สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ ต้องรู้! ก่อนการจัดตั้งบริษัท

สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ ต้องรู้! ก่อนการจัดตั้งบริษัท

สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ ต้องรู้! ก่อนการจัดตั้งบริษัท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ หลายคนคงยังไม่เข้าใจขั้นตอน ในเรื่องของ การจัดตั้งบริษัท ที่ไม่ว่าจะเป็น ข้อพิจารณาในการจัดตั้งหรือแม้กระทั่ง การจดทะเบียนบริษัท ซึ่งในความหมายนั้นมีขั้นตอนการเป็นมาอย่างไร แล้วทำไมเราจึงควรที่จะจัดตั้งบริษัทจำกัด ? วันนี้ TERRA BKK มีคำตอบให้กับคนที่กำลังคิดริเริ่มที่จะลงทุนการค้าเพื่อดำเนินธุรกิจสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนและข้อกำหนดในการจัดตั้งบริษัทจำกัด

แน่นอนว่าก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับความหมายของ “บริษัทจำกัด” เสียก่อน ซึ่งนั่นก็หมายถึง องค์กรธุรกิจ ที่มีผู้ลงทุนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงทำการค้าร่วมกันเพื่อหากำไร และแบ่งกำไรที่ได้จากการดำเนินการนั้น โดยแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ ละเท่ากัน โดยผู้ลงทุนเราเรียกว่า “ผู้ถือหุ้น” และผู้ถือหุ้น มีความรับผิดชอบจำกัดเท่าที่ตกลง ลงหุ้นในบริษัทเท่านั้น ซึ่งข้อพิจารณาในการจัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้

• ความน่าเชื่อถือ แม้ว่าการดำเนินกิจการในรูปแบบของบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทและบุคคลภายนอกที่ติดต่อธุรกิจกับบริษัท หรือแม้แต่คู่ค้าของบริษัท เจ้าหนี้ธนาคาร ตลอดจนผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้าลงทุนในบริษัท

• ความมั่นคงของกิจการ บริษัทเป็นองค์กรธุรกิจที่กฏหมายต้องการให้มีชีวิตยาวนานไปได้จนกว่าผู้ถือหุ้นผู้เป็นเจ้าของบริษัทจะประสงค์ให้เลิกบริษัท แม้ผู้ถือหุ้นจะเสียชีวิต ล้มละลายหรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ บริษัทจะไม่ถูกกระทบกระเทือน เมื่อบริษัทมีความมั่งคงก็เป็นการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างหนึ่งให้บุคคลภายนอก ที่อยากจะเข้าทำธุรกรรมด้วย
ลดความเสี่ยง ความรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของกิจการเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้ตนเองต้องเป็นหนี้เป็นสินเกินกว่า ส่วนลงทุน เมื่อผู้ลงทุนสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ บริษัทจึงเป็นรูปแบบองค์กรธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการจำกัดความรับผิดของตนเป็นอันดับแรก

• การระดมทุน หากการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก การพึ่งพาเงินทุนของผู้ลงทุนในจำนวนไม่กี่คนอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานของบริษัท กฎหมายบริษัท จึงตอบสนองความต้องการเงินทุนของกิจการด้วยการไม่ผูกโยงบริษัทเข้ากับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ ในการดำเนินงานอย่างมีรูปแบบโดยคณะกรรมการ

• รองรับการเติบโตในอนาคต แม้บริษัทจำกัดจะเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการลงทุนไม่มากด้วยการระดมทุน เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัทมหาชนจำกัด ที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถระดมทุนได้จากประชาชน แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็จะกำหนดกระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุน ดังนั้น เมื่อการลงทุนของผู้ประกอบการในขั้นต้นยังไม่ต้องการเงินทุนจำนวนมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มจะขยายกิจการให้เติบโตในอนาคต ดังนี้ การจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดก็จะเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจที่จะแปรสภาพเป็น “บริษัทมหาชนจำกัด” ในอนาคต

การจดทะเบียนและผลการจดทะเบียน

แม้การริเริ่มก่อตั้งบริษัทจะเกิดจากความต้องการของคู่สัญญา เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน แต่บริษัทจำกัดนั้นจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ส่วนการดำเนินธุรกิจใดๆ ก่อนหน้าการจัดตั้งบริษัท ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน” ซึ่งกระบวนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด มีระยะเวลาการจัดตั้งด้วยวิธีการปกติต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 9 วัน (เนื่องจากต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นตั้งบริษัทล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน) อย่างไรก็ดี การจัดตั้งบริษัทอาจทำได้แล้วเสร็จ ภายใน 1 วัน โดยต้องดำเนินการขั้นตอน (1) (3) และ (4) มาล่วงหน้าและยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทพร้อมกับการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ โดยต้องดำเนินการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียน ซึ่งกำหนดแบบฟอร์มและเงื่อนไขสำหรับการจดทะเบียน

 

 l2

ขั้นตอนทางปฏิบัติในการจัดตั้งบริษัทจำกัด


จำนวน “ผู้เริ่มก่อการ” มีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งบริษัทจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นจัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ ผู้เริ่มก่อการต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ร่วมลงทุนมีจำนวนเพียง 2 ฝ่าย ก็ต้องแต่งตั้งผู้เริ่มก่อการให้ได้ถึง 3 คน ไม่เช่นนั้นนายทะเบียนจะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน และเมื่อจัดตั้งบริษัทเสร็จแล้วก็ต้องมี จำนวน “ผู้ถือหุ้น” ไม่น้อยกว่า 3 คน เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในขั้นตอนการนำหุ้นออกจำหน่ายก็ต้องมีผู้เข้าซื้อหุ้นไม่น้อยกว่า 3 คน รวมถึงเมื่อขณะดำเนินกิจการก็ต้องมีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 3 คน ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเหตุให้มีการร้องขอต่อศาลเพื่อเลิกบริษัทได้

ผลการจดทะเบียน เมื่อการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ บริษัทที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ก็จะมีความเป็นบุคคลในทางกฏหมายแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นที่เรียกว่า “นิติบุคคล” บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่มีสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นแต่ละราย สัญญาหรือความผูกพันใดๆ ที่บริษัทได้ทำขึ้นกับบุคคลที่สามผูกพันแต่เฉพาะตัว “บริษัท” นี้เท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่ใดๆ แก่ผู้ถือหุ้นโดยส่วนตัวที่จะเรียกร้องหรือต้องรับผิดต่อบุคคลที่สามด้วยตนเอง

หนังสือบริคณห์สนธิ เป็นเอกสารที่สำคัญเพื่อการจัดตั้งบริษัทมีรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ และวัตถุที่ประสงค์ของบริษัท จำนวนทุนบริษัท จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น ชื่อผู้เริ่มก่อการซึ่งต้องมีจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ทั้งนี้นายทะเบียนมีแบบฟอร์ม บอจ. 2 ไว้ให้สำหรับการจดทะเบียนโดยเฉพาะ

ข้อบังคับบริษัท เป็นเอกสารที่ระบุความตกลงหรือกติการะหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้นและการจัดการงานของบริษัท ซึ่งในทางธุรกิจจะประกอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่อง ได้แก่

• หุ้นและผู้ถือหุ้น
• กรรมการ
• การประชุมผู้ถือหุ้น
• งบดุล เงินปันผลและเงินสำรอง
• ผู้ชำระบัญชี

ทั้งนี้ ข้อบังคับไม่เป็นเอกสารที่บังคับให้ต้องมีเพื่อการจดทะเบียนเพราะกติกาการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัทใช้ตามที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทมักจัดให้มีข้อบังคับเป็นของตนเองและต้องนำไปจดทะเบียนเพื่อให้บุคคลในบริษัท และบุคคลภายนอกรับทราบกติกาหรือข้อตกลงการบริหารจัดการงานของบริษัท

อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook