5 กลยุทธ์สำคัญ ในการเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ
ในช่วงระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ แนวความคิดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มคนที่มีไอเดีย กล้าคิด กล้าฝัน และมีความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ นับเป็นเรื่องที่ดี และน่าจับตามอง เพราะคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่คลุกคลีอยู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างโมเดลธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพในประเทศไทยโดยรวมแล้วนับว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มสร้าง ระดับกำลังเติบโต และระดับที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในปีนี้ ธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์) มีแนวโน้มว่าจะเติบโตเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมองหาความแปลกใหม่ และพร้อมจะลองสิ่งใหม่ๆ
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพอาจมีมูลค่าราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท (ที่มา : รายงานระหว่างกูเกิลและเทมาเซ็กเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย) และมีความเป็นไปได้ว่า “ตลาดดิจิทัล” จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริการแอปพลิเคชัน ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ตลอดจนแพลตฟอร์มและสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาท
5 กลยุทธ์สำคัญ ในการก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพ
1. ต้องทำสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นหรือพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์
สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติหรือวิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการจะต้องสร้างสินค้าหรือการบริการที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้และเกิดความรู้สึกประทับใจ ต่อยอดไปจนถึงการทำให้รู้สึกว่าสินค้าและการบริการนั้นๆ มีความจำเป็นจนกระทั่งเกิดความจงรักภักดีและขาดบริการหรือสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ อาทิ บริการช่องทางการเงินระบบออนไลน์ บริการจองรถรับส่ง เป็นต้น
2. ต้องสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงใจผู้บริโภค
ปัจจุบันผู้บริโภคกลายเป็นผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจซื้อหรือที่เรียกกันว่า Empowered Customer กลยุทธ์ในข้อดังกล่าวนี้จึงต้องผลิตสินค้าหรือบริการมาเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น ตอบสนองได้ทันทีทันใด ซึ่งกลยุทธ์ในข้อนี้มักเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นในด้านแฟชั่น ความงาม สุขภาพ อาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ โดยมีตัวอย่าง อาทิ บริการแนะนำร้านอาหาร บริการช็อปปิ้งออนไลน์
3. ต้องต่อยอดจากธุรกิจเดิมและเติมประโยชน์รองรับความต้องการใหม่
ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่สตาร์ทอัพต้องมีและต่างจากธุรกิจแบบเดิมๆ คือการอาศัยโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจที่เคยมีอยู่ ทั้งยังต้องเพิ่มประโยชน์หรือคุณค่าให้สินค้าหรือการบริการเดิม โดยกลยุทธ์ในข้อนี้ต้องสามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกคุ้มค่าหรือเห็นด้วยกับการต้องเพิ่มค่าบริการที่มากขึ้น อาทิ บริการอาหารเดลิเวอรี่ บริการจองที่พักออนไลน์
4. ต้องใช้เทคโนโลยีหรือระบบออนไลน์ให้เป็นประโยชน์
เทคโนโลยีถือเป็นต้นทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเสียเงินน้อยที่สุด ทั้งยังแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสะดวก เห็นภาพลักษณ์ที่ดีและความทันสมัยของธุรกิจ ช่วยทำให้วิธีการทำงานเดิมมีความหลากหลายๆ และง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ปัจจุบันการสื่อสารผ่านโลกโซเชียลถือเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลากหลายที่สตาร์ทอัพเลือกใช้เนื่องจากแทบไม่ต้องลงทุนใดๆ โดยสามารถอาศัยทั้งจากระบบสังคมออนไลน์ที่มีอยู่ รวมทั้งการพัฒนาให้เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การเพิ่มฐานผู้บริโภคผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ ระบบซื้อขาย-โฆษณาผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ เป็นต้น
5. ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร
สำหรับกลยุทธ์ข้อดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ เนื่องจากการที่ผู้บริโภคมองหาความแปลกใหม่อย่างไม่จำกัดถือเป็นช่องทางให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างไม่รู้จบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความแปลกใหม่นั้นจะมีอยู่อย่างมากมายจนอาจนับไม่ถ้วน ผู้ที่จะก้าวเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่สามารถดำเนินได้ในระยะยาว ต้องไม่เป็นธุรกิจที่ดำเนินขึ้นอย่างฉาบฉวย สามารถเพิ่มความแปลกใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขายเข้ามาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้เรื่อย ๆ อาทิ บริการแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวครบวงจร บริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการพนักงานขับรถ เป็นต้น