“ผ่อน 0%” หายนะร้าย หรือ บททดสอบวินัยทางการเงิน
หลากหลายความเห็นและการถกเถียงกันในกระทู้พันทิพที่ชื่อว่า “จะผ่อนโทรศัพท์ 10 เดือน 0% จะโยกวงเงินไปฝั่งไหน ถ้าวงเงินเเต่ละด้านไม่พอ?” (https://pantip.com/topic/36386293) ที่มีส่วนเกี่ยวกับการข้อเสนอของสินค้าต่าง ๆ ที่มักจะมาด้วยการตลาดแบบเร้าใจ ด้วยการให้ “ผ่อน 0%” ตามห้างร้านทั่วไปเพื่อวัดใจเราว่ากล้าที่จะเข้าไปใช้บริการกันหรือไม่ คงต้องตอบไปตามตรงว่า “จะเหลือเหรอ” ดูใบแจ้งหนี้ที่ส่งมาบ้านสิครับ ยาวเป็นหางว่าวกันเลยทีเดียว -ฮา- แล้ววันนี้เรามาพูดถึงเรื่องนี้ทำไมกัน? ก็ไม่มีอะไรมากครับเพียงแค่อยากจะมาแสดงความเห็นและยังนำเสนอเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดีในกระทู้นี้ เกี่ยวกับการผ่อนสินค้า 0 % เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกัน สนใจไหมครับ ถ้าสนใจก็มาติดตามกัน
คำถาม คนที่เลือกการผ่อน 0 % ไม่ว่าจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือผ่อนยาว ๆ 12 เดือน นั้นเป็นคนเช่นไร บางคนก็บอกว่าเป็นคนฉลาด อีกคนก็แย้งว่าขาดวินัยทางการเงิน ไม่มีแล้วยังจะดิ้นรน หรือบางกลุ่มสุดขั้วที่ตอบกระทู้ก็กล่าวหากันเชิงว่า “จนไม่เจียม” เลยทีเดียว ถ้าอย่างนั้นถามกลับอีกว่า หากเราได้เงินมาใช้โดยที่ไม่เสียดอกเบี้ย แล้วนำเงินที่ไร้ดอกเบี้ยนั้นไปซื้อสินค้า แบบนี้ฉลาดหรือไม่ ก็คงพอทำให้เห็นภาพกันชัดขึ้นแล้วนะครับ ซึ่งถ้าจะว่ากันตามหลักการตลาดแล้ว ข้อเสนอแบบนี้ถือเป็นกำไรให้ผู้บริโภค และสร้างความจงรักภักดิ์ดีต่อแบรนด์หรือสถาบันนั้น ๆ ไปด้วย ซึ่งหากเราเข้าไปบริหารจัดการกันดี ๆ แล้ว การผ่อน 0% นั้น สร้างประโยชน์ให้ได้มากโขเลยทีเดียว
แล้วอย่างไรกันเล่าที่เรียกว่าบริหารดี การบริหารการเงินที่ดีตามที่พี่ “บัวขาว” แนะนำในโฆษณาของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งบอกไว้ว่า ควรมีหนี้ไม่เกิน 50 % ของเงินเดือน แต่พี่บัวขาวลืมบอกไปว่า 50 % ที่เป็นหนี้นั้น ไม่ควรเป็นหนี้ฟุ่มเฟือยด้วย เพราะหากหนี้ทั้งหมดเป็นหนี้บริโภคที่กินใช้หมดไปแล้วนั้น ก็เป็นการโยนเงินทิ้งไปแบบเปล่า ๆ กันเลยทีเดียว ใน 50 % ของหนี้ควรมีหนี้ที่ก่อให้เกิดทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถ หรือเป็นหนี้ที่ก่อในเกิดรายได้ เช่นหนี้จากการลงทุนต่าง ๆ รวมอยู่ด้วยนะครับ
เมื่อทราบเช่นนี้เราก็กลับเข้าสู่เรื่องสินค้าผ่อน 0 % กัน ซึ่งการที่เราตัดสินใจจะผ่อนสินค้าอะไรสักอย่างควรดูก้อนหนี้ทั้งหมดของเราด้วย ว่าเป็นหนี้บริโภคกี่เปอร์เซ็นต์ หนี้ทรัพย์สินหรือลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด จากนั้นก็มาดูกันว่าสินค้าที่ต้องการเป็นสินค้าจำเป็นหรือไม่ หากเป็นสินค้าจำเป็นและหนี้รวมของเราก็อยู่ในขั้นบริหารจัดการได้ ก็จัดไป แต่ถ้าเป็นสินค้าบริโภคหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่ ดีต่อใจ แต่ไม่ค่อยดีต่อเงินในกระเป๋าแล้ว เราก็ควรพิจารณาให้ดีว่าเราสามารถรอให้ราคาลดลงกว่านี้ หรืออาจจะดูว่ามีสินค้าอื่นที่ราคาต่ำกว่าทดแทนหรือไม่ มีสินค้ามือสอง มือสามสภาพดีขายในตลาดไหม
