ใกล้เกษียณแล้ว ลงทุนอย่างไรดี?
เชื่อว่าทุกคนคงเคยวาดฝันชีวิตภายหลังเกษียณของตนเอง พยามเก็บหอมรอมริบและตั้งตารอวันที่จะไปถึงเป้าหมายทางการเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ในวันนี้เราจะมานำเสนอเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการช่วยบริหารเงินภายหลังเกษียณ ก่อนที่เราจะพูดถึงเทคนิคต่างๆและการลงทุนที่เหมาะสม มาดูนิยามของคำว่า”เกษียณ”กันก่อน การเกษียณอายุนั้นหมายถึงการหยุดทำงานประจำรวมถึงไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป เพราะฉะนั้นควรจะต้องดูแลรักษาเงินก้อนนี้ให้ดี ทั้งการบริหารเงินให้งอกเงย และพยามควบคุมค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด
ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นกันก่อน
ขั้นแรก ประเมินรายได้ที่จะได้รับภายหลังจากที่เกษียณอายุ ซึ่งหลายๆคนอาจจะยังได้เงินเหล่านี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินฝากในธนาคารที่มีอยู่ อาทิ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน, เงินบำนาญจากประกันสังคม, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ เงินสะสมจากกองทุน RMF
ขั้นที่สอง ประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงเกษียณ คิดง่ายๆ โดยประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายรายปีปัจจุบันคูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ
ขั้นที่สาม นำเงินในขั้นแรกที่คำนวณได้หักลบกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ แล้วดูว่าเพียงพอหรือไม่ หากคำนวณแล้วไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม หรืออาจจะต้องเตรียมแผนประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
บริหารเงินให้ดีก็มีเงินใช้ได้สบาย...
ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารเงินหลังเกษียณ อยากให้เข้าใจถึงความสำคัญของการลงทุนกันก่อน ลองนึกภาพตาม...หากมีเงิน 1 ล้านบาท ณ วันที่เกษียณอายุ 60 ปี และต้องการถอนเงินออกมาใช้เดือนละ 5,000 บาท หากปล่อยเงินก้อนนี้ไว้เฉยๆ ไม่ได้ลงทุนเลย โดยสมมุติว่าของราคาแพงขึ้น (อัตราเงินเฟ้อ) ปีละ2.5% พบว่าเงินจะหมดภายใน 16
ในทางกลับกันหากคุณมีการจัดสรรการลงทุนที่เหมาะสม(ทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยง) ถึงแม้จะเก็บเงินไม่ได้ตามเป้าหมายก็ยังมีโอกาสที่จะมีเงินใช้ได้จนถึงบั้นปลายชีวิต และไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน ยกตัวอย่างเช่น หากอิงกับเงินก้อนเดิมที่ 1 ล้านบาท หากนำไปลงทุนได้ผลตอบแทน 3% ต่อปี พบว่าจะใช้ได้นานขึ้นถึง 18 ปี แต่ หากสามารถลงทุนได้ผลตอบแทน 7% ต่อปี เราจะมีเงินใช้เงินได้นานถึง 30 ปี แถมยังมีเงินเหลืออีก 260,000 เป็นมรดกให้กับลูกหลานได้อีกด้วย
3 ขั้นตอนการบริหารเงินในช่วงหลังเกษียณ
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจขอยกตัวอย่างดังนี้ นาย A มีเงิน 5,360,000 บาท ณ วันที่เกษียณอายุ 55 ปี และคาดว่าจะมีอายุถึง 85 ปี โดยต้องการถอนเงินมาใช้ทุกๆต้นเดือน คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายช่วงเกษียณเดือนละ 20,000 บาท และ ไม่ต้องการเหลือทรัพย์สินเป็นมรดก สมมุติให้เงินเฟ้อ (ของแพงขึ้นต่อปี) เท่ากับ 3%
ขั้นตอนที่1 แบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน
เงินส่วนที่ 1 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายและเงินสำรอง
• เงินสำหรับใช้จ่าย 1 ปี (20,000 x12) = 240,000 นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก / ตราสารหนี้ระยะสั้น
• เงินสำรอง 6เดือน (20,000x6)=120,000 ซึ่งมักจะเป็นเงินที่อยู่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายปกติ เช่น เกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน โดยเงินก้อนนี้ เราสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ไปลงทุน โดย ส่วนแรก เก็บไว้ในเงินฝากหรือตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในหุ้นกู้เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม แต่ควรเป็นหุ้นกู้ที่ไม่เสี่ยงมากเกินไป
เงินส่วนที่ 2 สำหรับการลงทุน
• เป็นเงินที่เหลือจากที่เรากันไว้จากเงินส่วนที่ 1 สำหรับ นาย A จะเหลือเงินลงทุนเท่ากับ 5,360,000 – 360,000 = 5,000,000 บาท ซึ่งจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนตามความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้
ขั้นตอนที่ 2 นำเงินส่วนที่ 2 จำนวน 5,00,000 บาทไปลงทุน เพื่อต้องการให้บรรลุเป้าหมายค่าจ่ายเดือนละ 20,000 บาท หากอิงกับตารางด้านล่างจะสรุปได้ว่า นาย A ต้องนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนให้ได้ประมาณ 5-6% เพื่อบรรลุเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 3 นำข้อมูลที่ได้จากข้อ 2 ไปจัดสรรการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ประมาณ 5-6% ต่อปี โดยแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ลงทุนผ่าน เงินฝาก, กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้น และ กองทุนตราสารหนี้
อย่างไรก็ดี หากคุณเป็นคนที่ไม่คอยมีเวลา และ ไม่ค่อยติดตามข่าวสารลงทุน ปัจจุบันนี้ก็มีกองทุนที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่เกษียณอายุโดยเฉพาะ เป็นกองทุนผสมที่มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน ตลาดตราสารหนี้, หุ้นไทย, กองทุนรวมอสังหาฯ ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก และ อีกหนึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของกองทุนประเภทนี้คือมีการจ่ายผลตอบแทนผ่านการรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติทุกๆเดือนเพื่อเป็นรายได้หลังเกษียณ นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่เกษียณอายุเช่นกัน
โดย Wealth Manager Team
TISCO Asset Management