เปิดอกเรื่องเงิน! 12 ข้อทำอย่างไรให้ “คู่แต่งงาน” อยู่กันราบรื่น

เปิดอกเรื่องเงิน! 12 ข้อทำอย่างไรให้ “คู่แต่งงาน” อยู่กันราบรื่น

เปิดอกเรื่องเงิน! 12 ข้อทำอย่างไรให้ “คู่แต่งงาน” อยู่กันราบรื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีครับเพื่อน ๆ วันนี้มีทิปส์ดีๆ สำหรับเพื่อน ๆ ที่แต่งงานแล้ว หรือกำลังวางแผนชีวิตคู่กันอยู่นะครับ นอกจากความรัก ความเข้ากันได้ จริงๆ เรื่องการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามมองข้ามนะครับ คู่แต่งงานต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทำให้ต้องใช้เงินด้วยกันไปโดยปริยาย ต่อไป เราจะตัดสินใจทางการเงินฝ่ายเดียวไม่ได้แล้วนะครับ เพราะการใช้ชีวิต การวางอนาคตร่วมกันก็ต้องมีเงินเป็นส่วนประกอบครับ

จริงอยู่ที่เรื่องนึ้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็พอจะมีแนวทางดีดีที่คู่แต่งงานสามารถทำตาม เพื่อให้ชีวิตคู่มีความสุข เรามาดูกันเลยครับว่าวิธีปรับความเข้าใจทางการเงิน 12 ข้อสำหรับคู่แต่งงานมีอะไรกันบ้าง


1. เปิดอกคุยกัน

ก่อนแต่งงาน ทั้งคู่ควรจะมานั่งคุยอย่างเปิดอกว่ามีทรัพย์สินอะไรในครอบครองบ้าง หมายความว่าให้เพื่อน ๆ เอามาโชว์ให้หมดเลยครับ เงินเดือนเท่าไหร่ หนี้เท่าไหร่ บัตรเครดิตกี่ใบ เงินลงทุนอะไรบ้าง รวมทั้งข้อมูลทุกอย่างที่อาจจะมีผลกระทบต่อชีวิตคู่แต่งงานในอนาคต เพื่อที่จะเริ่มวางแผนการเงินในอนาคตได้แบบมีเหตุผลครับ

 

2. คุยกันเรื่องเงิน เยอะ ๆ ตลอด ๆ

เพื่อน ๆ ไม่จำเป็นต้องรวมกระเป๋าตังค์และตัดสินใจพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีค่าใช้จ่ายนะครับ เพียงแต่ขอแนะนำให้คุยกันให้เคลียร์ว่าแต่ละคนมีนิสัยการใช้เงินยังไง สภาพคล่องทางการเงินเป็นยังไงบ้าง หลัก ๆ คือสื่อสารกันให้เข้าใจ ยอมรับและเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ต้องไว้ใจกัน วางแผนการเงินร่วมกัน ใครมีรายได้เท่าไหร่ ใครจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เก็บบัญชีไหน หรือถ้าจะมีเงินส่วนตัวไว้ใช้ของตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่าจะไม่ก้าวก่ายกันนะครับ


3. วางเป้าหมายทางการเงินร่วมกัน

คู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นจะมีการเซ็ตเป้าหมายทางการเงินร่วมกัน และคอยเช็คแต่ละฝ่ายว่าใกล้ความจริงหรือยัง แม้ว่าแต่ละคนจะมีวิธีใช้เงินของตัวเอง แต่ถ้ามีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ก็จะช่วยกันหาเงินและเก็บเงินได้เป็นทีมมากขึ้น เช่น ถ้าวางแผนจะซื้อบ้านด้วยกัน เก็บเงินเพื่อค่าเล่าเรียนลูก หรือเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ก็ลองคุยกันแล้วช่วยกันดูว่าจะถึงเป้าเมื่อไหร่


4. แบ่งหน้าที่การจ่ายในบ้าน

หลาย ๆ คู่ก็น่าจะทราบดีว่า เมื่อแต่งงานแล้ว ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ค่าอินเตอร์เน็ต สารพัดค่าใช้จ่าย กลายเป็นความรับผิดชอบร่วมของทั้งคู่ เพื่อน ๆ ต้องคุยกันให้ชัดว่าใครจะรับผิดชอบอะไร อาจจะไม่ต้องแบ่งครึ่ง-ครึ่งเสมอไปนะครับ (ขึ้นอยู่รายได้ของทั้งสองฝ่าย) แต่อย่างน้อยต้องคุยกันไม่ใช่ปล่อยให้มั่วไปเพื่อกันปัญหาภายหลังครับ


5. ทำประกันให้ครอบคลุม

ตอนอยู่คนเดียวเราอาจจะไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่ แต่เมื่อมีคู่แต่งงานแล้วก็ควรทำประกันชีวิตให้ครอบคลุมด้วยนะครับ เพราะเรามีคู่หรือลูกที่ต้องพึ่งพาเรา หากเราเป็นอะไรไป พวกเขาจะได้อยู่กันอย่างสบาย เป็นการดูแลกันอย่างรอบคอบด้วยครับ


6. ทำพินัยกรรม

เมื่อแต่งงานแล้วก็ควรจะเริ่มจัดการทรัพย์สิน รวมถึงผู้รับประโยชน์แทนถ้าเราเป็นอะไรไป เรื่องทางกฎหมายก็สำคัญควรจะทำไว้แต่เนิ่น ๆ นะครับ นอกจากนี้ ก็ควรเอาเอกสารพวกประกัน หรือพินัยกรรมดูทรัพย์สินต่าง ๆ มาทบทวนใหม่ทุก 5 ปี จะได้อัพเดทให้ตรงความเป็นจริงไงล่ะครับ


7. อย่าดูถูกวิธีการใช้เงินของอีกฝ่าย

ทุกคนมีวิธีการใช้เงินต่างกัน เพราะนิสัยทางการเงินต่างกัน คู่แต่งงานก็ควรเคารพรสนิยมและทางเลือกของอีกฝ่าย ถ้าไม่ชอบใจที่คู่ของคุณใช้เงินแบบนี้ ก็ให้เปิดใจคุยกันอย่างมีเหตุผล แต่ถ้าไม่ได้กระทบสถานะการเงินโดยรวมของครอบครัว ก็ปล่อย ๆ เขาไปบ้างนะครับ


8. อย่าฟุ่มเฟือย

ลองใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่คิดว่าเราจ่ายไหว ยกตัวอย่าง การที่เรามีเงินซื้อบ้านราคา 30 ล้านได้ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องซื้อราคาขนาดนั้นนะครับ เพราะถ้าเราประหยัดได้ เราก็สามารถนำเงินตรงนี้ไปใช้กับเรื่องจำเป็นอื่น ๆ ได้เช่นกัน ลองดูว่าค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ อย่างบ้าน หรือรถ จะสามารถประหยัดลงมาได้มั้ย และเราจำเป็นต้องมีไลฟ์สไตล์แบบไหนดีครับ


9. ไม่ปิดบังอะไรต่อกัน

คู่แต่งงานที่ประสบความสำเร็จจะไม่เคยปิดบังเรื่องเงินกับอีกฝ่าย หรือเอาเรื่องนี้มาชวนทะเลาะ บิลบัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายรายวันอะไรต่อมิอะไรก็คุยกันได้หมด ไม่ต้องปิดกัน ถ้าเริ่มมีความลับทางการเงินเมื่อไหร่ ก็จะนำไปสู่ความไม่ไว้ใจ และจะมีปัญหากันทีหลังแน่นอนครับ


10. ตั้งกฎเหล็ก

คู่แต่งงานมักจะต้องระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะอาจจะกระทบการเงินของอีกฝ่าย ลองตั้งกฎเหล็กแบบเบสิค ๆ ระหว่างคู่ของคุณที่ทำตามได้ง่าย จะได้ไม่ต้องคอยระวังตลอดเวลาครับ


11. ทำสัญญาก่อนสมรส (หรือหลัง)

ลองคุยกันเรื่องแบ่งสินสมรสหรืออะไรประเภทนี้ไว้หน่อยก็ดีนะครับ อาจจะคุยหลังจัดงานแต่งเสร็จก็ได้ อย่างน้อยทั้งคู่จะได้รู้จักเรื่องทรัพย์สินกับประเด็นทางกฎหมายไว้คร่าว ๆ ก็ยังดีครับ


12. อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ข้อมันแหงอยู่แล้ว แต่อยากให้เพื่อน ๆ จำไว้เสมอว่าให้เอาความสุขของเราและคนที่เรารักเป็นตัวตั้งนะครับ อย่ามุ่งมั่นกับเป้าหมายทางการเงินมากจนทำร้ายความสัมพันธ์ เราต้องให้เป้าหมายทางการเงินเป็นตัวส่งเสริมความสัมพันธ์ของเรา ให้วางแผนอนาคตได้ดีขึ้น ไม่ใช่เอาความสัมพันธ์เราไปแลกนะครับ


หวังว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ หลายคู่นะครับ เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใครจริง ๆ ถ้าจริงใจต่อกันเรื่องการเงิน ก็เป็นการวางรากฐานให้ความสัมพันธ์แข็งแกร่งแล้วล่ะครับ นอกจากนี้ การตัดสินใจจะขอกู้หนี้ยืมสิน ไปทำอะไร ก็ต้องปรึกษากันในฐานะคู่ชีวิตด้วยนะครับ


gb2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook