ค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพ จริงหรือ?

ค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพ จริงหรือ?

ค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพ จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีกระทู้หนึ่งที่น่าสนใจใน pantip เกี่ยวกับค่าแรงที่ดูเหมือนจะสวนทางกับค่าครองชีพ จากกระทู้นี้ https://pantip.com/topic/36141998 และมีผู้สนใจร่วมสนทนาหลายท่าน ก่อนจะตอบกระทู้ขอขยายความของคำว่าค่าครองชีพคืออะไรก่อน โดยค่าครองชีพก็คือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตเพื่อการใช้ชีวิตของผู้คน โดยสำหรับผู้คนในสังคมเมืองก็อาจจะหมายถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ทั้งค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นชนิดต่าง ๆ ซึ่งเมื่อค่าสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ก็ย่อมหมายถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

ดังนั้นกลับมาดูที่ค่าแรง

ค่าแรงก็คือเงินเดือนหรือผลตอบแทนที่ได้จากการทำงานนั่นเอง โดยค่าแรงขั้นต่ำในขณะนี้อยู่ที่ 305 – 310 บาท โดยแบ่งกระจายตามฐานค่าแรงของแต่ละจังหวัด โดยในกรณีที่เจ้าของกระทู้ได้ตั้งข้อสงสัยว่าทำงาน 1 สัปดาห์ก็มีค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการใช้จ่าย เข้าใจว่าหมายความถึงค่าใช้จ่ายตลอดทั้งเดือน โดยค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 305 บาท ทำงานสูงสุดที่ 6 วันต่อสัปดาห์ เท่ากับ 24 วันต่อเดือน ก็จะมีรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 7,320 บาท ในขณะที่ค่าอาหารเฉลี่ยวันละ 120 บาท แต่ละเดือนเท่ากับ 30×120 = 3,600 บาท คิดเป็น 49.18% ของค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว ยังไม่รวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายจิปาถะทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน


ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินเช่นนี้ก็อาจรู้สึกว่าเงินเดือนทั้งสัปดาห์ไม่สามารถเลี้ยงมนุษย์ทำงานได้เพียงพอจริง ๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าชีวิตในปัจจุบันผู้คนใช้เงินอย่างสุ่มเสี่ยงมากเพียงใด โดยอาจแบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ดังนี้


ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงบ้าง

ค่าใช้จ่ายที่เกินตัวของผู้คนนั้นก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหรือซื้อหาที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงเกินตัว อาศัยอยู่กันแค่ 2 คนแต่กลับซื้อบ้านขนาด 4 ห้องนอน เป็นต้น หรือแม้แต่ค่าอาหารที่ต้องเสียไปในแต่ละวัน ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยนั้นติดอันดับต้นของประชากรที่ชอบทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งก็นับเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเลย ลองทำอาหารกินกันเองที่บ้านดู นอกจากจะปรุงรสได้ตามชอบใจแล้ว ยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องของความสะอาดอีกด้วย สำหรับผู้ที่ทำอาหารก็ไม่ต้องกังวล เพราะในปัจจุบันสามารถค้นหาวิธีทำอาหารได้ง่าย ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตกันแล้ว และควรลองจากเมนูง่าย ๆ ดูก่อน เพราะก็ไม่มีใครทำอาหารเป็นโดยไม่เคยลองทำดูก่อนอย่างแน่นอน


ลดการใช้เงินในอนาคตให้น้อยลงบ้าง

เงินในอนาคตนั้นก็คือเงินที่ยังไม่มีอยู่ในมือแต่ก็นำไปใช้เสียแล้ว ซึ่งก็คือการซื้อของเงินผ่อนต่าง ๆ หรือการขอกู้เงินหรือขอสินเชื่อมาใช้นั่นเอง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการซื้อหาสิ่งของที่ต้องการมาได้ง่าย ๆ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็นจริง ๆหรือไม่ หรือในบางกรณีหากเปลี่ยนรุ่นหรือยี่ห้อก็อาจจะช่วยให้ได้สิ่งของที่มีคุณภาพดีในราคาที่ย่อมเยาขึ้นได้เช่นกัน เพราะการใช้เงินในอนาคตที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้หากประสบเหตุไม่คาดฝันทางการเงิน เช่น ตกงาน เกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้ เป็นต้น


ไม่ต้องตามกระแสสังคมหรือกระแสแฟชั่นมากนัก

การทำงานในที่ทำงานที่ต้องพบปะเจอผู้คนมาก ๆ ในบางครั้งก็ทำให้เกิดการแข่งขันด้านข้าวของเครื่องใช้ระหว่างกัน เช่น กระเป๋าใบใหม่ รองเท้าคู่ใหม่ หรือนาฬิกาเรือนใหม่เหล่านี้เป็นต้น ทั้งที่ในบางครั้งของเก่าก็ยังใช้งานได้ดีอยู่เลยอีกด้วย ดังนั้นบางครั้งกรณีที่รู้สึกว่าค่าครองชีพสูงเกินไปนั้น ให้ลองพิจารณาดูว่ามีค่าใช้จ่ายใดเข้าข่ายนี้หรือไม่


หาหนทางพัฒนาและเพิ่มค่าแรงให้ตนเอง

การทำงานในแต่วันไม่ควรทำไปเรื่อยอย่างไรจุดหมาย จบเวลาทำงานแล้วก็ใช้เงินที่หามาได้ ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือว่าทำลายชีวิตทางการงานของใครมาหลายคนแล้ว แต่ควรทำงานโดยคำนึงถึงอนาคตด้วยว่าอยากเป็นอะไรต่อไป หรือโอกาสก้าวหน้าทางสายอาชีพของตนเอง หากเป็นลูกจ้างแต่หากมุ่งมั่นพัฒนาและฝึกฝนตนเอง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ มาให้ตนเองอย่างสม่ำเสมอ โอกาสจะก้าวขึ้นเป็นระดับผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการของตนเองก็ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ยากอีกต่อไป


เก็บออมเอาไว้บ้าง

แม้ว่าเงินจะหายากและไม่พอใช้เพียงใด แต่หากเป็นไปได้ควรอดออมเอาไว้บ้าง อย่างน้อยวันละ 1 – 10 บาทก็ยังดี ดูเป็นจำนวนน้อยแต่หากสามารถทำได้อย่างน้อย 10 บาทต่อวัน ใน 1 ปีก็จะเก็บเงินได้ 3,650 บาทแล้ว หากทำได้ต่อเนื่องสัก 10 ปี ก็จะมีเงิน 36,500 บาทแล้ว นี่คือตัวอย่างขั้นต่ำ หากสามารถทำได้วันละ 20 – 50 บาท จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นแค่ไหน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงอยากแนะนำผู้ที่กำลังกังวลเรื่องค่าแรงสวนทางกับค่าครองชีพว่าอย่ามัวแต่ไปเปรียบเทียบค่าแรงกับค่าครองชีพของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ อยู่เลย ควรลองกลับมาพิจารณาตนเองด้วยว่าใช้จ่ายอย่างเกินตัว หรือเสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากน้อยเพียงใดหรือไม่ หรือได้ลองหาหนทางเพิ่มรายได้ให้ตนเองเพิ่มเติมแล้วหรือยัง ขอให้ลองพิจารณาในมุมกว้างดูว่าจะมีจัดการอย่างไรให้ค่าแรงและค่าครองชีพเกิดความสมดุลระหว่างกัน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ประหยัดให้มากขึ้นและพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้รับค่าแรงหรือเงินเดือนที่มากขึ้นน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่เร็วที่สุดและดีกว่าการรอคอยการแก้ปัญหาจากระดับนโยบายซึ่งไม่มีกำหนดว่าเมื่อไหร่ และไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นอย่างที่ต้องการหรือไม่

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook