แพคเกจจิ้งแบบไหน โดนใจวัยเก๋า
ตอนนี้ตลาดวัยเก๋า หรือกลุ่มผู้สูงอายุ กำลังเติบโตและมาแรงอย่างมาก หากดูหลายๆ ประเทศทั่วโลก จะเห็นว่ากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือ Aging Societyโดยกลุ่มนี้คาดว่าจะมีอำนาจซื้อทั่วโลกสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนผู้สูงวัย คิดเป็นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรโลก โดยคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือคิดเป็นกว่า 1,300 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 สำหรับประเทศไทยเอง จำนวนผู้บริโภคในกลุ่มนี้ น่าจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น จีน
ถ้าแบบนี้ คุณจะปล่อยโอกาสไปหรือ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หากให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับเจาะผู้บริโภคกลุ่มนี้ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty)ได้ดี และมีโอกาสเติบโตสูงอย่างมาก สอดคล้องไปกับ งานวิจัย Senior White Paper ของเต็ดตรา แพ้ค ซึ่งเปิดเผยโดย รัตนศิริ ติลกสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บอกไว้ว่า ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเทรนด์การบริโภค และการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกว่า 27 ประเทศ รวมไปถึงประเทศไทย พบว่า 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัย ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ และ 88 เปอร์เซ็นต์ มองว่า “คุณค่าของสินค้า” เทียบได้กับ “คุณภาพที่สูง”
อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อของกลุ่มผู้สูงอายุ นั่นก็คือ “บรรจุภัณฑ์” โดยงานวิจัยระบุไว้ว่า คุณสมบัติสำคัญของบรรจุภัณฑ์ 5 ข้อ ที่ผู้บริโภคกลุ่มสูงวัยต้องการ มีดังนี้
1. บรรจุภัณฑ์จะต้องเปิดได้ง่าย และวางฝาไว้ในตำแหน่งที่สูงกำลังพอดีเพื่อป้องกันการหลุดลื่นจากมือ
2. บรรจุภัณฑ์ต้องมีน้ำหนักเบา โดยรูปทรงกลมมน ง่ายต่อการหยิบจับมากกว่าทรงสี่เหลี่ยม
3. บรรจุภัณฑ์ควรช่วยเพิ่มอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ เพื่อลดจำนวนเที่ยวในการเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้า
4. ตัวอักษรและฉลากบนบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดใหญ่ ชัดเจน และมีสีสันสดใส
5. ข้อมูลทางโภชนาการและวันหมดอายุควรถูกระบุอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคสูงวัยใช้รายได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของตัวเองไปกับการซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผู้บริโภคที่อายุน้อยกว่า ซึ่งใช้จ่ายเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือไปจากคุณสมบัติสำคัญของบรรจุภัณฑ์แล้ว ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงด้านสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มและอาหารที่เพิ่มวิตามินและแร่ธาตุ ลดปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมัน ยังได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรียกได้ว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ประชากรผู้สูงวัยในไทยคือโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่จะพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้