เปิดขุมทรัพย์ 3 บิ๊กทุนไทย เทคโอเวอร์ 67 โรงแรมต่างประเทศ
การซื้อ-ขายแบรนด์โรงแรมในต่างประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นเพียงกลยุทธในการเพิ่มแบรนด์โรงแรม และการขยายจำนวนโรงแรมในมือ ของกลุ่มธุรกิจรับบริหารโรงแรมชั้นนำของต่างประเทศดังที่เราจะเห็นเชนแมริออท เข้าไปซื้อแบรนด์สตาร์วู้ด จนขึ้นแท่นเครือโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยห้องพักรวมกันมากกว่า 1.1 ล้านห้องทั่วโลก หรือ เชนแอคคอร์ โฮเทล ไปซื้อหุ้นของของ FRHI Hotels & Resorts (FRHI) จนเพิ่ม 3 แบรนด์โรงแรมระดับหรู อย่างโรงแรมแฟร์มองต์ราฟเฟิลส์และสวิสโซเทลเข้ามาอยู่ในเครือแอคคอร์ฯเท่านั้น
ในส่วนของกลุ่มทุนไทยเอง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะเริ่มเห็นการรุกคืบของกลุ่มทุนโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย เข้าปักธงเป็นเจ้าของโรงแรมในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยการเข้าไปลงทุนก็จะเป็นในลักษณะคล้ายกับกลยุทธที่เชนโรงแรมต่างประเทศใช้ นั่นก็คือการเข้าไปซื้อเชนหรือแบรนด์ที่มีอยู่ เพื่อจะได้เป็นเจ้าของโรงแรมหลายๆแห่งในคราวเดียว ไม่ใช่เป็นการเข้าไปซื้อเพียง 1-2 แห่งเหมือนในอดีต
ซื้อรร.ในยุโรป-อเมริกาใต้
โดยกลุ่มที่ลงทุนในลักษณะนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่ามี 3 กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มแรก คือ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้นอยู่ 35.64%ที่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เพิ่งจะปิดดีลซื้อเชนโรงแรมใหญ่ในยุโรป มูลค่าการลงทุนกว่า 1.23 หมื่นล้านบาท โดยการเข้าซื้อกิจการผ่านบริษัทย่อยของ บมจ. ยู ซิตี้ในประเทศออสเตรีย คือ Vienna House Capital GmbH หรือ วีเอชแคปปิตอล (VH Capital)โดย ยู ซิตี้ ถือหุ้น 100% ธุรกิจโรงแรมภายใต้บริษัท Vienna International Hotel Management AG หรือ เวียนนา เฮ้าส์ (Vienna House) ซึ่งเป็นโรงแรมที่เน้นกลุ่มธุรกิจและเพื่อการพักผ่อน จำนวน 16 แห่ง รวมถึงโรงแรมในเครือของบริษัท WarimpexFinanz- und Beteiligungs AG หรือ วอริมเพ็กซ์(Warimpex) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติออสเตรียและโปแลนด์ อีก 8 แห่ง
กลุ่มที่ 2 คือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เมื่อปีที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ กลุ่มทิโวลี โฮเทลแอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโรงแรมแบรนด์ดังจากประเทศโปรตุเกสทำให้เป็นเจ้าของโรงแรมทั้งสิ้น 14 แห่งในประเทศโปรตุเกสและบราซิล ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 294.2 ล้านยูโรหรือกว่า 1.15 หมื่นล้านบาท
กลุ่มที่ 3 คือ การร่วมมือระหว่าง สิงห์ เอสเตทและฟิโก้ คอร์เปอเรชั่น ที่เมื่อปี2558 ได้ลงทุนร่วมกันในสัดส่วน 50:50 จัดตั้งบริษัทเอฟเอส เจวี โค จำกัด เพื่อเข้าร่วมทุนในกิจการโรงแรมจูปีเตอร์ โฮเทล โฮลดิ้ง จำกัด จากพาทรอน แคปปิตัล มูลค่า 154.77 ล้านปอนด์ หรือราว 8,598.60 ล้านบาท จนกลายเป็นเจ้าของโรงแรม 26 แห่งในสหราชอาณาจักร รวม 2,800 ห้องภายใต้แบรนด์เมอร์เคียว (โรงแรมระดับ 3.5 ดาว)ไปแล้ว แต่ความร่วมมือระหว่างกันก็ยังมีต่อเนื่อง จนถึงปลายปี 2559 โดยได้ร่วมกันลงทุนอีกราว 562 ล้านบาท ในการซื้อโรงแรมอีก 3 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยเป็นฮอลิเดย์อินน์ อีก 2 แห่ง และเมอร์เคียว อีก 1 แห่ง ทำให้กลุ่มนี้มีโรงแรมในสหราชอาณาจักรร่วม 29 แห่ง
3 ปีรวมรร.ในมือ 67 แห่ง
