มีเงินก้อนโตควร เก็บทำทุน หรือ โปะหนี้ ?
บริหารเงินสด เป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ หลายคนว่าการหาเงินนั้นยากแล้ว สิ่งที่ยากกว่านั้น คงเป็นการบริหารเงินสด ทำอย่างไรให้เงินที่มีอยู่นั้นสร้างผลประโยชน์ได้มากที่สุด TerraBKK ขอเสนอ แนวคิดการบริหารเงินสดแบบง่ายๆ สำหรับใครที่มีเงินสด หรือได้รับเงินโบนัสประจำปีมา ลองเก็บไอเดียมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ของคุณได้ รายละเอียดดังนี้
โดยทั่วไปแล้ว แหล่งใช้ไปของเงินสดนั้นมีหลายหลากทาง แต่ไม่ใช่ว่าทุกทางจะก่อประโยชน์กับฐานะการเงินคุณ แน่นอนว่าการท่องเที่ยวหรือการจับจ่ายใช้สอยของส่วนตัวเป็นการสร้างกำลังใจและความสุขในการใช้ชีวิตขณะนั้นได้ แต่หากมองให้ไกลออกไป คุณควรตั้งสติแล้วลงมือทำชีวิตให้ดีขึ้นบนพื้นฐานความจริง เช่น ลงทุนตราสารการเงิน , ออมเงิน , จ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนด หรือจะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณคาดว่าสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงความสุขชั่ววูบชั่วคราว โดย TerraBKK ขอแบ่ง ประเภทแนวทางการใช้เงินเพื่อบริหารเงินสด ออกเป็น 2 ประเภทแบบง่ายๆ ดังนี้
1) เก็บทำทุน โดยรวมเอาทุกประเภทการใช้จ่ายที่เรียกว่าเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น
•ลงทุนตราสารการเงิน
ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ,พัทธบัตร , กองทุนรวม เป็นต้น โดยแต่ละประเภทมีอัตราผลตอบแทนมากน้อยต่างกันไปตามความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนนั้นๆ
•ลงทุนธุรกิจ
อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณชอบและสนใจ ไม่จำเป็นต้องคิดการใหญ่โต เป็นข้ออ้างให้วุ่นวาย เช่น ขายของออนไลน์ , ขายของตลาดนัดอินดี้ , ขายสลัดโรลตามคำสั่งในหมู่บ้าน ,ขายเครื่องประดับแฮนด์เมด เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของคุณ เช่น ทำเพื่อเรียนรู้เป็นประสบการณ์ชีวิต , ทำเพื่อเป็นงานเสริมรายได้ เป็นต้น
ออมเงิน
เป็นวิธีที่จะว่าง่ายก็ถูก จะว่ายากเหลือเกินสำหรับบางคนก็ใช่ จำนวนเงินออมฝากธนาคารที่มากเกินไปก่อเกิดค่าเสียโอกาส เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมาก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย 2% เท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นที่จะใช้เงินฉุกเฉินอย่างอื่น ออมเงินขนาดจำนวน 3 – 6 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน ก็ถือว่าเหมาะสม
2) โปะหนี้ โดยรวมเอาทุกประเภทหนี้ ทั้งในระบบและนอกระบบ ความสำคัญในการเลือกประเภทหนี้ คือการพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย ,ลักษณะการคำนวณดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อชำระหนี้คืนก่อนกำหนด เช่น
หนี้ที่ได้รับประโยชน์จาการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด
ได้แก่ หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต ,หนี้นอกระบบ เป็นต้น หรือ หนี้ที่คำนวณดอกเบี้ยตามเงินต้นคงเหลือ เช่น หนี้บ้าน เป็นต้น
หนี้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จาการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด
เช่น หนี้รถ เพราะเป็นสินเชื่อระยะสั้น งวดผ่อนแต่ละเดือนมาจากผลรวมเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยเรียบร้อยแล้ว การชำระหนี้ก่อนกำหนดจึงไม่ช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อมีเงินสดเงินสักก้อนสามารถ พิจารณาหลักการนำเงินไปใช้แบบง่ายๆ ดังนี้
ความจำเป็นของการใช้เงินก้อนนั้น
เช่น คาดว่ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เร็วนี้ การนำเงินฝากธนาคารจึงมีสภาพคล่องตอบโจทย์ที่สุด เป็นต้น
เปรียบเทียบอัตราผลประโยชน์แต่ละทางเลือก
เช่น หนี้บ้านเสียดอกเบี้ย 7% , หนี้บัตรเครดิตเสียดอกเบี้ย 20% , รับทำเบเกอรี่โฮมเมดตามคำสั่ง กำไร 30% กรณีนี้ หากทำเบอเกอรี่ไม่เป็น การชำระหนี้บัตรเครดิตก็จะได้รับประโยชน์มากสุด เป็นต้น
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเป็นแนวทางนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น ขอ ยกตัวอย่างแนวคิดง่ายๆดังนี้ “สมหญิง สาวโสดพนักงานบริษัทเอกชนแห่ง ปีนี้ได้รับเงินโบนัส 10,000 บาท คิดว่าควรนำเงินไปทำอะไรดี ระหว่าง เก็บทำทุนขายข้าวไข่เจียว หรือ โปะหนี้นอกระบบ ” > กรณีเก็บทำทุน : ขายข้าวไข่เจียวตลาดนัดในวันสุดสัปดาห์ ขายกล่องละ 25 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 12 บาทต่อกล่อง ค่าเช่าที่ 2,000 บาท คาดว่าน่าจะขายได้ 600 กล่อง เมื่อลองคำนวณผลตอบแทนได้ดังนี้
ยอดขาย = 15,000 บาท = 25 บาท X 600 กล่อง ต้นทุนทั้งสิ้น = 10,000 บาท = 2,000 (ค่าเช่าที่ ) + 7,200 (12บาท x 600 กล่อง) + 800 (ค่าแรงตัวเอง)
กำไรจากการขาย = 5,000 บาท > กรณีโปะหนี้ : จ่ายหนี้นอกระบบ 30,000 บาท ปกติผ่อนเดือนละ 5,000 บาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 10% ของเงินต้นคงเหลือเดือนก่อน ตอนนี้ผ่อนมาแล้ว 4 งวด เมื่อลองคำนวณผลตอบแทนได้ ดังนี้
การโปะหนี้ครั้งนี้ ประหยัดดอกเบี้ยจ่าย = 4,199 บาท ( 18,125 – 13,926 ) กรณีตัวอย่างนี้ สรุปได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์จะพบว่า การนำเงินโบนัสไป เก็บทำทุนขายข้าวไข่เจียว ( กำไร 5,000 บาท) ได้ประโยชน์มากกว่า การโปะหนี้เงินนอกระบบ (ประหยัดดอกเบี้ย 4,199 บาท) นั้นเอง ท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า ไม่มีอะไรตายตัวว่า เงินโบนัสปีนี้ของคุณควรจะเป็น “เก็บทำทุน” หรือ “โปะหนี้” ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์การเงินของคุณ ท้ายที่สุดแล้ว ช่องทางใดที่สร้างผลประโยชน์ได้มากที่สุด ก็ย่อมดีที่สุด ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุน รวมทั้งความจำเป็นในการใช้เงินสดก้อนนั้นด้วย