อยากปลดหนี้ต้องเริ่มยังไง
หากจะพูดถึงหนี้ที่น่ากลัวที่สุด(ไม่นับหนี้นอกระบบ)ในตอนนี้ ก็ต้องเป็นหนี้พวกบัตรเครดิต บัตรเงินสด ทำไมถึงเรียกได้ว่าเป็นหนี้ที่น่ากลัว เพราะหนี้พวกนี้ มีดอกเบี้ยสูงมาก สูงถึงประมาณ 20% ต่อปีกันเลยทีเดียว แล้วเจ้า 20% นี่มันเยอะขนาดไหน มาดูกันค่ะ
ความน่ากลัวของหนี้บัตรเครดิต, บัตรเงินสด
บัตรเครดิต หากจะใช้ให้ถูกวิธี คือ เมื่อถึงเวลาครบกำหนดต้องจ่ายให้เต็มจำนวนทุกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่จ่ายขั้นต่ำ จะถูกคิดดอกเบี้ยทันที ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โหดมาก ลองมาดูตัวอย่างกันว่า สมมติเป็นหนี้เริ่มต้นที่ 130,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จะเกิดอะไรขึ้น
จากรูปจะเห็นได้ว่า จากหนี้ 130,000 ผ่านไป 10 ปีหนี้จะขยายตัวกลายเป็น 804,926 บาทเลยทีเดียว แล้วถ้าปล่อยทิ้งไว้นานกว่า 10 ปี ล่ะ แทบไม่กล้าจะคิดเลยว่าจะโตขึ้นขนาดไหนใช่มั้ยคะ
แนวคิดการจัดการหนี้
หลังจากเห็นความน่ากลัวของหนี้บัตรเครดิตกันมาเรียบร้อยแล้ว ทีนี้จะจัดการกับมันอย่างไรดี แต่ละคนมีแนวความคิดในการจัดการหนี้แตกต่างกันไป
เมื่อเริ่มจะมีเงินเหลือ บางคนชอบที่จะเอาเงินไปใช้หนี้ทันที บางคนอยากจะเอาไปลงทุน ไปซื้อกองทุน , เล่นหุ้นก่อน เพราะคิดว่าจะทำให้ได้กำไรมากจนเอาใช้หนี้ได้ทั้งหมด
แล้ววิธีไหนคือวิธีที่ดี ...
สมมตินาย A มีหนี้อยู่ที่ 130,000 บาท นาย A ตั้งใจว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะอดออมลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือในแต่ละเดือนประมาณ 2,000 บาท นาย A กำลังพิจารณาอยู่ว่าเขาควรจะทยอยนำเงินนี้ไปใช้หนี้ทุกเดือน หรือว่าจะเอาเงินไปเล่นหุ้นเพื่อให้ได้กำไรมากพอก่อน ค่อยเอาไปใช้หนี้
ลองสังเกตในกรณีที่ 2 หากนาย A สามารถนำเงินไปเล่นหุ้นแล้วได้ผลตอบแทน 10% ดูผิวเผินจะเห็นว่าเขาคือนักลงทุนที่เก่งมาก สามารถบริหารเงิน 240,000 ให้กลายเป็น 420,748 ได้ ในเวลา 10 ปี ซึ่งเท่ากับว่าเขาสามารถทำให้เงินลงทุนของเขาโตขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว
แต่ในความเป็นจริง หากนาย A เลือกวิธีที่สองแม้เขาจะเป็นนักลงทุนที่เก่งขนาดนั้น แต่สุดท้ายแล้วเมื่อนำเอาผลตอบแทนทั้งหมดไปหักลบกับหนี้ที่มีอยู่แล้ว ปรากฏว่าเหลือหนี้คงค้างอยู่อีกเกือบ 4 แสน ซึ่งเป็นจำนวนหนี้คงค้างที่มากกว่าการตั้งหน้าตั้งตาปลดหนี้อย่างเดียว(วิธีที่ 1) ประมาณสามแสนบาทเลยทีเดียว
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คิดว่า หากเป็นเรา เราควรจะเลือกแบบไหนดีคะ
วิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้ไม่หลงทาง
ในเมื่อรู้แล้วว่าหนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสดมันน่ากลัวขนาดไหน ขั้นตอนต่อมาคือ ตั้งสติให้ดี เลือกวิธีการปลดหนี้ให้ถูกต้อง จะได้ไม่เสียเวลาใช้หนี้นานเกินความจำเป็น ดังนี้ค่ะ
1. หากมีหนี้หลายที่ ให้พยายามปิดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน
2. ไม่ก่อหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้ประเภทเดิมเพิ่ม !
หากจะกู้เงินเพิ่มเพื่อมากลบปิดหนี้เดิม ควรต้องศึกษาให้ดีว่า ดอกเบี้ยของเงินกู้ใหม่นั้น ต่ำกว่าหนี้เดิมหรือไม่
3. ทันทีที่มีเงินเหลือในแต่ละเดือน อย่าเพิ่งคิดจะเอาไปลงทุนอย่างอื่น (เพราะการลงทุนในสมัยนี้ ให้ได้ผลตอบแทน 20% โดยที่ไม่มีความเสี่ยงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย) ให้เอามาปิดหนี้ประเภทนี้ให้เรียบร้อยก่อน
4. หารายได้เสริม (แบบที่ไม่ใช่การลงทุนที่มีความเสี่ยง) เช่น การรับจ้างสอนหนังสือ, พิมพ์รายงาน , หรืออื่น ๆ ตามความถนัดส่วนตัว
5. ประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เหลือเงินสำหรับปิดหนี้ให้เร็วที่สุด
หากทำได้ตามนี้ได้เร็วเท่าไหร่ เงินที่เหลือหลังจากนั้นก็สามารถนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผลได้เร็วเท่านั้น ทุกอย่างไม่ยากเกินความตั้งใจ และเอาจริงของเรานะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ
สำหรับใครที่ยังไม่มีบัตรเครดิต แล้วกำลังตัดสินใจว่าจะทำดีหรือเปล่า อย่าดูแต่เรื่องของแถมค่ะ ลองพิจารณาดูก่อน ว่าจะมีบัตรเครดิตเพื่ออะไร ...
1. หากเข้าใจว่าบัตรเครดิตเป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น กล่าวคือ มีเงินพอจะจ่ายอยู่แล้ว แต่ไม่อยากพกเงินสดเยอะๆ และต้องการสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะไม่ได้รับหากจ่ายด้วยเงินสด หากมีความคิดในลักษณะนี้ การใช้บัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่อย่างใด
2. หากลองพิจารณาตัวเองแล้วพบว่า อยากจะมีบัตรเครดิต เพื่อที่เดือนไหนไม่มีเงิน จะได้ใช้เงินจากบัตรไปก่อน หรือ มองว่าบัตรเครดิตเป็นแหล่งกู้เงิน กู้มาใช้ก่อน ส่วนเดือนต่อ ๆ ไปจะพอจ่ายหรือไม่ไม่รู้ ค่อยไปว่ากันอีกที หากมีแนวความคิดแบบนี้ขอให้เลิกคิดที่จะมีบัตรเครดิตไปได้เลยค่ะ ... เพราะการคิดแบบนี้แสดงว่าเราไม่สามารถควบคุมตัวเองในการใช้จ่ายได้ มองสั้นๆ แค่วันนี้ ไม่เคยมีการวางแผน ในวันข้างหน้า เริ่มต้นอาจจะยังพอหมุนได้ แต่เมื่อมันพอกหางหมูไปเรื่อย ๆ นานไปหนี้จะยิ่งก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ ตามรูปที่แสดงตัวอย่างให้ดู จากแสนเดียว ก็กลายเป็นล้านได้ พอถึงตอนนั้น อาจถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ ต้องหลบเจ้าหนี้ไปตลอด ชีวิตที่เหลือจะไม่มีความสุขอีกเลย ด้วยความคิดเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรแบบนี้นี่เองค่ะ ....
... แล้วมา “เอนหลังฟังเรื่องเงิน” ในตอนถัดไปกันนะคะ