มาทำความรู้จักกับอคติทางการเงิน เพื่อการตัดสินใจลงทุนที่ดีขึ้น (2)
ตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักอคติทางการเงินตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งเหตุผลที่เราต้องมาเรียนรู้ถึงเรื่องนี้ เพราะคนโดยส่วนใหญ่คิดด้วยเหตุผล แต่มักจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) การยอมรับว่าเรามักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ทำให้เรารู้ตัวว่า เมื่อมีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง อาจทำให้การตัดสินใจของเราเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุน อคติทางการเงินที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง มาติดตามกันต่อได้เลยค่ะ
Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจม คือ ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้วในอดีต และไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคตเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกต้นทุนในส่วนนั้นคืนมาได้ เป็นอคติที่มักพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากเราซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ตราคา 2,000 บาทไปแล้ว ถึงวันงานเราเกิดไม่สบายขึ้นมา เราต้องตัดสินใจว่าจะไปดูคอนเสิร์ตนี้ดีหรือไม่ สิ่งที่เราต้องตัดสินใจคือ เราไปไหวมั้ย และถ้าหากไป จะทำให้อาการไม่สบายของเราเป็นมากขึ้นหรือไม่ เทียบกับความสนุกสนานที่ได้ไปดูคอนเสิร์ต แต่หลายคนกลับเลือกที่จะไปดูคอนเสิร์ตเพราะเสียดายเงิน ในกรณีนี้เงินค่าตั๋วเป็นต้นทุนจมไปแล้วค่ะ ซึ่งไม่ควรนำมาพิจารณา
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเราซื้อหุ้นไปแล้ว ราคาหุ้นที่เราซื้อมาถือว่าเป็นต้นทุนจม สิ่งที่เราต้องพิจารณาว่าจะถือหุ้นตัวนี้ต่อไปดีหรือไม่คือ พื้นฐานของกิจการ การเจริญเติบโต และความสามารถในการทำกำไรของกิจการในอนาคตต่างหาก ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าหุ้นตัวนี้ไม่มีอนาคตอีกต่อไป เราก็ต้องขายหุ้นนี้ค่ะ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ตัดใจขายเพราะเสียดายต้นทุนที่ตัวเองซื้อมา (ซึ่งเป็นต้นทุนจมไป
Choice-Supportive Bias หรือการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ เลยค่ะที่เราจะเข้าข้างตัวเองและมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจความคิดอื่นๆ หรือหาเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อที่จะสนับสนุนและปกป้องการตัดสินใจแรกที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว เพราะโดยธรรมชาติเรามักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด เช่น คนส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดใจขายหุ้นที่ขาดทุนไปได้ เพราะไม่อยากยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด จึงพยายามหาเหตุผลต่างๆ มาเข้าข้างตัวเองว่า ราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นแค่เพียงชั่วคราว เดี๋ยวราคาก็กลับมา หรือเดี๋ยวก็กลับมามีกำไรได้ เป็นต้น ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดผลขาดทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราต้องลองตรวจสอบการตัดสินใจลงทุนของตัวเองดูนะคะว่า มีแนวโน้มที่จะมีอคติทางการเงินต่างๆ ที่นิได้เล่าให้ฟังกันบ้างหรือไม่ เพราะอคติเหล่านี้อาจส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนของเราไม่เป็นไปอย่างที่คาดได้ นอกจากนี้เราสามารถลดอคติหรืออารมณ์ในการลงทุนได้ โดยการใช้ระบบในการลงทุน เช่น การทำ Dollar Cost Average (DCA) หรือการลงทุนตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนรายเดือน เป็นต้น เพราะการลงทุนแบบนี้จะช่วยให้เรามีวินัยในการลงทุน และสามารถขจัดอารมณ์ในการลงทุนได้ด้วยค่ะ
หากสนใจทดลองวางแผนเกษียณอายุ นิมีโปรแกรมคำนวณการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ชื่อว่า Investnow Starter มาแนะนำด้วยค่ะ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คุณสามารถทดสอบได้ว่าตนเองจะมีเงินใช้ตอนเกษียณอย่างเพียงพอหรือไม่ และสามารถวางแผนการจัดพอร์ตแบบง่ายๆ ให้ด้วยค่ะ สามารถเข้าไปทดลองวางแผนเกษียณอายุได้ที่ www.set.or.th/investnowstarter
สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงิน สามารถส่ง email มาได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ
ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า