SET กับ 5 เหตุการณ์เขย่าโลกในอดีต
ในโลกที่มีการเชื่อมต่อของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่มีตลาดหุ้นไหนที่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเหตุการณ์เขย่าโลกได้ ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลตลาดหุ้นรายวันมาแสดงให้เห็นภาพว่าในช่วง 5 เหตุการณ์เขย่าโลกต่อไปนี้ เกิดอะไรกับตลาดหุ้นไทยบ้าง
ทุกกราฟต่อไปนี้แท่งสีน้ำเงินแสดงให้เห็นถึงอัตราผลตอบแทน SET รายวันในวันที่เกิดเหตุการณ์ ส่วนแท่งถัดๆ ไปทางซ้ายและขวาแสดงถึงผลตอบแทนในวันก่อนและหลังเหตุการณ์นั้นๆ ไปดูกันเลยครับ
1.Black Monday (19 ต.ค. 2530)
วันจันทร์ทมิฬ หรือ ที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “Black Monday” นั้นเป็นวันที่เราได้เห็นว่าการตกลงของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหนึ่งสามารถลุกลามไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอื่นๆ ได้ในระวะเวลาอันสั้น โดยเริ่มตกลงในฮ่องกงก่อน จากนั้นก็แพร่จนไปถึงทวีปยุโรป จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า อยู่ดีๆ อัตราผลตอบแทน SET รายวันร่วงลงอย่างฉับพลันรุนแรงและอยู่ค้างยาวไปเกือบถึงหนึ่งอาทิตย์
2. วันที่ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก (14 พ.ค. 2540)
เหตุการณ์เขย่าโลกครั้งนี้เราเองเป็นเจ้าภาพ และถูกเรียกกันอย่างติดปากว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่จริงแล้ว Hedge Funds เริ่มโจมตีค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2540 แล้ว แต่ช่วงวันที่ 11 ถึง 14 พ.ค. ถือเป็นวันที่ “พีค” ที่สุดในการโจมตีค่าเงินบาท โดยรวมแล้วในวันนั้นมีเงินทั่วโลกรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทำ short position กับเงินบาท
3. วันที่เงินบาทลอยตัว (2 ก.ค. 2540)
ในที่สุดเงินบาทก็ต้องถูกปล่อยให้ลอยตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2540 คำว่า “เงินบาทลอยตัว”อาจมีมลทินในสายตาคนไทยหลายคน แต่ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วมันคือการสะท้อนความเป็นจริงของค่าเงินบาท และดูเหมือนว่าตลาดรับการลอยตัวนี้เป็นข่าวดี
4. วินาศกรรม 9/11 (9 พ.ย. 2544)
ในประวัติศาสตร์การเงินสมัยใหม่คงไม่มีเหตุการณ์ไหนเขย่าโลกเท่ากับวินาศกรรม 9/11 แล้ว ซึ่งมีการจี้เครื่องบินกว่า 4 ลำในสหรัฐฯ เพื่อโจมตีสถานที่ที่เป็นหัวใจของสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นก็คืออาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก
เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดคิด ไม่มีการ priced in ล่วงหน้าได้เหมือนการคาดหวังว่า Fed จะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยในช่วง QE จึงเกิดการช๊อคต่อตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่เปิดในวันถัดมา (ตลาดหลักทรัพย์อเมริกันปิดทำการยาวไปถึงวันที่ 17 พ.ย) SET เองก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน ที่น่าสนใจคือผลตอบแทน SET รายวัน ในวันถัดมาร่วง 6.7% เกือบเท่ากับ ที่ NYSE ร่วง 7.1% ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเครื่องบินชนอาคารใดๆ ในประเทศไทยเลย
5. Bloody Friday (24 ต.ค. 2549)
Bloody Friday เป็นวันที่มีการเทขายในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลก (วันเดียวไม่ต่ำกว่า 9% ในญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มรู้สึกถึงความน่ากลัวของวิกฤต The Great Recession หลังจากการล่มสลายชอง Lehman Brothers และการที่ Fed ต้องเข้าไปอุ้มบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง AIG
จากการสำรวจ 5 เหตุการณ์เหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่าสภาวะของตลาดหลักทรัพย์มีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ในแต่ละชั่วขณะค่อนข้างมาก ถึงขั้นที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนอันไกลโพ้นสามารถกระทบราคาสินทรัพย์ในบ้านเราได้ภายในชั่วข้ามคืน
บทเรียนสำคัญคือเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ fundamentals ของตลาดโดยตรง ต่อให้มันจะเขย่าโลกเขย่าขวัญสักแค่ไหน ตลาดหลักทรัพย์จะยังกลับมาคึกคักใหม่ได้หลังจากความกลัวซาลง ที่ชาวอเมริกันเคยรู้สึกว่าทุกอย่างกำลังจะจบหลังจากที่เห็นตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มต่อตา ตลาดเขากลับมาคืนชีพได้ภายในแค่ 1 เดือน แต่ SET จะกลับไปสู่ภาวะก่อนปี 40 ได้หรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป
ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com
บทความจากทีม content ของ stock2morrow เขียนโดยคุณ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์