คลัง แจงมาตรการ ลดภาษี- สินเชื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม

คลัง แจงมาตรการ ลดภาษี- สินเชื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม

คลัง แจงมาตรการ ลดภาษี- สินเชื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลังแจงมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 เปิดให้ผู้บริจาคนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 50 % จากปรกติ พร้อมยกเว้นภาษีในส่วนค่าซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ดัน ธพว. ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู SMEs ดอกเบี้ยต่ำ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 ประกอบด้วย 2 มาตรการโดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

1.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านส่วนราชการ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การหรือสถานสาธารณกุศล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินบริจาคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินไปให้ผู้ประสบอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 – 31 ตุลาคม 2560 สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่ายตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบ

1.2 มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่

1) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์
กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินสามหมื่นบาท

 

2. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) (ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560)

ธพว. ได้จัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 (โครงการฯ) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ SMEs ทั้งลูกค้าเดิมของ ธพว. และลูกค้าใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย โดย ธพว. ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 4 - 7 เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด โดยผู้กู้ต้องมีหลักประกันหรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันได้ ซึ่งหากใช้ บสย. ค้ำประกันจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในปีแรก

ทั้งนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการฯ ดังกล่าวให้ครอบคลุมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 โดยการกำหนดเขตพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติตามโครงการฯ นี้ ให้เป็นไปตามที่ ธพว. หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดเป็นคราว ๆ ไป ทั้งนี้ ให้มีระยะเวลาการขอสินเชื่อ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรือจนกว่าจะเต็มวงเงินแล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง อาทิ เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินราชพัสดุที่ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการเงินที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย การพักชำระหนี้ การผ่อนผันและการประนอมหนี้ รวมถึงการบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการเร่งประสานการชดเชยค่าสินไหมทดแทน กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ ผ่านทางหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้โดยตรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook