ทายาท 6 ลำดับ ผู้มีสิทธิรับมรดก ตามกฎหมาย

ทายาท 6 ลำดับ ผู้มีสิทธิรับมรดก ตามกฎหมาย

ทายาท 6 ลำดับ ผู้มีสิทธิรับมรดก ตามกฎหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแย่งชิงกันทรัพย์มรดกนั้น มีให้เห็นอยู่ในละครไทยกันแทบทุกเรื่อง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าจริงๆแล้วทรัพย์มรดกคืออะไร ผู้มีสิทธิรับมรดก จะเป็นใครได้บ้าง TerraBKK ขอพาท่านไปดูข้อกฎหมายกัน รายละเอียดดังนี้

1. เมื่อบุคคลใดตายกองมรดกย่อมตกแก่ทายาททันที

ตามกฎหมายไทยนั้นเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกแก่ทายาท ไม่ว่าการตายนั้นจะตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยผลของกฎหมาย(สาบสูญ)
ส่วนกองมรดกนั้นได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดที่ผู้ตายมีอยู่ “ก่อน” ถึงแก่ความตาย ตลอดจนทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดอื่นๆที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และความรับผิดนั้นจะเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตัวอย่างเช่น ความรับผิดทางอาญา หรือความเป็นนายจ้างลูกจ้าง เป็นต้น

ดังนั้นหากเป็นทรัพย์สินที่ได้มา “หลัง” เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่ได้มานั้นไม่ถือเป็นมรดกไม่จำต้องแบ่งให้แก่ทายาท เช่น เงินที่ได้จากการประกันชีวิต หรือเงินค่าทำศพที่ได้จากองค์กรต่างๆ เป็นต้น ในกรณีนี้ทายาทไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันชีวิตได้ในฐานะที่เป็นทรัพย์มรดก ส่วนบุคคลใดจะได้เงินจากประกันชีวิตนั้นย่อมเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

2. ทายาทตามกฎหมายมีอยู่ 2 ประเภท

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ “ผู้รับพินัยกรรม” และ “ทายาทโดยธรรม”

3. ผู้รับพินัยกรรม

สิทธิของผู้รับพินัยกรรมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ก่อนตายเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นเสียแต่ว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นตกเป็นอันไร้ผลตามกฎหมาย เช่น ผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ต้องปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้นสู่กองมรดกเพื่อแจกจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไป และบุคคลที่เคยมีชื่อเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้เช่นกัน

4. ทายาทโดยธรรม

สิทธิของทายาทโดยธรรมในการรับมรดกนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ตายตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำไว้แต่พินัยกรรมนั้นไร้ผลตามที่กล่าวมาข้างต้น และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นมีสภาพบุคคล คือ เกิดเป็นทารกแล้วในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนกรณีของทารกในครรภ์มารดาก็อาจเป็นทายาทโดยธรรมได้ หากภายหลังได้คลอดเป็นทารกภายใน 310 วัน นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

5. ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ

การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมนั้นต้องแบ่งตามลำดับชั้นดังต่อไปนี้

5.1 ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
5.2 บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
5.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
5.4 พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือที่เรามักเรียกกันว่า “พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่” นั่นแหละ
5.5 ปู่ ย่า ตา ยาย
5.6 ลุง ป้า น้า อา

อย่างไรก็ตาม คู่สมรสก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน เพียงแต่ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามลำดับข้างต้นนี้ โดยจะมีกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นกรณีพิเศษ เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านที่เป็นสุภาพสตรี หากมีคู่ครองแนะนำให้จดทะเบียนสมรสนะครับ จะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่

6. การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมใช้หลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง”

ทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับนั้นไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน เพราะหากทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย

ตัวอย่างเช่น บุตรของเจ้ามรดกถือเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก ฉะนั้นตราบใดที่บุตรคนดังกล่าวยังไม่แก่ความตาย ทายาทตั้งแต่ลำดับที่ 3 ลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลยไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วน นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการฆ่ากันเพื่อแย่งมรดกตามที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือละครหลังข่าว ส่วนทายาทในลำดับที่ 2 นั้นหากยังมีชีวิตอยู่ กฎหมายให้สิทธิร่วมรับมรดกกับทายาทลำดับที่ 1 ได้

นอกจากนี้ ถ้าทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันนั้นมีหลายคน ทายาทเหล่านั้นย่อมได้ส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกคนละเท่าๆกัน และหากบุคคลใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรม มรดกของบุคคลนั้นย่อม ตกทอดแก่แผ่นดิน

ตามที่กล่าวมานี้เป็นเพียงภาพรวมของการรับมรดกตามกฎหมายเท่านั้น ยังมีข้อกฎหมายอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวไว้ ณ ทีนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมรดกแล้ว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นิติกรศาลยุติธรรมทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานอัยการ(คุ้มครองสิทธิ)ทั่วประเทศได้เช่นกัน หรือถ้าไม่อยากใช้ภาษีของตัวเองเพราะกลัวว่าจะล่าช้า ก็สามารถปรึกษาทนายความได้เช่นกันครับ .. แล้วพบกับสาระทางกฎหมายดีๆกันได้ใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ

อ้างอิงข้อมูล : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก

 terra2905601

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook