15 คำตอบต้องห้าม ถ้าอยากได้งานอย่าเผลอหลุดปาก

15 คำตอบต้องห้าม ถ้าอยากได้งานอย่าเผลอหลุดปาก

15 คำตอบต้องห้าม ถ้าอยากได้งานอย่าเผลอหลุดปาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต่อให้ทำการบ้าน เก็งคำถามคิดคำตอบก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์งานมาดีแค่ไหน แต่เมื่อถึงเวลาต้องลงสนามสัมภาษณ์จริง หลายคนยังไม่วายตกม้าตาย เพราะประหม่าปล่อยให้สติกระเจิง จนเผลอตอบคำถามที่ไม่เข้าท่า หรือ ดิสเครดิตตัวเองแบบไม่ตั้งใจจนทำให้ชวดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดาย

เพื่อให้นัดสัมภาษณ์งานครั้งหน้าของคุณผ่านฉลุยดั่งใจคิด เราได้รวบรวมประสบการณ์จริงจากปากของเหล่าผู้นำองค์กรในหลายหลายสาขาอาชีพที่พบเจอในห้องสัมภาษณ์มารวบยอดเป็น 15 คำตอบที่ผู้สัมภาษณ์ไม่อยากได้ยินจากคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ป้ายแดง หรือ คนที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมาแล้วอย่างโชกโชน

1.”ฉันลาออกจากงานเก่า เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานแย่ แถมนายเก่ายังเป็นพวกจอมบงการ”
หนึ่งในกฏเหล็กที่ต้องจำให้ขึ้นใจเวลาไปสัมภาษณ์งาน คือ อย่าพูดถึงที่ทำงานเก่าในแง่ลบ เพราะทุกบริษัทย่อมไม่ปรารถนาที่จะได้บุคคลากรที่มีทัศนคติแง่ลบติดตัวตั้งแต่วันแรกที่ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรด้วยซ้ำ และอย่าหวังจะใช้ห้องสัมภาษณ์เป็นเวทีประจานเจ้านายเก่าให้หายแค้น เพราะการวิจารณ์เจ้านายเก่านั้น เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่บรรดาคนสัมภาษณ์ยกให้เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจที่สุด เพราะฉะนั้นต่อให้คุณจะผ่านเรื่องแย่ๆอะไรมาจากที่ทำงานเก่าหรือเจ้านายเก่ามาแค่ไหน คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาแถลงไข

2.“อากาศข้างนอกแย่เป็นบ้า”
คำพูดที่ใช้ระบายอารมณ์เหล่านี้ คุณอาจระเบิดออกมาได้เวลาอยู่กับก๊วนเพื่อนสนิท แต่ไม่ใช่กับคนที่กำลังจะสัมภาษณ์งานคุณ

3.“เหตุผลที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ เพราะยังไม่เจอที่ที่ใช่ และท้าทายพอ”
คุณอาจจะคิดว่า คำตอบนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจในความมุ่งมั่นเพื่อตามหางานที่ราวกับเป็นจิ๊กซอร์ส่วนที่หายไปของชีวิต แต่ความจริงแล้ว คำตอบนี้กลับทำให้คุณดูเป็นพวกไร้จุดหมายในชีวิต แถมยังดูเป็นคนขี้แพ้ ยิ่งกว่านั้นยังจุดประกายให้เกิดคำถามใหญ่ในใจของผู้สัมภาษณ์ว่า แล้วตำแหน่งงานที่คุณกำลังสัมภาษณ์อยู่ตอนนี้ จะใช่สำหรับคุณหรือยัง

4. “บริษัทของคุณดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอะไรและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไหน”
กฎพื้นฐานของการสัมภาษณ์งานคือ อย่าตั้งคำถามอะไรก็ตามที่คุณสามารถหาคำตอบได้จาก กูเกิ้ล เพราะเท่ากับคุณกำลังแบไต๋ให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่าคุณไม่ทำการบ้านสักนิดก่อนมาสัมภาษณ์

5.“ผลงานทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นฝีมือของผม”
หากคุณกำลังสัมภาษณ์งานในตำแหน่งระดับผู้บริหาร หรือ หัวหน้าแผนก อย่าเผลอดิสเครดิสตัวเองด้วยการเยิ่นยอผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาว่าเป็นผลงานของคุณล้วนๆ เพราะต่อให้คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกยังยอมรับเลยว่าทีมที่ดีมีส่วนสำคัญผลักดันให้งานไปถึงเป้าหมาย

6. “อย่าพูดในสิ่งที่ไม่รู้จริง”
การพูดอย่างไม่คิด หรือพูดในสิ่งที่ไม่รู้จริงเพื่อให้ตัวเองดูดี ยิ่งทำให้คุณดูแย่ในสายตาผู้สัมภาษณ์

7.“บริษัทของคุณมีนโยบายเกี่ยวกับวันหยุดอย่างไร”
คำถามที่ฟังดูชิลๆนี้ อาจกลายเป็นธนูอาบยาพิษที่พุ่งสู่ผู้สัมภาษณ์ได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะแค่ยังไม่เริ่มงานคุณก็เผยไต๋แล้วว่า ในหัวของคุณมีแต่เรื่องวันหยุด ขณะที่ขุนพลที่บริษัทมองหาคือคนพร้อมนำพาบริษัทให้เติบโต

8.“ขอโทษครับ ผมไม่ใช่คนตรงเวลาเท่าไหร่”
เบื้องหลังนิสัยตรงต่อเวลา คือ เครื่องสะท้อนถึงความมีวินัยอย่างยิ่งยวดของคุณ หากลำพังวินัยในตัวเองยังสร้างไม่ได้ อย่าหวังว่าชนะใจผู้สัมภาษณ์จนยอมรับคุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

9.“คุณมีหนุ่มหล่อสาวสวยในออฟฟิศบ้างมั้ย”
คำพูดทำนองนี้ อาจดูเป็นมุกสร้างความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน แต่เมื่ออยู่ในห้องสัมภาษณ์ กลับทำให้คุณดูไม่เป็นผู้ใหญ่เอาซะเลย

10.“ขอบข่ายความรับผิดชอบของผมคืออะไร?”
ตำแหน่งงานที่มาสัมภาษณ์อาจจะกำหนดกรอบในการทำงานให้คุณคร่าวๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องติดกับกรอบนั้นจนเกินไป ในทางกลับกันควรเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะหากคุณมาสมัครงานในบริษัทเล็กๆ แน่นอนว่าคนที่องค์กรมองหาต้องเป็นพร้อมที่จะยืดหยุ่นและปรับตัว ซึ่งหากคุณแสดงออกให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในตัวคุณ

11.“คุณมีหลานหรือเปล่า”
ข้อความระวังในการสร้างความเป็นกันเองกับผู้สัมภาษณ์คือ อย่าตั้งคำถามที่ล้ำเส้น หรือ ละเมิดความเป็นส่วนตัว

12.“ผมเป็นกูรู/ฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญ”
เด็กยุคมิลเลนเนียมมักประเมินตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะหวังจะแสดงศักยภาพที่มี แต่หลายครั้งกลับมากเกินไปจนดูเป็นการโอ้อวด เพราะฉะนั้นสัมภาษณ์งานคราวหน้า แทนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นกูรู ลองลดระดับลงมาใช้คำว่าสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น หรือสนุกกับการเรียนรู้จะดีกว่า

13.“ฉันไม่ได้อัพเดตบล็อกของฉันมา 1 ปีแล้ว”
ฟังดูอาจเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เบื้องหลังคำพูดนี้กลับสะท้อนถึงนิสัยที่ชวนให้ที่ทำงานไม่ปลื้ม นั่นคือ คุณเป็นจำพวกชอบริเริ่มสิ่งใหม่ แต่ไม่สานต่อในสิ่งนั้น

14.“จุดอ่อนของฉันคือ เป็นพวกบ้างาน”
หลายครั้งที่เวลาเจอคำถามเกี่ยวกับจุดอ่อนของตัวเอง ผู้ถูกสัมภาษณ์มักสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกันตัว ทั้งที่คำถามนี้เป็นการเปิดทางให้คุณทำคะแนนด้วยการเผยถึงจุดอ่อนของตัวเองพร้อมแนวทางการแก้ไขที่ชาญฉลาด เพื่อทำคะแนนกับผู้สัมภาษณ์แบบง่ายๆ

15.“ฉันไม่มีอะไรจะถาม”
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ทิ้งบอมบ์กลางห้องว่า “ไม่มีคำถามใดๆ” นั่นคล้ายเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่าคุณไม่ได้สนใจในองค์กรหรือตำแหน่งงานในวันนี้เสียเท่าไหร่

ขอบคุณที่มา : www.businessinsider.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook