เกษตรกร เฮ! กฟก.ล้างหนี้ ประเดิม 2 พันล้าน
นับถอยหลังคสช.ใช้มาตรา 44 สั่งกฟก.เฉพาะกิจลุยล้างหนี้เกษตรกรกว่า 5 แสนราย มูลหนี้กว่า 8.47 หมื่นล้านใน 180 วัน หนี้ ธ.ก.ส.มาอันดับ 1 เตรียมชง “ฉัตรชัย” ประเดิมซื้อหนี้ 8,000 ราย ค่า 2,000 ล้าน เปิดยืนยันสิทธิ์ 9 ก.ค.-10 ส.ค.
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 26/2560 ปลดคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง และตั้ง “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ” หรือ กฟก.เฉพาะกิจ มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูฯให้ลุล่วงภายใน 180 วันนั้น
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ใน กฟก.เฉพาะกิจ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรม การ 4 คณะขึ้นมาดำเนินการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีเร่งด่วน, คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร, คณะทำงานตรวจสอบ ข้อมูลหนี้สินเกษตร กรระดับจังหวัด และคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับอำเภอ เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 5.12 แสนราย รวม 6.46 ล้านบัญชี มูลหนี้ 8.47 หมื่นล้านบาทให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ในส่วนของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินระดับจังหวัด/อำเภอ จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อเกษตร กรและข้อมูลหนี้สิน โดยจัดทำสรุปรายชื่อเกษตรกรจำนวนหนี้ จำแนกวัตถุประสงค์การกู้ กล่าวคือ เป็นหนี้อันเนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม กับไม่ได้เป็นหนี้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำแนกสถานะหนี้ อาทิ หนี้ไม่ผิดนัดชำระหรือหนี้ปกติ หนี้ผิด นัดชำระ (หนี้ NPL) ทั้งยังไม่ถูกฟ้องดำเนินคดี จนถึงหนี้ผิดนัดชำระที่ถูกฟ้องล้มละลาย หรือจำแนกหลักประกัน เป็นหลักทรัพย์หรือบุคคล ยอดรวมหนี้สิน ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทหรือเกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย เป็นต้น
นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และลำดับต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบในคฟก.เฉพาะกิจ ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทราบว่าเกษตรกรที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมีทั้งหมดกี่ราย มูลหนี้เท่าไร จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับสุดท้าย ในเร็วๆ นี้จะมีประกาศรายชื่อ ขอให้เกษตรกรไปยืนยันสิทธิ์ได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) สาขาจังหวัดตามภูมิลำเนา มั่นใจว่าการจัดการหนี้จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่คสช.ให้เวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน (ภายใน 18 ต.ค.60)
ด้านนายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ กฟก. กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนหนี้กว่า 5 แสนราย จะมีการประกาศรายชื่อในวันที่ 9 กรกฎาคม-10 สิงหาคมนี้ จึงขอให้เกษตรกรมายืนยันสิทธิ์เพื่อรับการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมคฟก.เฉพาะกิจที่มีรัฐมนตรีเกษตรฯเป็นประธาน ทาง กฟก.จะส่งรายชื่อเกษตรกรจำนวน 8,000 ราย มูลหนี้กว่า 2,000 ล้านบาทให้พิจารณา ซึ่งกฟก.สามารถซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ทันที เพราะมีงบประมาณอยู่แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ เผยว่า หนี้เกษตรกร 5.12 แสนราย แยกเป็นรายสถาบัน ดังนี้
1. โครงการส่งเสริมของรัฐ จำนวนกว่า 2 หมื่นราย มูลหนี้ 1,082 ล้านบาท
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2.89 แสนราย มูลหนี้ 4.74 หมื่นล้านบาท
3. ธนาคารพาณิชย์ 1.87 หมื่นราย มูลหนี้ 1.45 หมื่นล้านบาท
4. นิติบุคคลกว่า 2 หมื่นราย มูลหนี้กว่า 6,000 ล้านบาท
5. สหกรณ์การเกษตร 1.58 แสนราย มูลหนี้ 1.58 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ จำนวนกว่า 5,000 ราย มูลหนี้ 569 ล้านบาท