คมนาคมจ่อเวนคืนที่ดิน สร้างรถไฟไทย-จีน
"ราชรถ" จ่อเวนคืนที่ดินสร้างรถไฟไทย-จีน
หลังจากไทยและจีน วางศิลาฤกษ์โครงการรถไฟไทย-จีน เมื่อปี 2558 ที่สถานีเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และล่าสุดมีคำสั่งคสช.เพื่อเร่งดำเนินการโครงการนี้ แต่มีเสียงคัดค้านโครงการนี้หลายประเด็น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวว่า ขณะนี้กำลังประสานสภาวิศวกรเพื่อทำหลักสูตรการออกใบอนุญาตให้วิศวกรจีน ซึ่งครอบคลุมการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ไทยโดยการก่อสร้างจะก่อสร้างในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ( ร.ฟ.ท. )80% และสร้างในพื้นที่เวนคืนที่ดิน 20% พื้นที่ที่จะเวนคืนเป็นบริเวณต่อเนื่องของการสร้างสะพานรถไฟ และ อุโมงค์ แต่ยืนยันว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงจำกัด
รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่การออกประกาศ ม.44 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา เพื่อลดอุปสรรคระเบียบการจัดซื้อจัดสร้างในโครงการดังกล่าวว่า สำหรับแผนการลงนามเซ็นสัญญา ก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ยังกำหนดไว้ ที่เดือนก.ค. และเริ่มการก่อสร้างเดือน ก.ย.
รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ทั้งนี้จะมีการเวนคืนบ้านเรือนของประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เริ่มดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก่อน และจะดำเนินโครงการช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อไปเพื่อเชื่อมโครงการรถไฟระหว่างจีน-ลาวระยะต่อไป ส่วนการถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้น จีนยินดีถ่ายทอดให้ โดยขณะนี้ มีการส่งสถาปนิกและวิศวกร 250 คนไปอบรมที่จีน เพื่อเรียนรู้วิธีการก่อสร้าง เดินรถบำรุงรักษา เพื่อมาเป็นวิศวะก่อนสนับสนุนโครงการ
"การดำเนินโครงการดังกล่าว จะดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยสิทธิ์ของประเทศไทยที่คงไว้ เช่น ทั้งสิทธิ์สองข้างทาง สิทธิ์การพัฒนาสถานี การก่อสร้างต้องใช้ผู้รับเหมาไทย วัสดุก่อสร้างใช้ในประเทศไทยมากที่สุด ไม่นำแรงงานจีนมาก่อสร้างในประเทศไทย ยกเว้นแต่งานฝีมืออย่างวิศวกรและสถาปนิก พนักงานขับรถไฟต้องเป็นคนไทย" นายอาคม กล่าว