เตือน! 8 อาชีพ หนีเตะฝุ่น
สภาองค์การนายจ้างฯจี้ทุกฝ่ายเร่งยกเครื่อง 5 เรื่องใหญ่ปฏิวัติแรงงานไทย หลังพบข้อมูล 8 อาชีพ พ่วงกว่า 10 อุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นเสี่ยงตกงานรับเทคโนโลยี 4.0 เจ้ากระทรวงแรง งานรับบัญชา “ประยุทธ์” คนไทย ต้องมีงานทำสั่งลุยยกระดับทักษะฝีมือทุกกลุ่มรับแข่งขันยุคใหม่
จากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ชูนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และภาคบริการของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2579 นั้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาห กรรมไทย หรืออีคอนไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อีคอนไทยได้ประเมินในเบื้องต้นพบมี 8 อาชีพเสี่ยงตกงานจากเทคโนโลยี 4.0 ในอนาคตหากไม่มีปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ได้แก่ 1. พนักงานขายปลีกหน้าร้าน, ในห้างโมเดิร์นเทรด ต่างๆ และพนักงานขายตรง 2. พนักงานโรงแรม 3. พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงิน 4. แรง งานในอุตสาหกรรม 5. แรงงานในภาคโลจิสติกส์ 6. บุรุษพยาบาลดูแลคนสูงวัยหรือผู้ป่วย 7. คนขับรถยนต์ทั้งรถยนต์และรถบรรทุก และ 8.เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ในภาคธุรกิจต่างๆ (ดูเหตุผลจากกราฟฟิกประกอบ)
“ในข้อเท็จจริงมีมากกว่า 8 อาชีพที่มีความเสี่ยงเพราะเราแค่ยกตัวอย่าง โดยที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกของไทยที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ซึ่งในสัดส่วน 80% นี้มี 25% มีความเปราะบางมากเพราะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมากนัก ทำให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะติดลบต่อเนื่อง รวมมีมากกว่า 10 อุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง หัตถอุตสาห กรรม เครื่องไมโครเวฟ และ สื่อสิ่งพิมพ์ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้หากไม่มีการปรับตัวโอกาสคนจะตกงานมากขึ้น”
นายธนิตกล่าวอีกว่า ในช่วงรอยต่อสู่ยุค 4.0 นี้ ไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภาคแรงงานให้ก้าวผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เรื่องแรก ต้องส่งเสริมสร้างค่านิยมเรียนสายอาชีวะ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด และจะเป็นแรงงานสำคัญเมื่อไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
ประการที่ 2 ภาคแรงงานของไทยจากผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน ปัจจุบันแรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนอยู่ในระบบแรงงานถึง 46% อีกทั้งพบว่าสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% มีการศึกษาไม่เกินระดับประถมในจำนวนนี้แรงงาน 1.2 ล้านคนไม่มีการศึกษา ประเด็นนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษว่าจะพัฒนาอย่างไร จะไปวางไว้ตรงไหน
3. ผู้ประกอบการของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการพัฒนา เสริมความรู้ หรือเพิ่มทักษะให้กับแรงงานของตน แม้จะมีกฎหมายของกระทรวงแรงงานบังคับนายจ้างต้องจัดอบรม แต่ส่วนใหญ่ก็อบรมแบบผ่านๆ เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับมองเป็นการสิ้นเปลือง
4. ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้แรงงานจะต้องปรับตัวให้ทักษะ และศักยภาพแบบก้าวกระโดด องค์การที่เกี่ยวกับแรงงานจะต้องปฏิรูปบทบาทในการยกระดับพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพิ่มหรือเปลี่ยนทักษะใหม่ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และสังคมแรงงานสูงอายุ
5. กระทรวงแรงงานต้องเลิกยึดติดกับการเป็นกระทรวงด้านสังคม และปรับตัวเชิงรุกเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยที่ต้องทำก่อนคือเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ให้ดูทันสมัยเพื่อก้าวผ่านไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นยํ้าในวันแรงงานที่ผ่านมาว่า ไม่อยากให้พี่น้องแรงงานกังวลว่าเมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้คนไทยตกงาน ขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนทุกกลุ่มจะไม่มีการตกงาน และจะมีรายได้ที่ดี มีอาชีพที่ดีขึ้นด้วย โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการสำรวจแรงงานในแต่ละกลุ่ม ทั้งระดับ 1.0, 2.0 และ 3.0 ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด และมีความจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งของแรงงานในระดับต่างๆ อย่างไร เพื่อปรับทักษะฝีมือขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง