หนี้ 56 ไฟแนนซ์สูญ 86% เอกธนกิจคืนได้ 12% กรมบังคับคดีลุยขายทรัพย์

หนี้ 56 ไฟแนนซ์สูญ 86% เอกธนกิจคืนได้ 12% กรมบังคับคดีลุยขายทรัพย์

หนี้ 56 ไฟแนนซ์สูญ 86% เอกธนกิจคืนได้ 12% กรมบังคับคดีลุยขายทรัพย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมบังคับคดีแจงยอดหนี้ 56ไฟแนนซ์จ่อสูญ 86% หลังรวบรวมทรัพย์เฉลี่ยคืนเจ้าหนี้แล้วเกือบ 14% เผยบง. เอกธนกิจฯ มูลหนี้กว่า 3 หมื่นล้าน แต่ชำระคืนได้แค่ 12% “รื่นวดี” ลุยระบายทรัพย์คดีล้มละลายตั้งแต่ตุลาคมนี้หลังผ่าน 8 เดือนประมูลทรัพย์แล้วกว่า 8.8 หมื่นล้าน

fi2

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การติดตามรวบรวมทรัพย์สถาบันการเงิน 56 แห่ง นับแต่พิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดีได้รวบรวมทรัพย์และเฉลี่ยจ่ายบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมด จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2560 รวม 447 ครั้ง มูลค่าร่วม 8.66 หมื่นล้านบาทเศษ คิดเป็นอัตรา 13.77% โดยจ่ายส่วนแบ่งอัตราเท่าเทียม 24,283 ล้านบาท และจ่ายส่วนแบ่งตามบัญชี6.23 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งหมดที่ศาลให้เจ้าหนี้ได้รับชำระ 6.29 แสนล้านบาท คงเหลือ 5.42 แสนล้านบาทคิดเป็น 86.23%

ในส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ)ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในสัดส่วน 87% นั้นได้รับเงินส่วนแบ่งเฉลี่ย 13.24% วงเงิน 7.95 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งหมดที่ศาลให้กองทุนได้รับชำระ 6 แสนล้านบาทโดยคงเหลืออีก 5.21 แสนล้านบาท

จำนวนหนี้ที่กองทุนฟื้นฟูฯได้รับชำระ 7.95 หมื่นล้านบาท พบว่า 10 สถาบันการเงินที่เฉลี่ยคืนสูงสุด 42% และตํ่าสุดประมาณ 6%

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า คดีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรวบรวมทรัพย์สินบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อนำมาชำระให้บรรดาเจ้าหนี้แต่ทรัพย์สินที่รวบรวมได้ไม่เพียงพอชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ทุกรายจนครบ โดยมีปัจจัยภายนอกทำให้ไม่อาจดำเนินการปิดคดี เช่นอยู่ระหว่างชำระเงินตามคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้และมีเงื่อนไขระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หรือติดตามผลบังคับคดีล้มละลาย ผู้ล้มละลายได้ขอยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีนั้นๆเช่นบง.บางกอกเงินทุนฯบงล. อินเตอร์เครดิตแอนด์ทรัสต์ฯ บง.ธนสินธุ์ฯ และบง.ทรัพย์ธำรงฯ

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กระบวนการทางกฎหมายไทยได้มีการแก้ไขตามข้อสังเกตของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประกอบด้วย เรื่องการฟื้นฟูกิจการ ต่อมาร่นระยะเวลาพ้นสภาพล้มละลายสำหรับบุคคลสุจริตจาก 10 ปี ไม่มีทรัพย์เป็นภายใน 3 ปี ในปี 2547 และปี 2558 แก้ไขเรื่องประนอมหนี้และให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถพิจารณาได้เอง ตามด้วยกฎหมายล้มละลายเปิดโอกาสให้ฟื้นฟูกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี และปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายล้มละลายข้ามชาติ เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงต่อกัน ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายล้มละลายนั้นเป็นกรอบชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน โดยการรวบรวมทรัพย์สินคืนเจ้าหนี้ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

“แม้เราจะทำได้ดีระดับหนึ่งแต่จะต้องรวบรวมทรัพย์สินคืนเจ้าหนี้โดยใช้เวลาน้อยลงและต้องอาศัยความร่วมมือกับเจ้าหนี้ เพราะที่สำคัญต้องมีฐานข้อมูลลูกหนี้ที่แม่นยำเพราะกรมบังคับคดีเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น แต่ต่อไปเรื่องระบบบริหารจัดการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคดีล้มละลายจะดีเดย์ได้ก่อนสิ้นปีงบ ประมาณ 2560 ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้น สามารถทยอยตรวจรับงานเป็นเฟสๆ และตอบโจทย์รัฐบาลไทยแลนด์ 4.0ด้วย”

fi3

 

ส่วนความคืบหน้าการระบายทรัพย์ นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า 8 เดือนครึ่งที่ผ่านมา กรมสามารถประมูลขายทอดตลาดทรัพย์แล้วจำนวน 8.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีงบประมาณจะสามารถทยอยประมูลได้เกินเป้าทั้งปีที่กำหนดไว้ 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายฐานกลุ่มผู้ซื้อใหม่ๆ และจัดกิจกรรมประมูลทรัพย์ในวันเสาร์อาทิตย์เพียง 26 สำนักงานซึ่งผลตอบรับดีอย่างมาก

สำหรับปีงบประมาณ 2561 กรมตั้งใจที่จะอำนวยความสะดวกโดยจะเริ่มให้สำนักงานหรือสาขาที่มีอยู่ 108 แห่งทั่วประเทศ เปิดขายในวันเสาร์ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ซึ่งขณะนี้มีการตอบกลับมาและพร้อมเปิดให้บริการจำนวน 106 สำนักงาน จึงคาดว่าจะสามารถระบายทรัพย์ที่คงเหลือปัจจุบันประมาณ 2.2แสนล้านบาทได้มากกว่าหรือใกล้เคียงปีนี้

นอกจากนี้ในปีงบ ประมาณ 2561 กรมยังมุ่งเน้นระบายทรัพย์คงค้างที่มีอายุเกิน 10 ปีประมาณ 1.7หมื่นล้านบาท เพื่อทยอยประมูลขายออก 30% ต่อปี และปีงบประมาณหน้าจะเข้มงวดกับคดีล้มละลายมากขึ้น หลังจากปีนี้ให้นํ้าหนักคดีแพ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook