ธ.ออมสินคาดมิ.ย.แก้หนี้นอกระบบครบทั้งหมด
ธนาคารออมสินคาดแก้หนี้นอกระบบให้ประชาชนครบทั้งหมดได้สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ขณะผลประกอบการมีกำไรแตะ 8,665 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ว่า ที่ผ่านมาได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม นี้ ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนรวมกว่า 140,000 ราย วงเงิน 6,600 ล้านบาท ยื่นเอกสารพร้อมแล้วเกือบ 100,000 ราย อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 15,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 541 ล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถอนุมัติได้ครบวงเงินกู้ได้หมดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ส่วนผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 (1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2560) ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 8,665 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ย ตั้งเป้าทั้งปีกำไรสุทธิประมาณ 21,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 อยู่ที่ 1,975,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากสิ้นปี 2559 ตั้งเป้าทั้งปีสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 3 หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 58,000 ล้านบาท และเงินฝากตั้งเป้าปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3 เพิ่มขึ้น 64,000 ล้านบาท
ธ.ออมสินชี้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น
นายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยในตลาดว่า อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงเดือน มิ.ย.59 และมีแนวโน้มจะเริ่มเป็นขาขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละภูมิภาคที่จะมีความแตกต่างกันไป พร้อมมองว่าในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน และมีโอกาสที่จะได้เห็นในช่วงปลายปีหรือต้นปี 61 โดยธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับร้อยละ 3 อย่างแน่นอน ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐแคบลง เงินทุนจะไม่ไหลเข้าประเทศไทย แต่ในทางกลับกันจะเป็นการไหลออกของเงินทุน ดังนั้นจึงมีคำถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเช่นในปัจจุบันไว้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.9 ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.5-4 ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสมควรที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต