สกัด EARTH แบงก์ค้านแผน‘ล้มบนฟูก’
แบงก์ถกด่วนวางแผนค้านฟื้นฟู สกัด “EARTH” ล้มบนฟูก กังขาหนี้งอก 4.7 หมื่นล้าน แถมเงินมัดจำ 1 หมื่นล้านล่องหน “เอิร์ธ” แจงครั้งแรกหนี้เพิ่มจากความเสียหายในอนาคต ยันยังไม่ล้มละลาย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า ธนาคารเจ้าหนี้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน)(EARTH) รายหนึ่งเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เจ้าหนี้มีความสงสัยว่าเหตุใดมูลหนี้ของบริษัทเอิร์ธฯ ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการนั้นเพิ่มขึ้นจนผิดปกติ มีการนำเบี้ยปรับของเจ้าหนี้การค้า มารวมเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ เพื่อให้ได้สิทธิชนะโหวตเจ้าหนี้สถาบัน
การเงิน
“เป็นแทกติกสร้างมูลหนี้ขึ้นมา ซึ่งไม่ผิด แต่มีผลต่อเสียงโหวตของเจ้าหนี้สถาบันการเงินลดลง และอาจจะแพ้โหวตในวาระต่างๆ เช่น การเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ การโหวตแผนฟื้นฟู ตลอดจน การเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟู” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า 4 เจ้าหนี้สถาบันการเงินของบริษัทเอิร์ธฯ จะประชุมร่วมกันครั้งแรกในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะหารือถึงแนวทางคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินประเมินแล้วว่ามูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีความเป็นธรรม
บริษัทเอิร์ธฯ ยื่นขอฟื้นฟู ด้วยมูลหนี้ 47,000 ล้านบาท มากกว่าหนี้สินที่แจ้งในงบการเงินในไตรมาส 1/2560 ที่มีเพียง 25,034 ล้านบาท โดยคาดว่าเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 18,150 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 12,000 ล้านบาท กสิกรไทย 3,800 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 1,200 ล้านบาท เอ็กซิมแบงก์ 350 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้บี/อี หุ้นกู้ ที่จัดจำหน่ายโดยบล. เคจีไอฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ บล.โนมูระฯ และบล.กรุงไทย รวมกันอีกกว่า 7,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้เป็นรอบต่อไป กังขาเงินมัดจำหมื่นล้าน
เจ้าหนี้รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาทที่บริษัทเอิร์ธฯเคยแจ้งกับธนาคารเจ้าหนี้ว่า เป็นวงเงินมัดจำสำหรับการซื้อถ่านหินล่วงหน้า แต่ถ้าข้อมูลหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินตามที่บริษัทเอิร์ธฯให้เหตุผลในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แสดงว่าวงเงินมัดจำตรงนี้ต้องไม่มีจริงและอาจมีผลต่อผู้บริหารและผู้ตรวจสอบบัญชี
“เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าบริษัทเอิร์ธฯจะมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ที่สำคัญบริษัทเอิร์ธฯมีบริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮ้าส์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและเป็นผู้ตรวจสอบระดับสากล”
สำหรับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติการจะเข้าสู่กระบวนการต้องผ่านขั้นตอนหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วย โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
“เกมนี้จึงขึ้นอยู่กับแบงก์กรุงไทย โดยแบงก์เจ้าหนี้อื่นก็ต้องรอดูว่าเจ้าหนี้หลักจะเห็นอย่างไร”
ผ่างบไตรมาสแรก
งบการเงินไตรมาส 1/2560 ของบริษัทเอิร์ธฯ ที่ลงนามรับรองโดย นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร และ นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ มีรายได้จากการขาย 7,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้แค่ 3,736 ล้านบาท มีต้นทุนการขาย 7,029 ล้านบาท และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 341 ล้านบาท
บริษัทเอิร์ธฯ จ่ายเงินค่าล่วงหน้าในการซื้อสินค้า 8,825 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีแค่ 7,065 ล้านบาท มีเงินจองซื้อสินค้าในการรับซื้อถ่านหิน 11,681 ล้านบาท มีสินทรัพย์ในเหมืองถ่านหิน 8,207 ล้านบาท มีสินทรัพย์หมุนเวียน 17,589 ล้านบาท สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 18,135 ล้านบาท
ในฝั่งเจ้าหนี้มีเงินกู้เบิกเกินบัญชีที่ใช้ที่ดิน อาคารไปเป็นหลักทรัพย์อยู่ 10,730 ล้านบาท โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 6.275-6.8% มีเจ้าหนี้ตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ 1,790 ล้านบาท มีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นๆ 1,333 ล้านบาท มีหนี้สินตามสัญญาเช่า 2 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สินหมุนเวียน 16,763 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 8,270 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ เฉียด 7,900 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสัญญาเช่าระยะยาว
EARTH แจงหนี้งอก
นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) ชี้แจง “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจาก 2.5 หมื่นล้านบาท ตามที่แจ้งในงบการเงินไตรมาส 1/ 2560 ว่า เป็นภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการเตรียมความเสียหายจากการทำธุรกิจและการสัญญาหลายอย่างกับคู่ค้า ซึ่งมีสาเหตุจากการทำธุรกิจไม่ได้หลังเกิดปัญหาขึ้นกับบริษัทจนต้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง
สำหรับการสัญญากับ คู่ค้า เช่น การนำบริษัท กวางตง เอ็นเนอร์ยี่ฯ บริษัทย่อยในประเทศจีน เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งมีแผนยื่นขอเสนอขายหุ้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยข้อมูลเสนอขายหุ้นเข้าเงื่อนไขของก.ล.ต.ฮ่องกงแล้ว แต่ตอนนี้การเข้าตลาดหุ้นต้องสะดุด แต่ธุรกิจซื้อมา-ขายไปถ่านหินภายในประเทศจีน ยังทำธุรกิจได้ตามปกติ จากเงินสนับสนุนของธนาคารพาณิชย์บางแห่งของไทย
ยันยังไม่ล้มละลาย
นายธนาวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทเอิร์ธฯ วางรากฐานการเติบโตในประเทศจีนไว้อย่างดี อนาคตบริษัทขณะนี้จึงฝากไว้ที่ธุรกิจถ่านหินในประเทศจีน ที่มีโอกาสโตสูง จากการบริโภคถ่านหินปีละ 3,000 ล้านตัน/ปี แต่บริษัทเอิร์ธฯ ขายปีละ 10 ล้านตัน เท่านั้น ส่วนการขายถ่านหินระหว่างประเทศ ต้องชะลอตัวจากการขอฟื้นฟูกิจการ
“ถึงขณะนี้บริษัทไม่ได้ล้มละลาย และไม่ได้ยื่นขอล้มละลาย เป็นการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทตั้งใจจะทำธุรกิจคืนหนี้ทั้งหมด การเลือกเข้าแผนฟื้นฟู เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย ให้หุ้นกลับมาซื้อขายเร็วที่สุด การให้บริษัทเป็นผู้บริหารแผน และออกจากแผนให้เร็วที่สุด หากยิ่งนานเครื่องหยุดผลิตถ่านหิน ความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้น”
ขณะที่ ก.ล.ต.ไม่ผ่อน
ผันให้ EARTH ขยายระยะเวลานำส่งรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ที่ครบกำหนดส่งวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาพร้อมพิจารณาการทำหน้าที่ของผู้บริหารเร่งนำส่งราย งานเปิดเผยข้อมูลผ่านตลาด หลักทรัพย์
การที่ EARTH ไม่ดำเนินการตามคำสั่งของ ก.ล.ต. เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรา 58 (3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 274 และมาตรา 300 และอาจเป็นเหตุให้กรรมการและผู้บริหาร เข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต