3 แนวคิดลงทุนกับลูกในยุคแข่งขันสูง

3 แนวคิดลงทุนกับลูกในยุคแข่งขันสูง

3 แนวคิดลงทุนกับลูกในยุคแข่งขันสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมกำลังจะเป็นพ่อในอีกไม่กี่วันนี้ ในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมาก็ได้ศึกษาศาสตร์แห่งการพัฒนาเด็กมาไม่น้อย บวกกับตัวเองทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์อยู่แล้ว วันนี้ผมเลยจะมาเสนอ 3 แนวคิดของผมเกี่ยวกับการลงทุนกับลูกในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมันเร็วยิ่งกว่ากระพิบตาและค่าเล่าเรียนแพงขึ้นทุกปีจนทำให้พ่อแม่รุ่นใหม่ๆ ครุ่นเครียดกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ผมไม่ได้ต้องการให้เรามองว่าลูกเป็นสินทรัพย์ที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับพ่อแม่แต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่าพ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี มีความสุข และเป็นคนที่สมบูรณ์เสียยิ่งกว่าตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ล้วนแต่ต้องแลกมาด้วยทรัพยากรของพ่อแม่ในระยะแรกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เวลา เงิน หรือ ความรู้และความใส่ใจของพ่อแม่
ไหนๆ จะ “ลงทุน” แล้วก็ควรลงทุนอย่างมีระบบนิดนึงจริงไหมครับ

แนวคิดแรก: 1 บาทวันนี้คุ้มกว่า 1 บาทพรุ่งนี้ (มาก)

แนวคิดนี้ไม่ได้ต่างจากแนวคิดกระแสหลักในการลงทุนที่เราเคยได้ยินนัก แต่ต่างกันตรงที่ “ความคุ้มค่าของเม็ดเงิน” ในการลงทุนกับการพัฒนาเด็กมันผิดกันมากแบบทวีคูณระหว่างวันนี้กับวันพรุ่งนี้ ระหว่างตอนเขาหนึ่งขวบกับตอนเขาห้าขวบ ยิ่งกว่าเวลาดอกเบี้ยทบต้นเสียอีก

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนที่ต่างก็เห็นตรงกันว่าช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตเด็กคือช่วงอยู่ในครรภ์ถึงห้าปีแรก หากไปถามประสาทแพทย์เขาจะเน้นให้ลงทุนกับสุขภาพกายและใจของแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ด้วยซ้ำไป เหตุผลหลักคือเนื่องจากในช่วงแรกนี้เองที่เกิดการเชื่อมต่อของนิวรอนในสมองเด็กเกิน 1 ล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานสมองที่แข็งแรงให้กับการทำแทบจะทุกกิจกรรมในชีวิตคนไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้หรือพฤติกรรมของคนเราในอนาคต

จึงไม่แปลกนักที่มีการค้นพบว่ามี “ช่องว่างระดับทักษะ” ในกลุ่มเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวต่างฐานะต่างระดับการสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ตอนอายุน้อยๆ ก่อนเข้าอนุบาลด้วยซ้ำ เนื่องจากการลงทุนลงแรงของพ่อแม่ในสุขภาพเด็กและในกิจกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะเด็กที่บ้านนั้นแตกต่างกันมาก

ข้อคิดปิดท้ายแนวคิดนี้คือหากเราไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ลำบากจริงๆ อย่างในหลายชุมชนประเทศด้อยพัฒนาที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ผมไม่แนะนำให้ประหยัดกับสุขภาพและกิจกรรมพัฒนาสมองเด็กในระยะแรกเกินไปเพียงเพราะความที่กลัวที่ว่าจะมีเงินเก็บเป็นค่าเล่าเรียนเมื่อลูกต้องไปโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนนานาชาติไม่พอ

ให้มองว่ามันเป็นการลงทุนในช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่สุดแล้วด้วยซ้ำในชีวิตเขา (มันมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ และอัตราตอบแทนไม่สูงเท่า!)



แนวคิดที่สอง: ทำงานมากได้...แต่ก็อย่าลืมว่าบางอย่างก็แลกมาด้วยเงินไม่ได้

ในชีวิตพ่อแม่ คงไม่มี trade-off ไหนที่ชัดเจนไปกว่าการตัดสินใจว่าจะออกจากบ้านไปหาเงินหรืออยู่กับลูกแล้ว การอยู่กับลูกมากๆ ใครๆ ก็ทราบว่ามันมีผลดี แต่ถ้าทั้งพ่อทั้งแม่ไม่ทำงาน ก็จะไม่มีเงินมาลงทุนกับลูก คำถามคือมันมีจุดที่ “พอดี” หรือไม่ (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียก equilibrium)

งานวิจัยชิ้นนี้ (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4139074) พบว่าการเทียบเด็กๆ ที่แม่ทำงานในช่วง 1 ปีแรกกับเด็กๆ ที่แม่ไม่ทำงานในช่วงปีแรกแทบจะไม่มีความแตกต่างด้านการพัฒนาทางอารมณ์หรือทางสติปัญญาเท่าไรนักใน 7 ปีให้หลัง ซึ่งเป็นเพราะว่าผลดีจากการทำงานทันที (รายได้ในปัจจุบันและอนาคตที่เพิ่มขึ้น) มันลบล้างกับผลเสีย (โอกาสที่แม่มีอาการซึมเศร้า) ทั้งนี้งานวิจัยนี้ไม่ได้เพอร์เฟค แต่เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่พอจะทำให้เราเห็นว่าการจากบ้านไปทำงานมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อเด็ก

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่บางทีมันก็แลกมาด้วยเงินไม่ได้ ความรู้ล่าสุดจากสาขาประสาทวิทยาพบว่าการพัฒนาสมองคนเราจะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า pruning (การตัดแต่งวงจรประสาท) ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่เล็กๆ ไปจนถึงวัยทีน ซึ่งเป็นการสลายจุดเชื่อมเซลล์ประสาทที่ไม่ถูกใช้งานทิ้งไป นั่นแปลว่าถ้าไม่เกิดการกระตุ้นและการใช้งาน (กิจกรรมประเทืองปัญญา ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ฯลฯ) ให้มากพอก่อนถึงอายุ “เส้นตาย” จุดเชื่อมเซลล์ประสาทของเด็กจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมันไม่ได้ใช้งาน และสุดท้ายลูกของเราก็จะต้องอยู่ไปกับวงจรประสาทที่เขาจะต้องใช้งานไปตลอดชีวิตที่เหลือ (ซึ่งเป็นโลกอนาคตที่เต็มไปด้วย AI อันชาญฉลาด...)

จึงเป็นเหตุสำคัญที่ควรให้เวลากับลูกบ้าง การหาเงินแล้ว outsource ไปกับพี่เลี้ยงบางทีก็มีความจำเป็นในเรื่องของความสะดวก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าใครจะไปมีแรงจูงใจในการพัฒนาสติปัญญาและอารมณ์ของลูกเท่ากับเรา จริงไหมครับ?



แนวคิดที่สาม: เพิ่มความคล่องตัว หลีกเลี่ยงลงทุนในทักษะที่จะล้นตลาด

หลายคนกังวลมากกับการมาของ AI และ Automation ท่ามกลางความแข่งขันของเด็กๆ ทั่วโลกที่ก็สูงขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ไม่มีใครเดาได้ว่าในอีก 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ 20 ปีที่แล้วโลกไม่มี Google ด้วยซ้ำ

การคาดเดาว่าทักษะแบบไหนจะมาแรงตอนลูกคุณเรียนจบปริญญาตรีคงทำตั้งแต่ตอนนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการมีทัศนคติเพิ่มความคล่องตัวของทักษะลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ยึดติดว่าลูกควรจะทำอาชีพนี้หรืออาชีพนั้น เนื่องจากภายในไม่กี่ปีบางอาชีพอาจจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วก็เป็นได้ และถึงยังเหลืออยู่ ทักษะที่จำเป็นก็อาจเป็นคนละชุดกับตอนที่พ่อแม่คุ้นเคย

แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือกลไกอุปสงค์อุปทาน ทักษะที่ล้นตลาดไม่มีวันนำมาซึ่งรายได้ที่ดีให้กับลูก เนื่องจากมีคนจำนวนมาก (และหุ่นยนต์) ที่มีมันเหมือนกับลูกคุณ เป็นธรรมชาติที่จะถูกกดราคาลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทักษะที่เป็นที่ต้องการแต่กำลังขาดตลาด เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการเขียนโปรแกรมในสมัยนี้

แม้ว่าจะไม่มีใครทราบ 100% ว่าทักษะไหนจะเป็นที่ต้องการในอนาคต วันนี้เราพอทราบแล้วว่าทักษะขั้นต่ำหรือทักษะในงานที่มี routine เดิมๆ ตลอดจะมีความเสี่ยงสูงสุดในการถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์

ในขณะเดียวกันทักษะขั้นสูงบางชนิดนั้นถูกทดแทนได้ยากกว่ามาก เช่น ภาวะผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ หรือทักษะในการบริหารคน การส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานของทักษะเหล่านี้จึงเป็นตัวเลือกที่มองข้ามไม่ได้ครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com
บทความจากทีม content ของ stock2morrow เขียนโดย คุณ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook