‘จุฬาฯ’ ทุ่ม 4 พันล้าน ผุดเมืองใหม่
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนสาธาณะแห่งใหม่ใจกลางเมือง 1 ในโครงการเมืองอัจฉริยะ “Smart Intellectual City” มีพื้นที่ ขนาด 29 ไร่ ถูกวางให้พื้นที่สีเขียวยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เป็นปอดของคนเมือง แต่ยังเป็นห้องทดลองนวัตกรรม เพื่อการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพ ตอบโจทย์เมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
บล็อก 33 จุดนี้จะอยู่ติดกับสวน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ ถูกวางแผนให้พัฒนา ภายใต้คอนเซปท์ Smart Intellectual Society ซึ่งตอนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการออกแบบ และเปิดให้นักธุรกิจเข้ามาเจรจาเช่าพื้นที่
โดยธุรกิจที่จะมาอยู่ในโครงการนี้ จะต้องเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อาทิ เวลเนสเซ็นเตอร์ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และศูนย์กายภาพบำบัด ธุรกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้และนวัตกรรมใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ บูรณาการให้เกิดเป็นสังคมอุดมปัญญา เชื่อมโยงเข้ากับการเรียนรู้ เหมาะสมกับพื้นที่ที่ติดกับมหาวิทยาลัย คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 4,300-4,500 ล้านบาท
บล็อก 34 ที่อยู่ติดกัน มีแผนพัฒนาเป็น Innovation Exhibition พื้นที่แสดงนวัตกรรมตลอดทั้งปี โดยจะดึงบริษัทชั้นนำมาเปิดห้องโชว์นวัตกรรม เหมือนงานบีโอไอแฟร์ คาดว่าน่าจะเริ่มเดินสายพบปะเอกชนในอีก 6 เดือน
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวสปริงนิวส์ว่า โครงการเมืองอัจฉริยะ เป็นโครงการที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อพลิกโฉมที่ดินใจกลางเมืองของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 291 ไร่ ตั้งแต่สวนหลวง สามย่าน ไปจนถึงสยามสแควร์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “Smart Intellectual City”หมายถึงการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้น ถูกต้องกับไลฟ์สไตล์ และได้เรียนรู้ เกิดเป็นสังคมอุดมปัญญา เหมาะสมกับพื้นที่ที่ติดกับมหาวิทยาลัย
"เราไม่ได้เน้นรายได้สูงสุด วันนี้เราถามความต้องการสังคมว่าต้องการอะไร คนกรุงเทพต้องการสวนสาธารณะ คุณภาพชีวิตที่ดี" รศ.ดร.วิศณุ กล่าว
5 ปีแรก จะใช้งบลุงทุนจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ พัฒนาพื้นที่บริเวณ บล๊อก33 เพื่อนำร่องไปก่อน ด้วยงบลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท และทยอยเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจ คาดว่า หากโครงการแล้วเสร็จจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า แสนล้านบาท บนพื้นที่ 291 ไร่
ส่วนพื้นที่สีส้มและสีแดง บริเวณซอย จุฬาฯ 50 และฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นย่านตึกแถวเก่าแก่ ออกแบบเอาไว้ ให้กลายเป็น สามย่าน โอลด์ ทาวน์ เพื่อเพิ่มอัตลักษณ์การจดจำ จากนั้นจะเพิ่มทางเดิน เชื่อมต่อไปยังถนนพระราม 4 เพื่อเป็นไกด์ไลน์ หากอนาคตมีการประมูลโครงการใหม่ ทุกตึกต้องเชื่อมต่อถึงกัน
ถัดไป คือ พื้นที่รอการพัฒนาตรงหัวมุมฝั่งถนนพระราม1 ติดกับสนามกีฬาแห่งชาติ จะประเดิมด้วยโครงการ สเตเดี้ยม วัน เปิดสัมปทานให้เอกชนพัฒนาเป็นย่านกีฬา โดยมีกรอบว่าต้องมีร้านค้าเกี่ยวกับกีฬา ไม่น้อยกว่า 60 ร้าน ซึ่งตอนนี้นี้มีผู้สนใจยื่นประมูลและคัดเลือกได้แล้ว คือ บริษัทสปอร์ต โซไซตี้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้จำหน่ายจักรยาน ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะพร้อมเปิดบริการปลายปีนี้
ส่วนสีฟ้า วางแผนก่อสร้างเป็น ที่อยู่อาศัย และ ศูนย์ราชการ ที่จะมีขึ้นในอนาคต