ชากุหลาบ S-curve ที่ฉุดตรามือขึ้นผงาดอีกครั้ง
เป็นธรรมดาที่เส้นทางธุรกิจย่อมมีขึ้น และมีลง การไม่หยุดนิ่งอยู่กับความสำเร็จครั้งเก่าๆ จะทำให้ธุรกิจมีเส้นทางการเติบโตเป็นรูปตัว S คือก่อนที่จะปักหัวลงเมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็จะเลี้ยวหัวหาทางทยานขึ้นไปใหม่อีกครั้งจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผู้เจ้าของนำมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ดังเช่น ชาตรามือตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปีของการเติบโต มีหลายครั้งหลายคราที่ธุรกิจชะลอตัวช้าลงจนเกือบหยุดชะงัก จนอาจกล่าวได้ว่าเส้นทางการเติบโตของชาตรามือไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กระนั้นใครจะรู้ว่าเมื่อถึงคราวจะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง กลีบกุหลาบนี่เองที่เป็นจุดพลิกผันให้ชาตรามือกลายมาเป็นแบรนด์ติดหูคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
จากแบรนด์บุกเบิกรุ่นแรกๆ ของกิจการชาในไทย จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กระทั่งเมื่อธุรกิจมาถึงจุดอิ่มตัวความนิยมค่อยๆ ลดลงจนถึงช่วงหนึ่งยอดขายตกถึงขนาดธุรกิจต้องล้มลุกคลุกคลาน ดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับช่วง เล่าให้ทาง SME Thailand ฟังว่าถึงการปรับตัวในครั้งนั้นว่า
“เราออกสำรวจตลาดพบว่าคนไทยนิยมดื่มกาแฟมากกว่า จึงเป็นที่มาของการยกเครื่องแบรนด์ชาตรามือครั้งใหญ่ โดยมีการปรับรูปแบบการดื่มให้เหมาะกับคนไทยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อน จากชาร้อนจึงกลายมาเป็นชาเย็น พร้อมกับตั้งโรงงานรับซื้อใบชาจากเกษตรกรชาวเชียงรายมาผลิตเอง มีการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตราฐาน GMP และ HACCP และบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 40% ของยอดขายทั้งหมด โดยส่งออกไปในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน”
การยกเครื่องในครั้งนั้นมาพร้อมกับการตั้งคอนเซ็ปต์ของชาตรามือเป็นครั้งแรก นั่นคือ ชาคุณภาพ รสชาติหอมอร่อย ราคาคุ้มค่าทั้งคนชง และคนดื่ม เนื่องจากตลาดของชาตรามือเป็นกลุ่มร้านค้าที่ซื้อไปชงขายให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง การทำตลาดจึงเน้นไปยังร้านค้ามากกว่า ซึ่งก็ทำให้ยอดขายขยับตัวกระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไปไม่สุด เพราะร้านชากาแฟส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โชว์ให้เห็นว่าชารสชาติหอมอร่อยที่ผู้บริโภคดื่มแล้วติดใจกลับมาซื้อซ้ำนั้นเป็นชาที่ชงจากชาตรามือ นี่จึงเป็นที่มาของการแตกไลน์ธุรกิจใหม่สู่ร้านชาตรามือ
โดยในช่วงเริ่มต้นยังมีลักษณะเป็นซุ้มเล็กๆ มี 2 โมเดล คือแบบคลาคสิค กับแบบโมเดิร์น เปิดในศูนย์การค้าชั้นนำ อย่าง สยามพารากอน และเดอะมอลล์ เป็นต้น แม้จะมีความพยายามในการขยายจำนวนซุ้มเพิ่มขึ้นแต่ในแง่ของรายได้แล้ว ธุรกิจนี้ไม่ได้สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้ชาตรามือเท่าไรนัก ทว่าในแง่ของการสร้างแบรนด์แล้ว ถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นที่ดี
กระทั่งเมื่อ พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช ทายาทผู้รับไม้ต่อจากดิฐพงศ์ ผู้เป็นพ่อ เข้ามารับช่วงต่อ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับสังคมบนโลกออนไลน์ เข้าใจถึงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ เธอจึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดร้านชาตรามือด้วยที่รวมเอาความทันสมัย และความคลาคสิคไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน และยังปูทางสู่การยกระดับให้ชาตรามือ เป็นสัญลักษณ์ชาไทยไปพร้อมกัน
นอกจากนี้จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติต้องต่อแถวยาวเหยียดที่ร้านชาตรามือ คือโปรดักส์ใหม่ ชากุหลาบที่ออกมาพร้อมกับแพ็คเก็จแก้วลายกุหลาบสุดคลาคสิคในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา จากการรีวิวของบล็อกเกอร์ชื่อดัง บวกกับสรรพคุณในความเป็นยาระบายอ่อนๆ ชื่อเสียงของชากุหลาบปราบเซียนคนธาตุแข็งกลายเป็นกระแสดังในสื่ออออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือไลน์ ต่างร่วมใจกันติดแฮชแทก ชากุหลาบตรามือ พร้อมโชว์ภาพแก้วลายกุหลาบ และบอกสรรพคุณถึงฤทธิ์เดชของการเป็นยาระบายด้วยคำบรรยายที่อ่านแล้วชวนให้อยากลองด้วยตัวเอง นี่เองที่จุดกระแสให้ชากุหลาบระบาดหนัก จนทำให้ชาตรามือกลับมาผงาดอีกครั้งบนสังเวียนธุรกิจชา
เป็นความสำเร็จที่พราวนรินทร์ ถึงกับเอ่ยปากว่าคาดเกินจริงๆ เธอบอกว่าแรกเริ่มแค่อยากจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับร้าน แต่ผลปรากฏกลับกลายเป็นกระแสนิยมถึงขนาดที่ว่าจบช่วงเทศกาลไปนานแล้วคนก็ยังมาถามหากันมาตลอด จากเดิมทีที่คิดไว้ว่าจะออกมาเฉพาะช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ เลยลากยาวมาเรื่อย และตอนนี้กำลังมีแผนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชาผงออกวางจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อไปชงกินเองที่บ้านได้ด้วย
Text : กองบรรณาธิการ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี