ย้อนรอยคดีดัง แชร์พันล้าน! ในอดีต
ข่าวขบวนการหลอกลวงฉ้อโกง ตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ มาจนถึงสิ้นเดือนเมษาหน้าร้อนยังไม่หมดหาย ไปแถมยังผุดขึ้นมาหลายกรณี ล่าสุด กรณีที่ดูกำลังได้รับความสนใจก็เป็นเรื่อง กรณี ลวงให้ลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ ลอตเตอรี่ โดยอ้างว่าได้โควตาพิเศษจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเป็นพันล้าน และ ผู้เสียหายจำนวนมาก
ปัญหาถูกหลอกลวง ฉ้อโกงในลักษณะต่างๆ ในสังคมไทยมีมาตลอด ในรูปแบบต่างๆ ในอดีต ในยุคที่การสื่อสารยังไม่มีอินเตอร์เน็ต การเชื่อมโยงเครือข่ายบนโลกโซเชียลยังไม่มี อาศัยการบอกเล่าปากต่อปาก ยังเกิดความเสียหลายในระดับพันล้านได้หลายครั้งหลายคราว นับเป็นจุดอ่อนของมนุษย์อย่างหนึ่งที่มีความต้องการผลประโยชน์สูงๆโดยไม่ทันคิดให้รอบครอบ ว่าความเป็นไปได้จริงๆ การลงทุนต่ำแต่กำไรสูงมาก ไม่มีทางเป็นไปได้ เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ในการร่วมลงทุน โดยไม่มีกฎหมาย หลักประกันใดๆ มารองรับ
วันนี้เรามาย้อนอดีต ย้อนรอยดูกรณีการฉ้อโกงในระดับหลายพันล้าน ผู้กะทำผิดถูกตัดสินลงโทษเป็นหมื่นเป็นแสนปี หรือมีทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หลบหนีคดีอยู่ก็มี บางคนหนี้ไปจนหมดอายุความของคดีก็มี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบทเรียน ที่ไม่มีวันจบสิ้น ตราบที่ผู้คนยังไม่ตระหนัก และใช้สติ ในการเลือกลงทุนให้ดีพอ หรือ มองเห็นแต่ประโยชน์ โดยมีความโลภบังตา มาดูคดีดังในอดีตเป็นเป็นบทเรียนกันอีกครั้ง...
แชร์แม่ชม้อย
แชร์แม่ชม้อย เป็น คดีดังมากในอดีต ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2520-2528 โดยการระดมเงินจากประชาชนในรูปการเล่นแชร์น้ำมัน ซึ่งนางชม้อย ทิพย์โส ได้คิดค้นขึ้น มีผู้เสียหายจำนวน 13,248 คน รวมให้กู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 23,519 ครั้ง ทำสัญญากู้ยืมทั้งสิ้น 23,519 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,043,997,795 บาท
นางชม้อย ทิพย์โส จัดให้มีระดมเงินอ้างว่าไปลงทุนในธุรกิจน้ำมัน กำหนดวิธีการเล่นให้ลงเงินเป็นทุนในการซื้อรถขนน้ำมัน คันละ 1.6 แสนบาท ต่อมามีคนมาลงเงินจำนวนมาก ก็แยกขายเป็นครึ่งคัน หรือ เป็น ล้อ โดยจะได้รับผลตอบแทนทันทีใน 15 วัน ในอัตราเดือนละ 6.5 % หรือปีละ 78 % จึงมีคนสนใจนับหมื่น
แต่แท้จริงแล้ว นางชม้อยนำเงินจากผู้ลงทุนรายหลังมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนรายแรกๆ คล้ายงูกินหาง จนในที่สุดไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ เพราะไม่มีผู้เล่นเพิ่มเติม นำไปสู่การจับกุมข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่รัฐบาลสมัยนั้นออกมาเพื่อจัดการกับขบวนการแชร์ลูกโซ่โดยเฉพาะ มีผู้เสียหายกว่า 16,000 ราย เข้าแจ้งความเอาผิดกับนางชม้อยและพวก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4.5 พันล้านบาท ขณะที่นางชม้อยกับพวกถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี
แชร์ชาร์เตอร์
แชร์ชาร์เตอร์ ของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด ชักชวนให้คนนำเงินไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร ให้ผลตอบแทนถึงเดือนละ 9% สูงกว่าแชร์แม่ชม้อยถึง 2.5 % ทำให้มีคนแห่นำเงินมาลงทุน "ทำธุรกิจ" กับนายเอกยุทธจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นนายทหารกับนักการเมือง
วงแชร์นี้เติบโตสูงสุด เมื่อช่วงต้นปี 2527 แชร์แม่ชม้อยได้หยุดรับเงินชั่วคราว หลังถูกรัฐบาลเพิ่งเล็ง ทำให้มีเงินไหลเข้ามาที่แชร์ชาร์เตอร์จำนวนมาก แต่ก็คล้ายแชร์ลูกโซ่อื่น แรกๆ ก็สามารถจ่ายผลตอบแทนอันงดงามได้ แต่นานไปก็ใกล้ถึงทางตัน ต่อมากลางปี 2528 นายเอกยุทธหลบหนีออกนอกประเทศ หลังมีข่าวว่าจะถูกออกหมายจับคดีฉ้อโกง และกบฏ 9 กันยาทำให้วงแชร์สั่นคลอนอย่างรุนแรง ประกอบกับมีคดีที่นายทหารไปฟ้องร้องนายเอกยุทธ จากกรณีเช็คเด้ง ทำให้ลูกแชร์ชาร์เตอร์นับพันคนเข้าร้องเรียนกับกองปราบปราม
เขาเดินทางกลับไทยเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว และเสียชีวิตแล้วเนื่องจาก ถูกคนขับรถสังหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2556
แชร์เสมาฟ้าคราม
แชร์เสมาฟ้าคราม เป็นการลงทุนกับธุรกิจบ้านจัดสรร ของ พรชัย สิงหเสมานนท์
พรชัย เจ้าของหมู่บ้านเสมาฟ้าคราม โครงการบ้านจัดสรรราคาถูก 700 ยูนิต บนเนื้อที่ 320 ไร่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จัดระดมเงินทุนนอกระบบขึ้น หลังธนาคารระงับการให้สินเชื่อกับโครงการ
เขาออกหุ้นแชร์เสมาฟ้าครามขึ้น โดยจะจ่ายดอกเบี้ยอย่างสูงให้กับผู้ลงทุน ยืนยันว่าจะใช้เงินทุนคืนภายใน 5-6 เดือน ปรากฎว่ามีประชาชนแห่มาลงทุนหลายพันล้าน เพราะมองว่าไม่มีความเสี่ยง
สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ระบุไว้ในเฟซบุ๊กเพจว่า แชร์เสมาฟ้าครามโด่งดังสุดขีดเมื่อปลายปี พ.ศ 2529 จากการ "ลงทุน" 12,000 บาท รอ 2 ปี ได้เงิน 36,000 บาท การได้เงินไม่ใช่ได้ก้อนเดียว...ครั้งเดียว ลงทุนไปแล้วทุกเดือน จะได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,500 บาท จนครบ 24 เดือน คิดเป็นผลกำไร 12.5% ต่อเดือน หรือ 150% ต่อปี เท่ากับว่า จ่ายเงิน 12,000 บาท รอ 2 ปี จะได้กำไรถึง 2 เท่าตัวคือ 24,000 บาท
แต่ต่อมาเพียง 2 ปี แชร์วงนี้ก็ล้มลง เพราะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย โดยธนาคารเข้ามายึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ ส่วนนายพรชัยถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย
แชร์บลิสเชอร์
ก่อตั้งโดยบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจในรูปการจัดสรรวันพักผ่อนให้สมาชิกแบบเฉลี่ยสิทธิปีละ 4 วัน 4 คืน ตามชื่อโรงแรมหรือที่พักที่บริษัทกำหนดไว้ 14 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 20 ปี โดยจะแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท หรือบัตรเงิน เสียค่าสมาชิก 30,000 บาท และ "บัตรทอง" เสียค่าสมาชิก 60,000 บาท
วิธีการของบลิสเชอร์ฯ คือ การให้ไปหาสมาชิกเพิ่มให้ครบจำนวน แล้วจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่หาได้ ตั้งแต่ 20-45 % มีผู้เข้าร่วมธุรกิจประมาณ 3,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
แต่ที่สุด แชร์วงนี้ก็ล่มสลาย และในปี 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินให้จำคุกผู้เกี่ยวข้องกับแชร์บลิสเชอร์เป็นเวลา 120,945 ปี ขณะที่จำเลยบางส่วนยังคงหลบหนี
แชร์ลูกโซ่ยูฟัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นาน เมื่อปี 2557-2558 ที่ผ่านมานี้เอง โดย บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ถูกตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ พฤติการณ์ความผิดเป็นลักษณะชวนให้นำเงินมาลงทุน ตั้งแต่ 17,500 บาท จนถึง 1,750,000 บาท รวมทั้งการลงทุนแบบสมาชิกเน้นซื้อสกุลเงินที่ตั้งขึ้นเอง และเน้นซื้อสินค้าเพื่อพัฒนาตลาดแบบขยายทีม
เจ้าหน้าที่ออกหมายจับ พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นปาน ผู้บริหารยูฟันประจำประเทศไทย แต่ได้หลบหนีออกนอกประเทศ
คดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 356 ล้านบาท ศาลอนุมัติหมายจับเครือข่ายยูฟัน ทั้งหมด 164 คน จับกุมไปแล้ว 94 คน ฟ้องต่อศาลรอบแรก 44 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างยื่นฟ้องต่อศาล ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคดีนี้ 22 คน ตั้งแต่ 12,255-12,267 ปี ยกฟ้องจำเลย 21 คน
ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก วิกิพีเดีย /th.wikipedia.org , บีบีซีไทย