หากรวมจำนวนโรงแรมในมือของ 3 กลุ่มทุนรายใหญ่นี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็มีถึง 67 แห่ง มูลค่าการลงทุนร่วม 3.26 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าไปลงทุนของกลุ่มทุนไทยเหล่านี้ หากเป็นกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมอยู่แล้ว อย่างไมเนอร์ฯ วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อขยายธุรกิจโรงแรมในมือ และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อไม่ให้มีเฉพาะโรงแรมในประเทศไทยเป็นหลัก ส่วนการเข้าไปลงทุนโรงแรมในต่างประเทศของอีก 2 กลุ่ม จะเป็นในลักษณะเพื่อการมุ่งสร้างรายได้ระยะยาวเป็นหลัก ในฐานะเจ้าของโรงแรมเท่านั้น แต่การบริหารโรงแรมก็ยังคงดำเนินการโดยผู้บริหารเดิมนั่นเอง
“การลงทุนซื้อกิจการโรงแรมของยู ซิตี้ในครั้งนี้ เราได้ทั้งตลาดท่องเที่ยวในยุโรปที่แข็งแกร่งและมีมาอย่างยาวนานและตลาดที่จัดได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ของชาวยุโรป อาทิ เยอรมัน โปแลนด์ ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเชค ซึ่ง ยู ซิตี้ จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตที่น่าสนใจของตลาดดังกล่าวในการสร้างรายได้ระยะยาว และล่าสุดรายงานของ STRGlobal สถาบันรายงานสถิติโรงแรมทั่วโลกระบุว่า ในช่วง4 เดือนแรกของปี 2560 โรงแรมในแถบยุโรปโชว์การเติบโตผ่านตัวชี้วัดสำคัญ อัตราการเข้าพัก (Occupancy) เพิ่มขึ้น 3% ขณะที่ อัตราราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) เพิ่มขึ้น 2.5% และรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) เพิ่มขึ้นถึง 5.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา” นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)กล่าว
แบร็กซิท เอื้อซื้อธุรกิจ
ด้านนายกฤษน์ ศรีชวาลาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบัน ฟิโก้และสิงห์เอสเตท มีธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักร รวม 29 แห่ง ซึ่งการอ่อนค่าของเงินปอนด์ อันเป็นผลจากการลงประชามตินำอังกฤษจะออกจากอียูเป็นผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแผนลงทุนในประเทศอังกฤษรวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งผมก็มองหาการซื้อโรงแรมเพิ่มอีกในอังกฤษ และยุโรปอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีหลายอ็อพชั่นที่พิจารณาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอง หรือจะร่วมลงทุนกับทางสิงห์เอสเตท เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มเติม
ขณะที่ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองปรธานฝ่ายวางแผนกลยุทธ บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การซื้อกิจการทิโวลี จัดว่าเป็นการลงทุนในต่างประเทศครั้งล่าสุดของบริษัท ตามแผนกลยุทธระยะยาวเพื่อกระจายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันเรามีโรงแรมในเครือทั้งสิ้นกว่า 145 แห่งใน 22 ประเทศ
ทั้งหมดล้วนเป็นการลงทุนธุรกิจโรงแรมของ 3 กลุ่มทุนใหญ่ ที่มีการลงเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำในการเข้าไปซื้อโรงแรมในต่างประเทศพร้อมกันหลายแห่งในคราวเดียว ยังไม่นับรวมการเข้าไปขยายธุรกิจโรงแรมของคนไทย ในลักษณะการรับบริหารโรงแรมในต่างประเทศ ของเชนโรงแรมไทย ไม่ว่าจะเป็น ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ,ออนิกส์ ฮอสพิทาลิตี้ หรือเซ็นทารา มีแผนจะเปิดโรงแรมในต่างประเทศกันอีกหลายแห่งจากดีลการเข้าไปรับบริหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560