แต่หากคิดว่าเรารับได้ และสินค้านี้เป็นรางวัลทรงคุณค่าต่อจิตใจ เป็นสิ่งที่จะจ่ายให้ในความทุ่มเทบางอย่างหรือความสำเร็จของชีวิตแล้วละก็อย่าให้เสีย จัดไปเลย แล้วไปขยันหารายได้มาทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเอา แบบนี้ก็ว่ากันไปตามที่เหมาะสม ตามความสามารถในการจัดการของแต่ละคนกันไป
แล้วนอกจากการผ่อนสินค้า 0% แล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นอีกหรือไม่ที่เป็นรางวัลแด่คนบริหารจัดการเงินดีอย่างพวกเรา ขอบอกว่ามีแน่นอนครับ หากเราสนใจติดตามบริการของแต่ละสถาบันจะพบว่า นอกจากการให้บริการผ่อน 0 % แล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกมากมายที่ช่วยให้การเงินของเราดีขึ้น เช่น บางบัตรบางช่วงมีเงินคืน (Cash Back) ให้ 1-3% บางบัตรหรือบางร้านค้ามีของแถมสุดอลังการ
นอกจากนี้ยังมีการสะสมแต้มแลกสินค้าและบริการให้แบบฟรี ๆ อีกด้วย ซึ่งถ้ามองตรงนี้แล้วถือว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ นอกจากนี้ เมื่ออ่านความเห็นย่อยในกระทู้แล้ว บางคนสามารถนำเงินสดที่มี (เพราะผ่อนสินค้า) นำไปลงทุนในหุ้น ก็สร้างกำไรให้ได้อย่างงามเลย เมื่อฟังแบบนี้แล้ว หลายคนก็อยากใส่รองเท้าเข้าเกียร์เสือชีต้าห์ไปสมัครบัตรผ่อนสินค้า บัตรเครดิต และสินเชื่อต่าง ๆ เพื่อรอรับสิทธิประโยชน์เหล่านี้กันตอนนี้เลยทีเดียว
นอกจากการถกเถียงเรื่องผ่อนสินค้าดีไม่ดีอย่างไรแล้ว ในกระทู้นี้ยังไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการผ่อนสินค้าด้วยบัตรจากสถาบันการเงินเดียวกัน แต่คนละประเภท คือเจ้าของกระทู้มีวงเงินบัตรเครดิตและวงเงินจากบัตรผ่อนสินค้าอย่างละ 19,000 บาท (รวมเป็น 38,000 บาท) แต่ต้องการผ่อนสินค้าราคา 31,500 บาท จะทำอะไรได้บ้าง หรือมีวิธีรูดบัตรอย่างไร หลาย ๆ ความเห็นก็เข้ามาแนะนำว่า สามารถโยกวงเงินได้ บางท่านก็บอกว่าลองติดต่อเจ้าหน้าที่ แต่สุดท้ายแล้วก็มีสวรรค์มาโปรด โดยมีเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินนั้นมาไขข้อข้องใจว่าสามารถติดต่อเข้าไปเพื่อขอย้ายวงเงินมายังบัตรที่ร่วมรายการ รอผลอนุมัติ แล้วไปจัดสินค้าได้เลย ว้าว แบบนี้ใครสนใจสินค้าไหนแล้วติดปัญหาแบบเดียวกัน ก็สามารถแก้ไขได้แล้ว...
แต่อย่าลืมเรื่องสำคัญอย่างที่แจ้งไปนะครับว่า ไม่ว่าจะมีโปรโมชั่นที่ดีเพียงใด สิทธิประโยชน์มากมายแค่ไหน แต่การบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งหากเราได้โปรโมชั่นดี ๆ แล้วแต่กลายเป็นว่าเราไม่สามารถบริหารจัดการรายรับเราให้เพียงพอต่อรายจ่ายแล้ว ปัญหาที่ยากลำบากจะตามมามากกว่าสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับพิจารณากันให้ดี มีวินัยทางการเงิน สร้างความมั่นคงให้ชีวิตนะครับ