ที่รถไฟ ‘ไทย-จีน’ บูม ปากช่องพุ่ง300% ‘เจริญ-TPI’ซื้อดะ!
ปากช่องร้อนฉ่า อานิสงส์รัฐบาลผลักดันรถไฟไทย-จีนดันราคาที่ดินพุ่งเว่อร์ 300% คาดขยับพรวดพราดช่วงก่อสร้างอีกรอบ จับตาจังหวัดใกล้เคียงกระพือตามโคราช “เบียร์ช้าง-ทีพีไอ” เสือปืนไว ซื้อที่ล่วงหน้ากรุงเก่า-เกาะแนวรถไฟ
โครงการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่รัฐบาลคสช.งัดมาตรา 44 เพื่อเร่งการก่อสร้าง กำลังส่งผลต่อราคาที่ดินจังหวัดนครราชสีมาอย่างมีนัยสำคัญ จนที่ดินรอบๆ สถานีแทบไม่เหลือให้ซื้อ
นายกฤช หิรัญกิจ ประธานที่ปรึกษานายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนคร ราชสีมา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาที่ดินเริ่มขยับตั้งแต่มีการประกาศนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2556 โดยมีทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ส่งผลราคาที่ดินปรับขึ้นเฉลี่ยเกือบ 100% ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนให้รถไฟไทย-จีนเดินหน้าครั้งล่าสุด จากปฏิกิริยาของราคาที่ดินเริ่มทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา แนวโน้มกำลังขยับขึ้นอย่างพรวดพราด โดยเฉพาะหลังจากตอกเสาเข็มหรือช่วงที่มีการก่อสร้างถึงก่อสร้างเสร็จ
สถานีปากช่องไร่ละ40ล.
อำเภอปากช่อง อนาคตจะกลายเป็นเมืองไฮเอนด์ของการพักอาศัยและท่องเที่ยว เพราะการเดินทางสะดวก เชื่อมระหว่างเมืองโดยใช้รถไฟไทย-จีน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต หรือจะขับรถเดินทางเองก็ได้ ซึ่งราคาที่ดินบริเวณสถานีปากช่อง รัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร แปลงขนาดเล็กไม่เกิน 2-5 ไร่ ราคาไร่ละ 40 ล้านบาท รัศมีเกิน 1 กิโลเมตรรอบสถานี ราคา 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นแปลงด้านหน้าติดถนน หรือแปลงที่ซื้อเพื่อทำทางเข้า-ออกสู่แปลงที่ดินด้านในที่ลึกเข้าไป และแปลงที่ดินด้านในราคา 5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งบริเวณที่กล่าวมาอาจมีที่ดินของรัฐปะปน และยังเป็นทุ่งโล่งๆ ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่จะอยู่ในมือนักลงทุนรายใหญ่ เช่น กลุ่มซีพี ไทยเบฟ และนักลงทุนจากกรุงเทพฯได้ซื้อเก็บรอพัฒนาแล้ว
ที่ดินติดถนนมิตรภาพ ก่อนขึ้นเขาใหญ่ ราคาซื้อขายอยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคายังไม่ขยับจาก 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้มีการยกเลิกโครงการออกไปส่วนที่ดินติดถนนธนะรัชต์ ระหว่างกิโลเมตรที่ 1-4 แปลงเล็กบอกขายกัน 40 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งเหมาะพัฒนาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวจากการพัฒนาและซื้อขายต่อเนื่อง
“ที่ดินส่วนใหญ่จะอยู่ในมือนายทุน ปัจจุบันราคายังทรงๆ ทำเลตำบลหมูสี 20-40 ล้านบาทต่อไร่ ธนะรัชต์ กิโลเมตรที่ 4 ส่วนที่ดินด้านในราคากว่า 10 ล้านบาทต่อไร่โดยปี 2558 ราคาที่ดินขึ้น 30-50% จากปี 2557 ปี 2559 ขึ้น 50% จากปี 2558 ขึ้นมา 100%”
นายทุนแห่ตุนที่เขตเมือง
ในเขตเมืองโคราช ห่างจากอำเภอปากช่อง 80-90 กิโลเมตร ราคาที่ดิน ขยับสูงโดยเฉพาะเจ้าถิ่นและนักลงทุนส่วนกลางเข้ามาซื้อที่ดิน ทั้งนี้เริ่มจากโครงการซิตีลิงค์ ของบริษัทคลังคาซ่าฯ 250 ไร่ อยู่ติดถนนมิตรภาพ ก่อนถึงเดอะมอลล์โคราช และ ที่ดินสวนผัก รวมทั้งที่จอดรถหลังห้างเดอะมอลล์ ที่ลูกชายของนางสุจินดาเชิดชัย กว้านซื้อประมาณ 500-1,000ไร่ นอกจากนี้บนถนนมิตรภาพยังมี ห้างเซ็นทรัล และ บมจ.ซี.พี.แลนด์ ซื้อที่ดินเตรียมพัฒนาโครงการในอนาคต ขณะที่บมจ.แสนสิริ ประกาศขายที่ดินจำนวน 6 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีแผนพัฒนาคอนโดมิเนียม เดอะเบส
ส่วนราคาที่ดินย่านชานเมืองโคราชก็เริ่มขยับตัวอย่างคึกคัก อาทิ ตำบลจอหอ ตำบลบ้านใหม่ ฯลฯ รัศมี 20กิโลเมตรห่างจากใจกลางเมืองราคา 5 ล้านบาทต่อไร่ เทียบจาก 5 ปีที่ผ่านมาราคาเพียง 5 แสน-1ล้านบาทต่อไร่เท่านั้น
สอดรับกับนางสาว พิมพ์อร สุริ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โคราชแยกออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งปากช่อง หรือ เขาใหญ่ และ ฝั่งเมืองโคราช เฉลี่ย ราคาที่ดินขยับขึ้น 200- 300% เมื่อเทียบจากปี 2558 แต่การปรับราคาทั้งนี้ยอมรับว่าที่ดินบางแปลงติดถนนธนะรัชต์ ราคา สูงถึง 40 ล้านบาทต่อไร่ ทั้งนี้เกิดจากกระแสก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนหน่วยรอการขายที่เขาใหญ่ 7,400 หน่วยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม
กลางเมืองไร่ละ40ล้าน
นอกจากรถไฟไทย-จีน ที่จะมีการก่อสร้างในเดือนกันยายน นี้ ยังมีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และรถไฟทางคู่ รวมถึงมีห้างสรรพสินค้าชั้นนำเช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทอร์มินอล 21 ยิ่งทำให้ที่ดินเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้วันนี้ราคาที่ดินใจกลางเมืองโคราชไร่ละกว่า 40 ล้านบาท หรือตารางวาละ กว่า 100,000 บาท
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธาน กิตติมศักดิ์ หอการค้า จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทำเลแนวรถไฟไทย-จีน จะช่วยให้ เกิดแหล่งงาน แหล่งท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ทำเลที่น่าสนใจจะเป็นอยุธยา-ปากช่อง อนาคตโคราชจะเป็นเมืองแฝดคู่กับกทม.และอนาคตฟันธงว่า เขาใหญ่จะกลับมาบูมอีกครั้ง ทั้งๆที่ปัจจุบันราคาที่ดินแพงมาก และเชื่อว่า จะโก่งราคาขายขึ้นไปอีก
เบียร์ช้าง-ทีพีไอซื้อที่ดัก
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งสาเหตุที่ที่ดินแนวรถไฟราคาพุ่งสูง เนื่องจากเอกชนรายใหญ่อย่างเบียร์ช้างและทีพีไอซื้อที่ดิน เกาะแนวสถานี รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อก่อสร้างรับส่งกระจายสินค้า เองเชื่อมต่อกับร.ฟ.ท.โดยไม่พึ่งพาศูนย์กองเก็บสินค้าของร.ฟ.ท.ที่กำหนดไว้
ค่ายไทยเบฟของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซื้อที่ดินติดสถานีบ้านม้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 200-300 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่คาดว่าค่ายช้างจะซื้อที่ดินดักไว้ตามแนวสถานีรถไฟใหญ่ๆ อย่างสถานีปากช่อง สถานีสีคิ้ว หรือค่ายทีพีไอที่ซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ สร้างศูนย์กระจายสินค้า ที่เพิ่งเปิดใช้งานที่สถานีเชียงรากน้อย อยุธยา
นอกจากนี้ยังมีเอกชนซื้อที่ดินต่อกับรางรถไฟ ห่างจากตัวสถานีที่ ขอนแก่นและหนองคายเพียง 2 กิโลเมตรเชื่อมเข้าเหมืองแร่โปรแตชรวมถึงนักธุรกิจจากญี่ปุ่นเกาหลี อาทิ โตโยต้า ยูเซอร์ขอเชื่อมต่อเส้นทางเช่นเดียวกันซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของโลจิส ติกส์ที่เอกชนให้ความสนใจในขณะนี้