ประกันสังคมแจง เงื่อนไขสมัครเป็นผู้ประกันตน ตาม ม. 40 เพื่อรับสิทธิประโยชน์

เปิดเงื่อนไขสมัครเป็นผู้ประกันตน ตาม ม. 40 เพื่อรับสิทธิประโยชน์เพียบ!

เปิดเงื่อนไขสมัครเป็นผู้ประกันตน ตาม ม. 40  เพื่อรับสิทธิประโยชน์เพียบ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาดูเงื่อนไข ใครสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตามมาตรา 40 ได้บ้าง จะต้องเตรียมเอกสารอะไร ไปสมัครที่ไหน เลือกจ่ายอย่างไร ได้สิทธิประโยชน์มากน้อยแค่ไหน มาดูกันแบบจะๆ ก่อนตัดสินใจ

♦ ที่มา

การขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบโดยผลักดันร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข เพื่อรัฐร่วมจ่ายในมาตรา 40 และแก้ไขพระราชกฤษฎีกา เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ของมาตรา 40 ให้เป็นที่จูงใจ โดยเป็นระบบสมัครใจ

♦ ความหมาย

ผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึง บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39

 ♦ คุณสมบัติผู้สมัคร

อายุ 15-60 ปีบริบูรณ์  ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33  มาตรา 39  ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม

♦ บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม

♦ หลักฐานการสมัคร

− แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40)

− บัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน

♦ สถานที่ในการสมัคร

ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม

 

♦ จ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 มี 2 ทางเลือก ดังนี้

 −ทางเลือกที่ 1  จ่ายเงินสมทบ  100  บาท/เดือน  (จ่ายเอง 70  บาท  รัฐสนับสนุน 30 บาท)

− ทางเลือกที่ 2  จ่ายเงินสมทบ  150  บาท/เดือน  (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท)

หมายเหตุ  

รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้

ผู้ประกันตนที่ประสงค์รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน

♦ การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล

เมื่อเป็นผู้ประกันตนแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านาม ชื่อ - สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ ให้ยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและทางเลือกการจ่ายเงินสมทบกับผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40/1) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง

กรณีขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป

หากไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ต่อไป (ลาออก) ให้ยื่นแบบแจ้งความจำนงไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40/2) และบัตรประจำตัวประชาชน

♦ ประโยชน์ทางภาษี

เงินสมทบในแต่ละปี ใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบจากสำนักงานประกันสังคม

♦ สิทธิประโยชน์พื้นฐาน

•กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย 

        เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวันไม่เกิน 30 วันต่อปี เงื่อนไขจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน (การรักษาพยาบาลใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

(สิทธิประโยชน์ใหม่ตามที่ ครม.อนุมัติ 25 เม.ย. 60 )

- เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท สำหรับกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเบิกได้ตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล และ

- กรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท

- กรณีมีใบรับรองแพทย์ ให้หยุดพักรักษาตัว 1-2 วัน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี

- เพิ่ม เงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบมาแล้ว 60 เดือน

− นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) โดยเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เมื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี และไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี กรณีตายค่าทำศพ 40,000 บาท

 − ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือนคราวละ 2 คน

− กรณีชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาท

 

• กรณีทุพพลภาพ

       รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 - 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปี เงื่อนไข เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์)

• กรณีตาย 

       รับเงินค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย  เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต  ยกเว้น เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต

• กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ)

        ผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไข มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

♦ ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณ เพื่อสิทธิประโยชน์ดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมขอเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณด้วย ชุดสิทธิประโยชน์ ดังนี้

ทางเลือกที่ 1  (จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน)

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ  กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย

ทางเลือกที่  2  (จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน)

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ  กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ  กรณีตาย  กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ)

 

วิธีการนำส่งเงินสมทบ

จ่ายเงินสมทบได้ที่

สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา

หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม

เคาน์เตอร์เซอร์วิส

เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ห้างเทสโก้โลตัส

ไปรษณีย์ (ธนาณัติ)

หักผ่านบัญชีธนาคาร

ธนาคารเพื่่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธนาคารออมสิน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ธนาคารธนชาต

กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

 

หมายเหตุ

 การชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ผู้ประกันตนจะเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 10 บาทต่อใบเสร็จ

การชำระเงินสมทบที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และห้างเทสโก้โลตัส ผู้ประกันตนจะเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 10 บาทต่อรายการ

ในส่วนการชำระผ่านการหักธนาคารออมสิน  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย  ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้ประกันตนจะเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 5 บาทต่อรายการ โดยหักจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตน

(หมายเหตุ   สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในกรณีเจ็บป่วย บุคคลที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากได้รับสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง หรือมีสิทธิได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ก็ยังคงได้รับสิทธินั้น ๆ ได้ตามปกติ  เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ให้เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลประเภทผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200  บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 4 เดือน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย)

 

 นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มประโยชน์การบริการทางการแพทย์ ในระหว่าง ปี 2558-2559 จำนวน 12 รายการ ดังนี้

  1. ปรับเงื่อนไขคุณสมบัติสถานพยาบาลที่ผ่าตัด ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อเพิ่มจำนวนสถานพยาบาล
  2. เพิ่มวงเงินสำหรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อการฟอกไตหรือวางท่อรับ-ส่งน้ำยาล้างช่องท้อง (เพิ่ม 10,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ต่อ 2 ปี)
  3. เพิ่มการเข้าถึงยากระตุ้นเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยเพิ่มรายการยาจากเดิม 9 รายการ เป็น 11 รายการ
  4. เพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV/เอดส์ ในระยะแรกเพื่อให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถทำงานและใช้ชีวิตเช่นคนปกติ
  5. เพิ่มการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Stroke) และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลับ (STEMI) โดยจ่ายค่ายาให้แก่สถานพยาบาล
  6. การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทันตกรรมกรณี อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน จากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาทต่อคนต่อปี และให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษา ในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่าย
  7. เพิ่มอัตราการผ่าตัดอวัยวะกระจกตา จากเดิม 25,000 บาท เป็น 50,000 บาท
  8. ปรับปรุงรายการอุปกรณ์อวัยวะเทียม เพิ่มจาก 31 รายการ เป็น 95 รายการ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
  9. เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้สำหรับผู้ประกันตนที่มีการสูญเสียอวัยวะตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไป จากเดิมตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป
  10. การตรวจสุขภาพฟรีในสถานพยาบาลตามบัตรฯ
  11. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้ครอบคลุมทั้ง กรณีใช้เนื้อเยื่อของตนเองเนื้อเยื่อของพี่น้อง และเนื้อเยื่อของผู้บริจาค จาก 750,000 บาท เป็น 1,300,000 บาท
  12. กรณีคลอดบุตร เพิ่มสิทธิจากการเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook