ส่องร่างฯปรับปรุง บัตรทอง ,30 บาทรักษาทุกโรค ก่อนไปประชาพิจารณ์
การปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง ตามแนวคิดของรัฐบาล คสช. ซึ่งได้ประกาศมาตั้งแต่ต้นปี ว่า ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยเท่าเดิม และ ให้สามารถคงหลักประกันสุขภาพฯให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน มาถึงวันนี้ คณะกรรมการร่างได้จัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. เป็นที่เรียบร้อย
โดยขั้นตอนต่อไป คือ จะนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือที่เรียกกันว่า การเปิดประชาพิจารณ์ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนด ซึ่ง ทางคณะกรรมการได้กำหนดเวทีรับฟังความคิดเห็นไว้ 4 เวทีหลัก และ เวทีแรกที่จะเปิดรับฟังความเห็นคือ ในวันเสาร์ที่ 10 มิ.ย. 2560 ที่ อำเภอหาดใหญ่ จ. สงขลา และ ถัดมาในวันอาทิตย์ที่ 11 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 จัดในวันเสาร์ถัดไปคือ 17 มิ.ย. ที่จังหวัดขอนแก่น และเวทีสุดท้ายกลับมาที่กรุงเทพ ที่ศูนย์การประชุมเซ็นทรา แจ้งวัฒนะ
ประชาชนผู้มีสิทธิและประชาชนที่สนใจ สมควรอย่างยิ่งที่จะไปร่วมกันแสดงความคิดเห็น ไปแสดงออกถึงการปรับปรุงว่า ควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิการรับบริการสาธารณสุขตามสิทธิ ได้รับประโยชน์สูงสุด ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์ และเป็นการตรวจสอบ ว่าบรรดาข่าวลือต่างๆนานาว่า จะมีการยุบ ยกเลิกบัตรทอง หรือ ได้รับสิทธิน้อยลง หรือไม่อย่างไร
วันนี้เรามาดูประเด็นเบื้องต้นที่คณะกรรมการร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เปิดออกมาว่าเป็นอย่างไร บ้าง กระทบกับประชาชนผู้ได้รับสิทธิหรือไม่อย่างไร
ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...)พ.ศ..... มีการแก้ไขปรับปรุง อาทิ
1.บริการสาธารณสุข ให้หมายความรวมถึงการสนับสนุนการจัดบริการสสาธารณสุขด้วย ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค้าข้าง ค่าตอบแทน เป็นต้น ,ค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยในและบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
2.ในหมวด 2 ที่เกี่ยวกับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนผู้แทนสภาวิชาชีพเพิ่มจาก 5 คนเป็น 6 คน โดยเพิ่มผู้แทนสภาการแพทย์แผนไทย อีกทั้ง เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการจำนวน 7 คน จากเดิมที่ไม่มี ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริกรภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยบริการสังกัดสธ. ได้แก่ ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)หรือโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนหน่วยบริหารสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ ผู้แทนหน่วยบริการสังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยบริการสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างละ 1 คน นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯในส่วนที่กำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตและอัตราค่าบริการสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงต้นทุนการบริการด้วย
3. ในหมวด 3 ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม นอกจากเงินงบประมาณให้สำนักงานมีรายได้ เช่น เงินอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศและที่มีผู้บริจาค ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน เป็นต้น และไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
* 4. หมวด 4 ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก้ไขในมาตรา 41 จากเดิมที่ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเฉพาะผู้รับบริการ เพิ่มเป็น ให้การช่วยเหลือทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
และ 5. หมวด 6 ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ใน(4)มาตรา 50 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ จากเดิมที่ให้เสนอแนะอัตราราคากลางของโรคทุกโรค เพิ่มเป็นเสนอแนะอัตราราคากลางสะท้อนต้นทุนการให้บริการที่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ของโรค โดยต้องเสนอแนะให้มีการทบทวนอัตราราคากลางอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เป็นต้น
• จากร่างดังกล่าว จะเห็นว่า ยังไม่มีประเด็นใด ๆ ในการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพฯฉบับนี้ เกี่ยวกับ หมวดสิทธิการรับบริกรสาธารณสุข แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนต้องให้ความสนใจ และ ไปร่วมกับเวทีการรับฟังความคิดเห็น ไปตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพื่อรักษาประโยชน์ของตน และเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อให้มีการปรังปรุง ที่ตรงประเด็นและ ทำให้หลักการของการดูแลหลักประกันในการดูแลบริการสาธารณสุขเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้สิทธิซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย มากที่สุด