3 เรื่องการเงินที่ทำให้ที่ทำงานปั่นป่วน

3 เรื่องการเงินที่ทำให้ที่ทำงานปั่นป่วน

3 เรื่องการเงินที่ทำให้ที่ทำงานปั่นป่วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องเงินที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นเรื่องส่วนตั๊ว ส่วนตัว วันหนึ่งมันอาจจะกลายร่างเป็นปัญหาส่วนรวมก็ได้นะจ๊ะ ถ้าพนักงานหลายๆคนมีปัญหาเรื่องเงิน ใช้เงินเกินตัวจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ชักชวนเพื่อนไปลงทุนจนเกิดความเสียหาย ทั้งหมดนี้มันอาจจะฉุดรั้งให้องค์กรสะดุดล้มได้เลยน๊า บทความ “3 เรื่องการเงินที่ทำให้ที่ทำงานปั่นป่วน” มีเป้าหมายต้องการให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพิ่มสวัสดิการความรู้ทางการเงินในที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้จักวิธีจัดการเงิน รู้วิธีการลงทุนที่เหมาะสม ก่อหนี้ดีที่สร้างรายได้ พร้อมทั้งมีสมาธิในการทำงานสร้างรายได้ให้ตนเองและองค์กรต่อไป

  3-2

จากภาพนี้เราจะเห็นว่าถ้าพนักงานมีปัญหาการเงิน เช่น ใช้เงินเกินตัวจนเกิดหนี้สิน เล่นการพนัน ติดเหล้า สูบบุหรี่ ฯลฯ นอกจากตัวของพนักงานเองจะทำงานได้ไม่เต็มที่แล้วเพราะกังวลเรื่องเงิน ยังทำให้เพื่อนร่วมงานเดือดร้อน และส่งผลเสียถึงบริษัทได้ด้วย

ลองคิดดูว่าถ้าพนักงานคนนั้นทำงานเก่ง มีผลงานดี แต่มีปัญหาการเงิน จนต้องหนีเจ้าหนี้ด้วยการลาออกจากงาน ทำให้บริษัทสูญเสียพนักงานที่เก่งๆไปอย่างน่าเสียดาย กว่าจะหาคนอื่นมาทำงานแทนได้ก็จะต้องเสียเงินและเสียเวลากว่าจะฝึกฝนจนชำนาญ

เอาล่ะ ถ้าไม่อยากให้เรื่องการเงินทำให้ที่ทำงานของเราปั่นป่วน วุ่นวายไปมากกว่านี้ (แค่เรื่องงานก็เยอะล่ะ) ควรระมัดระวังการทำพฤติกรรมแบบนี้ในที่ทำงานนะจ๊ะ

 

3 เรื่องการเงินที่ทำให้ที่ทำงานปั่นป่วน

เรื่องที่ 1 การยืมเงิน

ถ้าเรามากินข้าวกลางวันกับเพือนร่วมงาน ตอนกลับแวะซื้อของ แต่เงินไม่พอก็อาจจะยืมเงินเพื่อนมาจ่ายก่อน พอถึงที่ทำงานก็รีบคืนเงิน เพื่อนแบบนี้ทำตัวน่ารักได้ไปต่อ แตกต่างกับอีกบางคนที่ยืมเงินของเราแล้วทำเป็นลืม พอไปทวงแล้วพูดให้เรารู้สึกผิดซะงั้น ทำตัวแบบนี้ไม่น่ารักเลย เพื่อนแบบนี้รู้จักแบบห่างๆก็พอ ถ้าสนิทมากๆอาจจะทำให้เราหมดตัวได้เลยนะจ๊ะ

รู้มั๊ยว่าการยืมเงินมีผลต่อการสั่งงานด้วยนะจ๊ะ บางคนมีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงแต่ชอบยืมเงินลูกน้อง ถึงเวลาที่จะต้องสั่งให้ลูกน้องทำอะไรก็สั่งได้ไม่เต็มที่ พูดได้ไม่เต็มปากเพราะยังติดหนี้ลูกน้องอยู่ บางครั้งทำให้ลูกน้องเสื่อมศรัทธาไม่นับถือหัวหน้าได้เลยนะจ๊ะ

ส่วนตัวคิดว่า “หัวหน้า” ควรรู้จักวิธีการจัดการเงินที่ถูกต้องและทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้อง ถ้าใครมีปัญหาเรื่องเงินก็ให้คำปรึกษาได้

 


เรื่องที่ 2 การค้ำประกัน

การค้ำประกันไม่ต่างกับการเอามือไปซุกหีบ เราจะเจ็บตัวเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราไปค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่ดีจ่ายหนี้ครบ เราก็เบาใจไม่เดือดร้อน แต่ถ้าลูกหนี้ที่เราไปค้ำประกันให้นั้น มันเกิดเบี้ยวหนี้แกล้งทำตัวล่องหน ล่องลอยหายเข้ากลีบเมฆไป ขอบอกว่าซวยม๊าก เพราะคนค้ำประกันจะได้รับมรดกหนี้(ที่ไม่ได้ก่อ)มาเต็มๆ มีหนี้แบบไม่ทันตั้งตัวซะงั้น ทำใจแล้วก็ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงินมาชดใช้หนี้ของคนอื่นต่อไป

แต่ถ้าจำเป็นจะต้องไปค้ำประกันให้คนอื่นจริงๆ ควรดูนิสัยใจคอและพฤติกรรมการใช้เงินของเขาให้ดีว่าน่าไว้วางใจได้มั๊ย ในขณะที่หลายองค์กรพยายามช่วยเหลือพนักงานเรื่องหนี้สิน แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ต้องการความรวดเร็ว ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้พนักงานในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเพื่อไปชำระหนี้เดิมที่ดอกเบี้ยสูงปรี๊ด แต่ว่าแทนที่ปัญหาหนี้สินจะจบลง กลับงอกปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน เช่น

• พนักงานสร้างหนี้ก้อนใหม่มาเรื่อยๆเพราะรู้ว่ายังไงองค์กรก็ยังช่วยเหลือ
• ค้ำประกันให้เพื่อนแล้วเพื่อนเบี้ยวหนี้ ทำให้คนค้ำประกันเดือดร้อนเพราะต้องไปชำระหนี้แทน
• พนักงานที่ค้ำประกันให้เพื่อนที่เบี้ยวหนี้ลาออกเพราะไม่อยากชำระหนี้แทนเพื่อน

ผลลัพธ์ทั้งหมดก็วนกลับมาที่องค์กร แทนที่งานจะเดินก้าวหน้า กลับต้องมาสะดุดขาตัวเองเพราะต้องเสียเวลาค้นหาและฝึกพนักงานใหม่ทดแทนคนเดิมที่ลาออกไป

 

ตัวอย่างความเสียหายจากการค้ำประกัน เสียเวลาไปขึ้นศาลแบบนี้มันไม่สนุกเลยนะจ๊ะ T T

3-4

3-5

 

ที่มา : https://pantip.com/topic/32511311

 

อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การให้ความรู้ทางการเงินกับพนักงาน ตั้งแต่เข้างานวันแรกเพื่อให้พนักงานมีภูมิคุ้มกันทางด้านการเงิน รวมถึงให้ความรู้วิธีจัดการหนี้พร้อมกับการปล่อยกู้ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ซ้ำอีกครั้ง แม้ว่าวิธีนี้จะเห็นผลช้ากว่าการปล่อยกู้เพื่อให้พนักงานแบบตรงๆ แต่มันทำให้บริษัทยั่งยืนมากกว่า

 

ความรู้เพิ่มเติม

จากเรื่องการค้ำประกันนี้ส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ถ้าคนมีความรู้ทางด้านการเงินมากขึ้น รู้จักวิธีจัดการเงินของตัวเองโดยการก่อหนี้ดีที่สร้างรายได้ให้มากขึ้น มีการค้ำประกันให้คนอื่นมากขึ้น (เพราะไม่เบี้ยวหนี้) รวมถึงมีกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน สุดท้ายก็จะมีเงินหมุนเวียนในระบบทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

3-3

 

เรื่องที่ 3 การชักชวนกันไปลงทุน(ที่ให้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ)

“รวยง่าย รวยเร็ว มันไม่มีจริง”

หลายคนเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาหลายปี หาวิธีรวยทางลัด รวยเร็วๆแล้วจะได้ลาออกไปใช้ชีวิตอิสระสักที เห็นเพื่อนที่ทำงานส่วนใหญ่ไปลงทุนแล้วได้เงินกลับมาเร็วก็อยากได้บ้าง เพื่อนบอกอะไรก็เชื่อทุกอย่างโดยไม่ตรวจสอบความจริง #โลภ ทุ่มเทเงินเก็บที่มีทั้งหมดเพื่อการลงทุนครั้งนี้ บางคนไม่มีเงินก็ไปกู้ยืมเงินมาลงทุน

ช่วงแรกๆก็ได้เงินกลับมาจริงตามที่เพื่อนบอก ผ่านไปสักพักก็เริ่มได้เงินล่าช้า ไปจนถึงไม่ได้เงินกลับมาเลย สุดท้ายถูกโกงเงินหมดตัว นรกซิครับงานนี้เพราะเงินออมก็หายไป แถมมีเจ้าหนี้มายืนดูแลหน้าบ้านของเราอีกด้วย #ซวยซ้ำซ้อน

 

ตัวอย่าง : ข่าวการถูกหลอกจากการบอกปากต่อปาก “แชร์ตู้คอนเทนเนอร์”

3-6

 

วิธีการหลอกลวง : ลงทุนซื้อตู้ละ 110,000 – 130,000 บาท ปล่อยเช่าได้ผลตอบแทนเดือนละ 11,000 – 13,000 บาท ความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท ผู้เสียหายประมาณ 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ทำงานบริษัทในนิคมอุตสาหรรมแหลมฉบัง


จากเรื่องนี้ขอเล่าประสบการณ์จากแชร์ลูกโซ่ไว้อ่านเป็นข้อเตือนใจนะคะ

ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 57 แอดมินอภินิหารเงินออมได้ถูกเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการเงินให้กับพนักงานที่บริษัทแห่งหนึ่งฟัง ตอนนั้นเป็นยุคที่ยูฟันเฟืองฟูและดังมากในโลกออนไลน์

มีช่วงหนึ่งของการบรรยายเราพูดเรื่องวิธีการดูแลเงินให้ปลอดภัยจากแก๊งแชร์ลูกโซ่ เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้จักวิธีหลอกลวงและปกป้องดูแลตนเอง เตือนคนในครอบครัว เตือนคนรอบข้าง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเงินหมดเนื้อหมดตัว

จำได้ว่าตอนนั้นกำลังพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวม แล้วเราพูดว่า “ตัวอย่างการลงทุนที่ควรระวัง คือ ยูฟัน เพราะอาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่”

จากเสียงที่คุยกันเบาๆก็กลายเป็นความเงียบ มันเงียบจนได้ยินเสียงคนพลิกกระดาษ รู้สึกได้ว่าบรรยากาศในห้องมันแปลกๆ ดูอึมครึมอึดอัดๆ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร

เราก็บรรยายต่อไปเรื่อยๆจนถึงช่วงพักเบรกก็มีพนักงานชายวัยละอ่อนคนหนึ่งเดินมาข้างๆแล้วถามเราว่า “ยูฟันเป็นแชร์ลูกโซ่จริงๆหรอครับ พอดีพี่สาวผมกำลังจะเอาเงินไปลงทุน” #กลิ่นไม่ค่อยดีแล้วซิ

ระหว่างที่กำลังจะอ้าปากตอบ เรารับรู้ได้ถึงพลังบางอย่างที่คืบคลานเข้ามา มีผู้หญิงวัยกลางคนมายืนอยู่ข้างๆเรา แล้วเขาก็ทำเสียกระแอมเบา จากนั้นพนักงานชายที่กำลังคุยอยู่กับเราก็รีบเดินออกไป

เรามารู้ทีหลังว่ามีพนักงานหลายคนกำลังลงทุนยูฟันและชักชวนให้เพื่อนๆในโรงงานไปลงทุนด้วย ตอนนั้นเสียวสันหลังวาบเลย เราไปขวางทางรวยของคนอื่นแบบนี้ไม่น่ารอดออกมาได้ #เฮ้อเกือบไปแล้ว

หลังจากการบรรยายครั้งนั้นจบลง เราก็ได้แต่คาดหวังและภาวนาว่าพนักงานที่นั่นจะถอนตัวทันและไม่มีใครเอาเงินไปลงทุนเพิ่ม

 

เราจะเห็นแล้วว่าเรื่องเงินที่คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของพนักงาน ถ้าไม่ได้รับการจัดการให้ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้องค์กรเสียหายได้ สมมติว่าถ้าเพื่อนพนักงานหลายๆคนไปลงทุนแชร์ลูกโซ่จนมีหนี้สิน ทำให้เจ้าหนี้โทรมาทวงหนี้แทบทุกชั่วโมงจนไม่มีสมาธิทำงาน บางคนตัดสินใจลาออกหนีหนี้ แต่เสียงโทรศัพท์ทวงหนี้ก็จะดังให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นรับหน้าแทนต่อไป กลายเป็นปัญหาไม่สิ้นสุด

 

 สรุปว่า

ถ้ามีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในที่ทำงานจะทำให้พนักงานรู้จักวิธีจัดการเงิน รู้จักการลงทุนที่ถูกกฎหมาย รู้จักวิธีการสร้างหนี้ดี ไม่กู้ยืมเงินมาลงทุน รู้เท่าทันกลุ่มมิจฉาชีพจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเงินสิ้นเนื้อประดาตัว ถ้าพนักงานหมดกังวลเรื่องเงินทองและหนี้สินแล้วก็จะทำให้ปัญหาการเงินในที่ทำงานลดลงและองค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

a1
อภินิหารเงินออม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook