พิมรา สีดอกบวบ เริ่มต้นจากเงิน 2 พันบาท ก็สร้างธุรกิจให้โตได้
ว่ากันว่าความรู้ที่เรามี จะมีค่าก็ต่อเมื่อเรานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เหตุนี้เอง “ความรู้ จึงสำคัญกว่าเงินทุน” ในการเริ่มต้นธุรกิจ ดังเราจะได้เห็นนักธุรกิจเก่งๆ ของไทยหลายคนที่เริ่มต้นธุรกิจพันล้านของตนด้วยเงินเพียงน้อยนิด เฉกเช่น พิมรา สีดอกบวบ เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง “พิมมารา” นักศึกษาสาวผู้เริ่มต้นธุรกิจจากเงินเพียง 2,500 บาท กับความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาตอนอยู่ปี 2 มหาวิทยาหอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์
พิมราเล่าว่าเธออยากนำความรู้ที่ได้จากวิชาโซเชียลมีเดียมาใช้ในเชิงธุรกิจ จึงขอเงินจากทางบ้านมา 2,500 บาทไปซื้อผ้าที่พาหุรัดมาจ้างช่างตัดเย็บเป็นผ้าคลุมผมมุสลิมโพสต์ขายบนเฟซบุ๊ค ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ไม่เพียงได้ทุนคืนในเวลาไม่กี่วันแต่ยังมีกำไรมากพอเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของตัวเอง และมีเงินสะสมมาต่อยอดธุรกิจไปสู่การขายครีมทางออนไลน์ โดยรับครีมของเพื่อนแม่มาขายให้กับฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่ ก่อนจะพัฒนามาสร้างแบรนด์เครื่องสำอางของตัวเอง ภายใต้ชื่อ “พิมมารา”
เธอบอกว่าคนมุสลิมมักนิยมซื้อสินค้ามุสลิมด้วยกันเอง และตลาดมุสลิมก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ขณะที่ชาวมุสลิมที่ผลิตเครื่องสำอางขายส่วนใหญ่ไม่มีใครสนใจเรื่องมาตรฐานต่างๆ เธอจึงนำมาเป็นจุดขายของสินค้าตัวเองโดยกำหนดให้เป็นเครื่องสำอางออแกนิกส์ จัดทำโลโก้แบรนด์และทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนเห็นได้มากที่สุด ทั้งโพสต์เฟซบุ๊ค ทำโบร์ชัวร์เดินแจกตามงานมุสลิม พอเก็บเงินได้มากหน่อยก็ลงทุนออกบู๊ธตามงาน กระทั่งแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักแผ่ขยายวงกว้าง สินค้าขายดีจนเธอเริ่มทำเองทั้งหมดไม่ไหว จึงคิดอยากหาตัวแทนเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายไปในตัว ด้วยการจัดงานเสวนาเชิญชวนผู้สนใจเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย แม้ครั้งแรกไม่ประสบผลสำเร็จแต่ก็ได้ประสบการณ์มาต่อยอดให้การจัดครั้งที่ 2 ได้รับผลตอบรับอย่างดีจนปัจจุบันมีตัวแทนช่วยขายร่วม 60 ราย
พิมราบอกว่าการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเจอกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา หากแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบทเรียนในการเรียนรู้ที่จะทำให้เธอมีประสบการณ์มากขึ้น เธอเล่าว่าเคยถูกโกงจากดีลเลอร์ จนตอนหลังต้องจ้างทนายมาช่วยร่างสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย เคยสั่งของจากโรงงานมาเยอะจนหมุนเงินไม่ทัน ทำให้รู้ว่าการบริหารสต็อคสินค้าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วจะเห็นว่าทุกปัญหาที่มีเข้ามาให้ได้แก้ไขในแต่ละช่วงล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เธอค่อยๆ สร้างระบบการจัดการให้กับธุรกิจของตัวเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ปัจจุบันเครื่องสำอางแบรนด์ “พิมมารา” มีสินค้าให้เลือกถึง 30 ตัว ความสำเร็จนี้ทำให้สาวน้อยคนเก่งคิดออกเครื่องสำอางแบรนด์ใหม่เจาะกลุ่มตลาดไฮเอนด์ใช้ชื่อแบรนด์ “ไฮยาซิน” โดยเชื่อว่าประสบการณ์จากแบรนด์แรกจะทำให้เธอมีแบบแผนที่ดีกว่าในการสร้างแบรนด์ไฮยาซินให้โด่งดังเหมือนพิมมารา ทว่าเธอคาดการณ์ผิด ไฮยาซินไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าพิมมารา กระนั้นเธอก็มองว่านี่เป็นเพียงอีกหนึ่งความท้าทายที่เธอต้องฟันฝ่าไปให้ได้
พิมราบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในการทำธุรกิจของเธอ คือการนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเธอก็เคยไปร่วมงานเอ็กซ์โปที่ดูไบซึ่งถือเป็นงานใหญ่ของฝั่งตะวันออกกลาง ครั้งนั้นเธอเอาเครื่องสำอางพิมมาราไปออกบู๊ธแนะนำสินค้าแม้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรแต่ก็ถือเป็นการศึกษาตลาดไปในตัวซึ่งเธอจะนำข้อมูลมาใช้ในการปรับรูปแบบสินค้าไปนำเสนออีกครั้ง นอกจากนี้พิมรายังมีแผนจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจสปาทำทรีตเม้นต์นวดหน้าสำหรับมุสลิมด้วย โดยตั้งใจจะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์
บทสรุปในการทำธุรกิจจากประสบการณ์ของสาวน้อยเจ้าของแบรนด์พิมมารา เธอเชื่อว่าหากมีเงินลงทุน ไม่ว่าใครก็สามารถทำสินค้าออกมาได้ดีเหมือนกันหมด หากแต่จะทำให้ผู้บริโภคซื้อหรือไม่ยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น แพคเก็จจิ้ง การสร้างแบรนด์ และการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรู้ และความขยัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำตลาดบนโลกออนไลน์ หากขยันโปรโมท ขยันโพสต์ ขยันตอบ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี