนี้หากเรือลำใดมีการแจ้งผิดพลาดตามที่ได้แจ้งไว้ก่อนหน้าไม่เกิน 10% ก็สามารถออกทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนเรือที่มีการดัดแปลงเกิน 10% ให้หยุดทำการประมงก่อน เพื่อรอผลสรุปว่าจะมีมาตรการอย่างไร ส่วนการประเมินผลปลดใบเหลืองจากอียูยังไม่มีสัญญาณว่าเมื่อไร


นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า เรือที่มีการต่อเติมหรือดัดแปลงใหม่ ทางกรมประมงได้มีการหารือเบื้องต้นว่า เรือกลุ่มนี้อาจจะมีมาตรการกำหนดจับปลาเป็นโควตา และการลดวันหยุดจับปลาเป็นรายลำ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน


แหล่งข่าวจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐอเมริกา ได้มีการประกาศกฎหมาย Seafood Import Monitoring Program กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าประมงไปยังสหรัฐฯ ต้องรายงานข้อมูล และจัดเก็บบันทึกข้อมูลการนำเข้าสินค้าประมงสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการประมงที่ผิดกฎหมาย 12 ชนิด ได้แก่ เป๋าฮื้อ ปลาแอตแลนติกคอด ปลาอีโต้มอญ ปลาเก๋า ปูคิงแครบ ปลาแปซิฟิกคอด ปลากระพงแดง ปลิงทะเล ปลาฉลาม กุ้ง ปลาดาบ และปลาทูน่า โดยในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าประมงในกลุ่มดังกล่าว ยกเว้นกุ้งและเป๋าฮื้อที่จะประกาศวันบังคับใช้ภายหลังกำหนดข้อปฏิบัติการเก็บบันทึกข้อมูลการผลิตกุ้งเลี้ยงในสหรัฐฯ แล้ว

www.thansettakij.com ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 – 26 เม.ย.พ.ศ. 2560 สื่อในเครือสปริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook