ก๊าซเอ็นจีวี รอวันตาย รัฐเลิกอุ้ม

ก๊าซเอ็นจีวี รอวันตาย รัฐเลิกอุ้ม

ก๊าซเอ็นจีวี รอวันตาย รัฐเลิกอุ้ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวีรอวันตาย หลังราคานํ้ามันตํ่า รถบรรทุกเลิกใช้กระทบยอดใช้เอ็นจีวีทรุดฮวบ กระทรวงพลังงานจ่อทบทวนแผนส่งเสริม ยกเลิกการใช้บัตรส่วนลดรถยนต์สาธารณะ ลดภาระให้ปตท.เดือนละเกือบ 200 ล้านบาท



ราคาขายปลีกนํ้ามันดีเซลที่อยู่ระดับ 25 บาทต่อลิตร มีผลให้การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ปรับลดลงต่อเนื่อง และส่งผลให้อู่ติดตั้งถังก๊าซเอ็นจีวีทยอยปิดกิจการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยล่าสุดพบว่ายอดใช้เอ็นจีวีเหลือเพียง 6,400 ตันต่อวัน เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 7,600 ตันต่อวันลดลง 15.5% เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้นํ้ามันแทน แต่ก็ยังมีรถยนต์ที่ยังใช้เอ็นจีวีอยู่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มรถสาธารณะ รถแท็กซี่ ที่ได้รับส่วนลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี 2 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถล้างขาด ทุนสะสมจากการแบกรับภาระเอ็นจีวีที่กว่า 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับความไม่สะดวกสบายในการบริการ อัตราการสิ้นเปลืองที่มากกว่านํ้ามัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการใช้เอ็นจีวีลดลง

โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่าจากปัจจัยที่กล่าวมาดังกล่าว อาจจะต้องมีการทบทวนส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถยนต์

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมเตรียมปรับแผนเอ็นจีวี หลังพบว่ายอดเอ็นจีวีในภาคขนส่งลดลงอย่างมาก โดยในช่วง 1-2 ปีราคานํ้ามันทยอยปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนทยอยถอดถังเอ็นจีวีออกแล้วหันมาใช้นํ้ามันแทน เนื่องจากราคานํ้ามันตํ่า อีกทั้งจำนวนสถานีบริการเอ็นจีวีลดลงเหลือเพียง 462 แห่ง เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 488 แห่ง เนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีแผนการลงทุนก็ตาม

โดยปัจจุบันกำลังการผลิตเอ็นจีวีของ ปตท. อยู่ที่ 9,000 ตันต่อวัน แต่ยอดใช้น้อยลงมาก ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าจะปรับแนวทางการใช้เอ็นจีวีในภาคขนส่งอย่างไรต่อไป อาทิ เตรียมหารือกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานพิจารณายกเลิกการใช้บัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวีหรือไม่ ขณะที่จำนวนสถานีบริการก็คงไว้ที่ระดับปัจจุบัน ไม่เพิ่มขึ้น เพราะหากยกเลิกกิจการสถานีบริการเอ็นจีวี ย่อมกระทบกับแรงงาน รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งเอ็นจีวีด้วยว่าจะปรับตัวกันอย่างไร หรือนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไป ซึ่งแนวทางดำเนินการ ว่าจะปรับอะไรบ้างนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ปีนี้

“ปริมาณการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเริ่มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณเอ็นจีวีลดลงด้วย ประกอบกับจำนวนรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีทยอยหมดอายุลง ทำให้การตัดสินใจที่จะกลับมาใช้เอ็นจีวีอีกน้อยลง ดังนั้น ปตท. จำเป็นต้องปรับตัวในกิจการเอ็นจีวี ส่วนจะยกเลิกกิจการปั๊มเอ็นจีวีหรือไม่นั้น คงไม่ยกเลิก เพราะจะกระทบกับแรงงาน ดังนั้นในส่วนของปั๊มเอ็นจีวีก็ยังคงไว้ แต่คงไม่ขยายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บัตรส่วนลดคงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจะยกเลิกหรือไม่” นายวิฑูรย์ กล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยอดใช้เอ็นจีวีเดือนเมษายน 2560 อยู่ที่ 6.4 พันตันต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ขณะนี้จำนวนสถานีบริการเอ็นจีวีทั้งสถานีแม่และเอกชน รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 504 แห่ง ปัจจุบันมีรถยนต์เอ็นจีวีที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก สะสมอยู่ที่เกือบ. 4 แสนคัน

สำหรับบัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวี (สำหรับรถโดยสารสาธารณะ) อยู่ที่ 9.46 หมื่นราย ซึ่งพบว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จำนวนเงินที่ให้ส่วนลด 185 ล้านบาท หรือคิดเป็นเอ็นจีวี 2 พันตันต่อวัน โดยจำนวนเงินสะสมที่ให้ส่วนลดราคา (ม.ค.2554-เม.ย. 2560) อยู่ที่ 9,950 ล้านบาท

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากปตท.ปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีปัจจุบันอยู่ที่ 13.05 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้กลุ่มรถบรรทุกกลับไปใช้นํ้ามันดีเซลแทน เพราะต้นทุนขนส่งไม่ต่างกันมากนัก ขณะที่รถบรรทุกที่ใช้เอ็นจีวีก็จะจอดไว้ หากจำเป็นจึงนำออกมาใช้ ดังนั้น หากสถานการณ์ราคานํ้ามันดีเซลยังอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร และราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ระดับดังกล่าว เชื่อว่าความต้องการใช้เอ็นจีวีในภาคขนส่งจะลดลงเรื่อยๆ อาจเห็นที่ระดับ 5-5.5 พันตันต่อวันภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น ต้องการให้ ปตท.ทบทวนราคาขายปลีกเอ็นจีวีลดลงมาอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อกระตุ้นการใช้ในภาคขนส่ง ขณะที่บัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวีภาครัฐให้เพียงกลุ่มรถโดยสารสาธารณะเท่านั้น หากยกเลิกก็ยิ่งทำให้ความต้องการใช้เอ็นจีวีลดลงอีก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3266 ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 2560 สื่อในเครือสปริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook