คุ้มครองพ่อแม่ยังไง ไม่ให้ถูกหลอกซื้อประกันชีวิต

คุ้มครองพ่อแม่ยังไง ไม่ให้ถูกหลอกซื้อประกันชีวิต

คุ้มครองพ่อแม่ยังไง ไม่ให้ถูกหลอกซื้อประกันชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกคนคงเคยได้ยินข่าว หรือที่มีคนออกมาโจมตีทางสังคมออนไลน์ว่า คนที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ “ถูกหลอก” ให้ทำประกันชีวิต จากพนักงานขายตามธนาคาร ที่มักจะใช้คำพูดจูงใจประมาณว่าเป็น “เงินฝากดอกเบี้ยสูง” อยู่บ่อยๆ แต่เราก็ยังคงพบเห็นเรื่องราวประมาณนี้อยู่เป็นระยะ เอ๊ะ! แล้วเราควรจะมีวิธีเตือน หรือแนะนำผู้สูงอายุที่บ้านอย่างไร เพื่อให้พวกท่านรู้เท่าทัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการ ถูกหลอกซื้อประกันชีวิต จากคนเหล่านี้ หรือสามารถแยกแยะออกไว้ ว่าสิ่งที่พนักงานมานำเสนอ คือประกันชีวิตหรือไม่?

ผมมี check list ง่ายๆ อยู่แค่ 4 ข้อ ให้ทุกคนสามารถกลับไปเตือนคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่บ้าน (หรือแม้แต่ตัวเราเอง) ให้นำไปใช้ตรวจสอบเวลาเจอใครมาแนะนำ ว่าเรากำลังถูกชักชวนให้ซื้อประกันชีวิตอยู่หรือไม่ ดังนี้ครับ

1. ถ้าฝากเงิน ดอกเบี้ยสูงแค่ไหน ก็ไม่ควรสูงเกินกว่า 3%

เล่ห์กลอย่างแรกที่พนักงานขายมักจะใช้มาจูงใจเราก็คือคำว่า “เงินฝาก/ออมเงิน ดอกเบี้ยสูง” ได้ดอกเบี้ยคืน ปีที่ xx สูงถึง 5% (บางที 10%!) จนทำให้เราเผลอหลงคิดไปว่ามันเป็นการฝากเงินแบบฝากประจำ ที่ได้ดอกเบี้ยพิเศษสูงกว่าเงินฝากปกติ แต่ถ้าเรามีความรู้ทางการเงินสักนิด ก็จะเข้าใจว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น อย่างเก่งก็ไม่เกิน 3% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำประมาณ 3 ปี (หรืออาจจะสูงกว่านั้นนิดหน่อย แต่อาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องฝากพ่วงกับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินอืนๆ) แถมแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก็มีแต่ต่ำลงๆเรื่อยๆ (เศรษฐกิจไม่ค่อยดี รัฐบาลก็มักจะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) ดังนั้นถ้ามาเสนอตัวเลขดอกเบี้ยสูงๆ เกินกว่า 3% เนี่ย ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ามันไม่น่าใช่เงินฝากแน่ๆ แล้วถ้ายิ่งสูงถึง 10% นี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ (ไม่งั้นคนคงไม่เอาเงินไปลงทุน ไปเล่นหุ้นให้เสี่ยงกันไปทำไม) ที่สำคัญ ตัวเลขที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า “ดอกเบี้ย” พวกนั้น จริงๆมันก็ไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่เป็น “เงินคืน” รายปีต่างหาก เพราะดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทนของเรา (ไม่ใช่ที่เราต้องจ่าย) ยากมากที่จะมีโอกาสสูงถึง 10% ต่อปี จำไว้เสมอว่า อะไรที่ฟังแล้วดูดีเกินจริง มันมักจะไม่จริง ครับ

2. ถ้าฝากเงิน ฝากนานแค่ไหน ก็ไม่ควรนานเกินกว่า 5 ปี

การฝากเงินในบัญชีเงินฝาก ระยะยาวที่สุดเท่าที่มี คือไม่เกิน 60 เดือน (5 ปี) ซึ่งจะอยู่ในรูปของเงินฝากประจำ ดังนั้น ถ้าพนักงานมาบอกเราว่าต้องฝากเงินเกิน 5 ปี ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าไม่น่าใช่เงินฝากแหงๆ ยิ่งถ้าฝากแล้ว ต้องรอรับเงินอีกหลายปี (ไม่ใช่ฝากครบจำนวนเดือนแล้วจะถอนเงินมาได้เลย) แบบนี้ค่อนข้างชัวร์ได้เลยว่าเป็นประกันชีวิตแน่ๆ หลักๆจำไว้ว่า ถ้าต้องฝากยาวๆ ยิ่งถ้าเกิน 5 ปีด้วยแล้ว เรากำลังถูกหลอกซื้อประกันชีวิตอยู่อย่างแน่นอน

3. เป็นการออมเงิน พ่วงกับการคุ้มครองชีวิตทุกกรณี

ถ้าเป็นบัญชีเงินฝากจริงๆ จะต้องไม่มีการพ่วงการคุ้มครองชีวิตใดๆทั้งสิ้น *ยกเว้นคุ้มครองชีวิตจากกรณีอุบัติเหตุ กรณีเดียว ซึ่งในกรณีนั้น ก็มักจะเป็นเงินฝากชนิดพิเศษที่พ่วงกับประกันอุบัติเหตุ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินฝากจริงๆ แต่เป็นการพ่วงเข้ากับอีกโปรดักหนึ่ง ซึ่งก็คือประกันอุบัติเหตุ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่มาแนะนำว่า “เป็นเงินฝาก ที่มีการคุ้มครองชีวิต” แถมให้ด้วยเฉยๆ แบบนี้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ามันคือประกันชีวิต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวเดียว (ไม่ได้แยกกันเป็นเงินฝาก + ประกัน) อย่างแน่นอน

4. เอกสารตอนเจ้าหน้าที่มาให้เห็น จะมีคำว่า “ผู้เอาประกัน” ลงท้ายลายเซ็นอยู่ด้วย

สุดท้าย ถ้าเจ้าหน้าที่จะให้เราทำธุรกรรม ก็จะต้องเอาเอกสารมาให้เราเซ็นยินยอม ดังนั้น สำคัญที่สุดคือ เตือนให้คุณพ่อคุณแม่ดูดีๆด้วยว่า มันเป็นเอกสารอะไร ถ้าเป็นการฝากเงิน เอกสารที่เซ็นก็ต้องเป็น “เอกสาร/แบบฟอร์มเปิดบัญชี” เท่านั้น ถ้าเป็นเอกสารอย่างอื่นนั้นไม่ใช่การเปิดบัญชีออมเงินแน่ๆ ซึ่งถ้าเป็นการให้ทำประกันชีวิต เอกสารจะต้องเป็น “ใบคำขอเอาประกันชีวิต” และตรงส่วนที่จะให้เราเซ็นยินยอม จะต้องลงท้ายว่า “ผู้เอาประกัน” ด้วย ดังนั้น ตอนจะเซ็น ให้คุณพ่อคุณแม่ดูดีๆ ชัดๆเลย ว่าตัวเองกำลังจะเซ็นเอกสารอะไร มีคำว่า “ประกัน” อยู่หรือไม่ สละเวลา ด้วยความรอบคอบสักนิด ชีวิตจะปลอดภัยขึ้นอีกเยอะครับ

นั่นก็คือแนวทางเล็กๆน้อยๆ ที่ทุกคนสามารถไปบอกให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ที่บ้าน หรือแม้แต่กับตัวเอง เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าเรากำลังถูกพนักงานชักชวนให้ทำประกันชีวิต หรือถูกหลอกซื้อประกันชีวิตอยู่หรือไม่? แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าใจผิดว่า การทำประกันชีวิตไม่ดี ควรหลีกหนีให้ห่างๆ ไม่ควรทำ เพราะอันที่จริง แม้กระทั่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่เรา หรือคนที่เป็นผู้สูงอายุ ประกันชีวิต ก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการบริหารเงินได้ ที่อาจจะไม่ใช่การออมเงินระยะยาว แต่ อาจจะเป็นการทำเพื่อเน้นคุ้มครองชีวิต สร้างเงินมรดกที่แน่นอนให้ลูกหลาน สำหรับผู้สูงอายุ ที่อยากจะวางแผนทำพินัยกรรม แบ่งมรดกให้ลูกหลาน ก็อาจจะเหมาะสมกว่า ดังนั้น อยู่ที่เป้าหมาย หรือความต้องการด้วยครับ ว่าพวกท่านมีเป้าหมายหรือความต้องการที่จะบริหารเงินอย่างไร

แต่ถ้าหากใคร หรือคุณพ่อคุณแม่ท่านไหน ที่เผลอ หรือหลงทำประกันชีวิตไปด้วยความเข้าใจผิดแล้ว จำไว้อย่างหนึ่งว่า เราสามารถขอยกเลิก กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่เราเพิ่งทำไปได้ หลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ไม่เกิน 15 วัน (หรือที่เรียกว่า ช่วง Free Look Period) โดยเมื่อรับกรมธรรม์ จะต้องมีเอกสารให้เราเซ็นรับกรมธรรม์ เราก็อย่าไปเซ็นยอมรับ เพื่อขอยกเลิกกรมธรรม์ซะ (แต่ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมกรมธรรม์ 500 บาทด้วย)

ส่วนถ้าใคร เผลอทำประกันชีวิต หรือถูกหลอกซื้อประกันชีวิตไปแล้ว จากการที่ตรวจสอบแล้วว่า พนักงานหรือคนขาย หลอกลวงด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง (เช่น ระยะเวลาสัญญา 10 ปี แต่บอกว่าแค่ 3 ปี หรือ ประกันชีวิตไม่สามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ได้ ถ้าไม่ใช่การกู้เงินกรมธรรม์ แต่บอกว่า ถอนได้เหมือนฝากเงิน) ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำประกัน ก็สามารถฟ้องร้อง หรือร้องเรียนได้ที่ :

1. สำนักงาน คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ใน 2 ช่องทางคือ - สายด่วน คปภ. 1186 หรือที่
- http://www1.oic.or.th/th/OIC/OiC_request.php

2. ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ใน 2 ช่องทาง คือ
- สายด่วน ศคง. 1213 หรือที่
- https://www.1213.or.th/_layouts/15/fcpcfeedback/feedback.aspx

สุดท้ายนี้ จำไว้เสมอว่า ต้องใส่ใจ อย่างรอบคอบ ทุกครั้งก่อนจะตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงินอะไรก็ตาม เพราะนั่นคือการคุ้มครองตัวเองที่ดีที่สุดนะครับ

 ins250660

by Insuranger

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook