ผ่าเมือง! เวนคืนสีส้มตะวันตก ห้างพันธุ์ทิพย์ส้มหล่น
คนกรุงระทึก! รฟม. เวนคืนรถไฟฟ้า 5 สาย ผ่ากลางเมือง กวาดเรียบบ้าน-ที่ดินตลอดแนว 3,838 ราย เผย สายสีส้มตะวันตก สถานีกินพื้นที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า-ห้างกรุงทองประตูนํ้า ส่วนเดอะมอลล์รามฯ ทั้ง 2 ฝั่ง ดึงเอกชนร่วมพัฒนา
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3-5 ส.ค. 2560 รายงานว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปแล้ว ล่าสุด ยังเตรียมอนุมัติอีกหลายเส้นทางภายในปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาจราจรและเอื้อต่อการพัฒนา ขณะที่มุมกลับ กลุ่มที่ต้องออกจากพื้นที่ เพราะถูกกระทบจากการเวนคืนก็มีจำนวนไม่น้อย
อีก 5 สายเข้า ครม.
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. (กลยุทธ์และแผน) รักษาการผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้เร่งผลักดันรถไฟฟ้าส่วนที่เหลือเข้า ครม. ให้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเชื่อมโครงข่ายการเดินทางให้ครอบคลุม ขณะเดียวกันโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ก็เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผน เช่น โครงการสายสีส้ม (ตะวันออก) ที่เริ่มก่อสร้างช่วงรามคำแหงไปแล้ว ขณะที่พื้นที่ไหนเจรจาไม่ยุติก็ใช้วิธีเวนคืน นอกจากนี้สายสีส้ม (ตะวันตก) ที่รอเข้า ครม. ได้ปรับแบบใหม่ โดยปรับตัวสถานีราชปรารภไปอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์ และให้มุดลงใต้ดินบริเวณกลางประตูนํ้า เพื่อลดผลกระทบชุมชน อย่างไรก็ดีขณะนี้ รอทางสภาพัฒน์พิจารณา
ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสริมว่า เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท เข้า ครม. เพื่ออนุมัติก่อสร้างโครงการต่อจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และภายในปี 2560 ทุกเส้นทางที่เหลือจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ทั้งหมด ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง-ตลิ่งชัน-ศาลายา โครงการก่อสร้างสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต และโครงการส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 กระทบ 3,838 ราย
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวเสริมว่า รฟม. เตรียมเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จำนวน 5 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดินต่อกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบจากการเวนคืนจำนวน 3,838 ราย แยกเป็น โครงการสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่ดิน 594 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 222 หลังคาเรือน รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ จำนวน 505 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 331 หลังคาเรือน สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะจำนวน 410 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน ตามด้วยสายสีชมพู 676 ราย เนื้อที่ 277 ไร่ ซึ่งพื้นที่สร้างเดโปจะอยู่ติดกับตลาดมีนบุรี เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ขณะที่สายสีเหลืองจำนวน 386 ราย เนื้อที่ 150 ไร่ พื้นที่ เวนคืนส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านข้างโรงแรมโนโวเทลศรีนครินทร์ ตรงข้ามวัดศรีเอี่ยม เพื่อสร้างเป็นเดโป 150 ไร่
เจรจาพันธุ์ทิพย์
สำหรับพื้นที่ที่กระทบหนักจะเป็นสายสีส้มตะวันตก ที่เตรียมเสนอเข้า ครม. อนุมัติก่อสร้างเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากแนวสายทางจะผ่านกลางเมืองและย่านธุรกิจหลายทำเล ทั้งนี้ แนวสายทางเริ่มจากบริเวณศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งจะเป็นอุโมงค์อยู่ใต้ห้างเอสพลานาด ซึ่งที่ผ่านมาทาง รฟม. ได้ออกแบบร่วมกันกับเอกชนเมื่อปี 2552 โดยให้เอกชนตอกเสาเข็มถ่างเว้นช่องว่าง 6 เมตร เผื่อสายสีส้มตะวันตกวิ่งลอดผ่านทำให้ไม่ต้องเวนคืนจากนั้นแนวสายทางวิ่งไปยังถนนประชาสงเคราะห์ มีบ้านอยู่อาศัย หอพัก อาคารพาณิชย์ ถูกเวนคืน 184 หลัง เลี้ยวไปตามเส้นทางหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ทะลุออกสวนสาธารณะข้างถนนวิภาวดีฯ ตรงไปเลี้ยวขวา เป็นสถานีราชปรารภเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงค์
ซึ่งบริเวณนี้มุดใต้ดินผ่านกลางประตูนํ้าและเป็นสถานีโผล่บริเวณด้านหน้าของห้างพันธุ์ทิพย์ ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี และฝั่งตรงข้ามจะเป็นสถานีขึ้นลงบริเวณด้านหน้าห้างกรุงทอง อย่างไรก็ดี รฟม. เตรียมเจรจากับเอกชนเนื่องจากเป็นพื้นที่ของห้าง ซึ่งไม่แน่ใจว่า ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งทางออก รฟม. และเอกชนจะพัฒนาร่วมกัน เพราะรถไฟฟ้าต้องเปิดให้บริการจนถึงเที่ยงคืน ขณะที่ห้างย่อมได้ประโยชน์แน่นอน
เดอะมอลล์ถูกหวย
ขณะที่ สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21 กิโลเมตร รฟม. จะเข้าพื้นที่ทันทีหลัง พ.ร.ฎ.เวนคืน โดยวิธีพิเศษ บังคับใช้ โดยจะใช้วิธีวางเงิน ค่าชดเชยไว้กับธนาคารออมสิน และนำที่ดินส่งมอบให้กับผู้รับเหมา ภายใน 390 วัน เพื่อป้องกันเจ้าของที่ดินดึงเรื่อง แนวสายทางเริ่มจากบริเวณด้านหลังเต็นท์รถ ฝั่งตรงข้ามห้างเอสพลานาดรัชดาฯ ซึ่งเป็นที่ดินของ น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ที่เวนคืนประมาณ 5 ไร่ ที่ดินของบริษัทแหลมทองค้าสัตว์ จำกัดประมาณ 3 ไร่ ตลอดจนที่ดินของนายพันธ์เลิศ ใบหยก บางส่วนที่จะก่อสร้างเป็นสถานี จากนั้นวิ่งไปทางรามคำแหงจะเวนคืนพื้นที่บางส่วนบริเวณหน้าห้างเดอะมอลล์รามคำแหงทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 20 เมตร
บีทีเอสหาที่ดิน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทที่ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองขณะนี้ รฟม. ยังไม่ส่งมอบพื้นที่ ซึ่งการเวนคืนจะกระทบบริเวณพื้นที่สร้างเดโปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการซื้อที่รอพัฒนาทำเลรถไฟฟ้านั้น ยอมรับว่า ได้ดูอยู่เช่นกัน แต่ยังไม่มีที่ดินในแนวรถไฟฟ้า 2 เส้นนี้