DCA คืออะไร และทำไมต้อง DCA?
เราพูดคุยเรื่องอารมณ์และอคติในการลงทุนมาหลายตอน เพื่อต้องการชี้ให้ทุกท่านเห็นว่า เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีอารมณ์ในการลงทุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนคือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเรานั่นเองค่ะ
แต่อย่างที่บอก ถ้าคุณเป็นคนนึงที่บอกว่า มีเป้าหมายการลงทุนก็แล้ว มีกลยุทธ์การลงทุนก็แล้ว ก็ยังมีอารมณ์ในการลงทุนอยู่ดี คำแนะนำคือ การใช้ระบบการลงทุนเข้ามาเป็นตัวช่วย ซึ่งหนึ่งในระบบการลงทุนที่ดีและง่ายมากระบบนึงก็คือ การทำ Dollar Cost Averaging หรือ DCA แล้วเจ้า DCA คืออะไร และทำไมต้อง DCA มาติดตามกันต่อในบทความนี้กันค่ะ
การลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) นั้นคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน แล้วการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนคืออะไร นั่นก็คือ การที่เรากำหนดการลงทุนของเราเป็นรายงวด โดยลงทุนงวดละเท่าๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไร จะขึ้นหรือจะลง เราก็ไม่สนใจ ซึ่งการลงทุนอย่างเป็นระบบแบบนี้จะเป็นการตัดเอาอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนออกไป เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก
การที่เราลงทุนโดยซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือหุ้น ด้วยวิธี DCA จะทำให้เราสามารถซื้อหน่วยลงทุน หรือหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นหากราคาหุ้นปรับตัวต่ำลง และจะซื้อได้น้อยลงในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยเฉลี่ยแล้วเราจะได้ราคาที่ ‘ค่าเฉลี่ย’ และเราจะได้ไม่ต้องมาคอยกะเก็งการขึ้นๆ ลงๆ ของราคาหุ้น หรือของกองทุนที่เราต้องการซื้อเฉลี่ย ทำให้ลดความเครียดในการลงทุนไปได้มากเลยทีเดียวค่ะ
เหตุผลที่เราควรลงทุนด้วยวิธี DCA นอกจากจะช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงให้เราแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะดีกว่าการกะเก็งจังหวะซื้อขายด้วยตัวเอง แต่ข้อดีที่นิคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญก็คือ การทำ DCA นั้นเป็นระบบที่ทำให้เรามีวินัยในการลงทุน ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้นๆ ทำให้เราเกิดความต่อเนื่องในการลงทุน และสามารถใช้การลงทุนช่วยทำให้เราออมเงินได้งอกเงยสมดังความตั้งใจได้ไม่ยากค่ะ
สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงิน สามารถส่ง email มาได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ
ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า