4 ขั้นตอนมีเงินออมทันที ฉบับคนมีอาชีพค้าขาย

4 ขั้นตอนมีเงินออมทันที ฉบับคนมีอาชีพค้าขาย

4 ขั้นตอนมีเงินออมทันที ฉบับคนมีอาชีพค้าขาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอดมินนนนน เราทำอาชีพค้าขายอยากออมเงินจะทำไงดีล่ะ?


นับเป็นอีกหนึ่งในหลายๆคำถามที่ส่งเข้ามาใน Inbox ของแอดมินเพจอภินิหารเงินออมว่า ช่วยเขียนวิธีออมเงินของคนที่ทำอาชีพค้าขายบ้าง เพราะเงินมันต้องหมุนเวียนว่ายตายเกิดในร้านทุกวี่ทุกวัน ตั้งใจจะออมเงินเก็บไว้ แต่สุดท้ายก็ต้องแคะออกมาใช้ตลอดๆ T T


ถ้าแฟจเพจมีเป้าหมายอยากออมเงินชัดเป๊ะขนาดนี้ เดี๋ยววิธีการมันก็ตามมาเอง อาจจะปรับวิธีคิดอีกนิดหน่อยก็น่าจะทำให้คุณพ่อค้าแม่ค้ามีออมเงินได้ชัวร์จ้า บทความนี้จะบอกเป็นแนวทางว่าควรทำอะไรบ้าง แฟนเพจควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตนเองนะจ๊ะ


1. เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ (สร้างหนี้น้อยที่สุด)

เพื่อนหลายคนเข้ามาปรึกษาว่าอยากมีธุรกิจเล็กๆเป็นของตัวเอง เห็นคนอื่นทำแล้วได้ดีมีเงินทะลักเข้ามาโครมๆ เฮ้ยยยย มันก็ทำไม่ยากนี่หน่า คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ จัดไป!! เริ่มต้นทำธุรกิจอย่างอลังการ มีเงินเก็บไว้เท่าไหร่ก็ใส่ไม่ยั้ง แม้ว่าไม่มีเงินก็หยิบยืมคนโน้น คนนี่มาลงทุนก่อน แล้วหลับตาเห็นภาพตัวเองแหวกว่ายอยู่บนกองเงินกองทอง เงินล้านอยู่ใกล้แค่เอื้อมนี่เอง ฮึฮึฮึ


แต่ว่า...ชีวิตจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น!!

อย่ามองอะไรแค่ด้านเดียว มันมีกำไรได้ มันก็ต้องขาดทุนได้เหมือนกัน เพราะความสำเร็จมันไม่ใช่แม่พิมพ์ที่ทำตามแล้วจะได้เงินเหมือนกันเป๊ะๆ เรามองดูผิวเผินเหมือนจะง่าย แต่อย่าลืมว่าความขยันของเราไม่เท่ากัน คนอื่นอาจจะทำแล้วสำเร็จ แต่เราทำอาจจะไม่สำเร็จเหมือนคนอื่นก็ได้ #เผื่อใจไว้เจ็บ

ถ้าเราอยากรู้ว่าสิ่งที่เราคิดหรือธุรกิจที่อยากทำมันจะไปรอดมั๊ย มีคนสนใจรึเปล่า เราควรเริ่มต้นจาก สิ่งเล็กๆหรือเริ่มใช้เงินลงทุนน้อยๆ เพื่อทดลองก่อน ถ้าก้าวแรกมันสำเร็จแล้ว ก้าวต่อไปมันก็จะทำง่ายขึ้น ถ้าเราทำแล้วดี มีกำไรโผล่ออกมาให้ชื่นใจบ้าง ก็ค่อยๆขยายงานให้เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วใช้กำไรที่ได้หมุนมาเป็นเงินลงทุนใหม่ แม้ว่าวิธีการเติบโตจากกำไรมันจะช้า แต่ก็มั่นคงกว่านะจ๊ะ

ตัวอย่าง

บางคนมีที่ดินอยากทำเกษตร แต่ตัวเองทำงานออฟฟิศ ไม่เคยทำงานตากแดดตากลมมาก่อน การเริ่มต้นที่ไม่เจ็บตัวมาก ควรไปดูงานหรือลองทำงานกับเกษตรกรที่เปิดสอนในสถานที่จริงๆ เพื่อจะได้รู้ใจตัวเองว่าชอบจริงหรือไม่ เมื่อทดลองจนเข้าใจวิธีการทำงานแล้วค่อยมาลงมือทำจริงๆ กับที่ดินของตัวเอง เมื่อทำจนขายผลผลิตได้แล้วก็นำกำไรมาหมุนต่อ
กิจการร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีน้องจบใหม่หลายๆคนอยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง หลายครั้งที่เริ่มต้นแบบจัดเต็ม ของเต็มร้าน บางคนกู้ยืมเงินมาลงทุนแล้วจ้างพนักงานอย่างเดียว แบบนี้เรามีต้นทุนตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะจ๊ะ ทางที่ดีในช่วงเริ่มต้นควรทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ยังไม่ต้องจ้างพนักงาน จะได้ประหยัดเงินลงทุน พอเริ่มมีกำไรเข้ามาบ้างแล้วก็ค่อยๆขยายออกไปเรื่อยๆ

 

2.แยก แยก แยกบัญชี!!


การจดบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวแยกกับบัญชีของร้านค้า เริ่มจากเขียนบัญชีอย่างง่ายที่ตัวเองเข้าใจ ทำให้เรารู้ว่าที่มาและที่ไปของเงินว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ไม่ควรใช้จ่ายเงินส่วนตัวปะปนกับเงินของร้านค้า เพราะเวลาเกิดปัญหาเงินหายจะได้รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

จากประสบการณ์ส่วนตัวและพูดคุยกับคนที่ทำงานประจำแล้วขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริมหรือว่าคนที่ทำอาชีพขายของเพียงอย่างเดียว มักจะมีจุดอ่อนที่ทำให้พบจุดจบทั้งน้ำตา นั่นก็คือ กระเป๋าเงินใบเดียวใช้ครอบจักรวาล ตั้งแต่…..

• ใช้เก็บเงินออม
• ใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว : กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง ค่าเดินทางในชีวิตประจำวัน ค่าแชร์
• จ่ายหนี้สิน : ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเดรดิต(ของส่วนตัว, ของร้าน) จ่ายเงินกู้นอกระบบ
• จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ของส่วนตัวและของร้านค้า
• จ่ายค่าซื้อของมาขาย ค่าเช่าร้านหรือค่าเช่าพื้นที่ในอินเตอร์เน็ต
• ใช้จ่ายค่าโฆษณาโปรโมทร้านทางโซเชียลใน Facebook , Line
• จ่ายค่าจ้าง เช่น เด็กเฝ้าร้าน เด็กส่งของ

มันยังมีสารพัดรายจ่ายที่มัดรวมกันแน่นจนแยกกันไม่ออกว่าอันส่วนไหนเป็นรายจ่ายเงินส่วนตัวและส่วนไหนเงินหมุนในร้านค้า แล้วมักจะใช้วิธีหมุนเงินไปมา เช่น บางเดือนร้านค้าขาดทุนก็เอาเงินส่วนตัวไปลงเพิ่ม ในขณะที่บางเดือนเงินส่วนตัวไม่พอก็หยิบเงินร้านออกมาใช้ก่อน(บางครั้งลืมคืนเงินให้ร้าน ทำให้เงินของร้านหายไป)

เมื่อเกิดปัญหาเงินขาดมือก็แก้ไขกันไม่ถูกเลยว่าสาเหตุมันมาจากอะไร “ช่วงนี้ร้านขายไม่ดีหรือว่าตัวเราใช้เงินสิ้นเปลือง” ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายถึงระดับที่เงินส่วนตัวและเงินร้านหมด ก็อาจจะทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย มันเป็นการสร้างปัญหาใหม่จากวงจรหนี้สินต่อไป ดังนั้น ควรแยกบัญชีให้ชัดเจนเพราะจะทำให้เราจัดการเงินง่ายขึ้น ดูปุ๊บรู้ทันทีว่าอะไรที่เป็นปัญหา

ตัวอย่าง การแยกบัญชีเงินส่วนตัวและเงินของร้าน

 aom2

สมมติว่าร้านค้าขาดทุน เราอยากรู้ว่าเกิดจากอะไร การแยกบัญชีจะทำให้เรารู้ว่า…

ต้นทุนของที่ซื้อมาแพงขึ้น อาจจะต้องหาแหล่งซื้อแห่งใหม่หรือเจรจากับร้านขายส่ง
ค่าใช้จ่ายในร้านแพงขึ้น อาจจะมาจากค่าเช่าสูงขึ้น ค่าจ้างเด็กเฝ้าร้านมีจำนวนมากเกินไป
ของบางตัวขายไม่ดี ได้เงินช้า อาจจะต้องหาวิธีโปรโมทหรือจัดโปรโมชั่นจะได้เงินมาหมุนเร็วๆ
อัดเงินโฆษณาทางโซเชียล แต่ยอดขายไม่ขึ้น จะต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร เพื่อจะได้หาแนวทางการโปรโมทที่น่าดึงดูดใจมากกว่านี้

 

3. เงินสำรองยามฉุกเฉิน

การค้าขายระบบเงินหมุน ยิ่งมีเงินหมุนมากขึ้นก็จะยิ่งมีกำไรมากขึ้น แล้วมองว่าถ้าเอาเงินมาเก็บดองออมไว้ มันก็จะเสียโอกาสในการสร้างเงิน สร้างรายได้ เงินกำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไปปปป

แต่ว่า...

ถ้าเราขายของได้เงินมา 100% แล้วนำไปลงทุนต่อทั้ง 100% โดยไม่มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินไว้เลย แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ไฟไหม้ จนทำให้เราขายของไม่ได้ เมื่อไม่มีลูกค้ามาซื้อของ เงินก็ไม่เข้าร้าน ไม่มีเงินซื้อของมาลงทุนต่อหรือนำมาจ่ายกับค่าใช้จ่ายต่างๆภายในร้าน

ถ้าเป็นช่วงแรกๆก็ยังพอทนได้บ้าง แต่ถ้าเป็นแบบนี้หลายเดือนติดต่อกันจนกระทั่งกลายเป็นปีล่ะ เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อยื้อเวลาให้ร้านค้าเปิดขายของต่อไปได้

ในช่วงที่เจอโปรโมชั่นมรสุมชีวิต หลายคนอาจจะแก้ปัญหาโดยการรอคอยและร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่อย่าลืมว่าถ้าพวกเขาเดือดร้อนเหมือนกันหรือไม่อยากให้ความช่วยเหลือเรา จนทำให้ต้องต่อสู้หนาวหัวใจอยู่คนเดียว เราจะทำอย่างไร ทางเดียวที่มี คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยการสร้างทางเลือกเตรียมแผนสำรองไว้ให้ตัวเองในยามวิกฤตด้วย “การเก็บเงินฉุกเฉิน”

 

4. เก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ

แม้ว่าไฟไม่เคยไหม้ตึกหรืออาคารที่เราทำงานอยู่ แต่เราก็ต้องซ้อมหนีไฟทุกปี เผื่อเวลาเกิดเหตุจริงๆจะได้รู้วิธีเอาตัวรอดวิ่งหนีออกจากกองเพลิงได้ เรื่องการเงินก็เช่นกัน เราควรฝึกซ้อมด้วยการจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เผื่อเวลาเกิดเหตุขึ้นจริงๆจะได้รู้ว่าควรแก้ไขปัญหาอย่างไร จะนำเงินส่วนไหนมาใช้หมุนในร้าน

การแยกบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน จะทำให้เรารู้จำนวนเงินที่หมุนอยู่ในร้านว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ลองดีดลูกคิดดูว่าถ้าไม่มีลูกค้ามาซื้อของในร้านเลย(เงินไม่เข้ากระเป๋าสักบาท) จะต้องใช้เงินเท่าไหร่เพื่อยื้อเวลาให้ร้านเปิดต่อไป รอให้ลูกค้ากลับมาซื้อของอีกครั้ง

เมื่อรายได้ไม่เกิด แต่รายจ่ายยังอยู่ เราเริ่มต้นจากค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าเช่าร้าน ค่าแรงเด็กเฝ้าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ขอร้าน ฯลฯ เราควรสำรองเงินฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ไว้ แล้วควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อจะได้รักษาเงินต้นไว้

บางคนอยากได้ 2 เด้ง คือ ได้เก็บเงินฉุกเฉินและหวังผลตอบแทนสูงๆไปพร้อมกัน (เช่น นำเงินไปลงทุนในหุ้น) ถ้าการลงทุนนั้นได้ผลงานดีมันก็จะทำให้เรามีเงินมากขึ้นสมใจ แต่ส่วนใหญ่ความโชคร้ายมักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ลองคิดว่าถ้ามันได้ผลตรงกันข้ามล่ะ

ตลาดหุ้นถูกถล่ม หุ้นที่เราซื้อไว้ราคาหายไป 50% นั่นก็เท่ากับว่าเงินฉุกเฉินหายไป 50% ด้วยนะคะ อันตรายมากๆ นอกจากเจ็บปวดที่ร้านขายของไม่ได้แล้ว เงินฉุกเฉินที่จะเอามาใช้หมุนก็หายไปด้วย ทางที่ดีควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินสด บัญชีฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น แม้ว่าได้ผลตอบแทนต่ำ แต่เงินต้นของเราปลอดภัยมีใช้ในช่วงวิกฤตแน่นอนนะจ๊ะ

ตัวอย่าง การจำลองสถานการณ์เลวร้าย ถ้าน้ำท่วมขายของไม่ได้หรือขายของได้น้อยลง เราคาดว่าลูกค้าจะเริ่มกลับมาซื้ออีกครั้งภายในเวลา 3 เดือน ขณะนี้ทางร้านมีรายจ่ายประจำเดือนละ 50,000 บาท ถ้าเป็นแบบนี้เจ้าของกิจการจะหาทางออกอย่างไร

==> กู้ยืมเงินมาหมุน

กู้ยืมเงินด่วนหรือยืมหนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในร้าน แม้ว่ามีเงินมาใช้ชั่วคราวในระยะสั้นๆภายในร้านก็จริงนะ แต่งานงอกในระยะยาวจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สมมติต่อไปอีกว่าขายของได้น้อยลง ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น อืมมมม เตรียมใจปิดร้านได้เลยนะจ๊ะ

==> หยิบเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้จ่าย

"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" จากเหตุการณ์นี้เราควรสำรองเงินไว้ 150,000 บาท (มาจาก 50,000 x 3 เดือน) เพื่อนำมาใช้ต่อลมหายใจให้ร้านค้าเปิดต่อไปได้ สิ่งสำคัญ คือ ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นจะได้ปลอดภัยและถอนออกมาใช้ได้ง่ายๆ เช่น เงินสด บัญชีฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

ทางเลือกอื่นๆยังมีอีกมากมาย เช่น การเปลี่ยนมาขายออนไลน์ การนำสินค้าเก่ามาลดราคาเพื่อเอาเงินมาหมุน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะต้องวางแผนฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นแล้วควรเป็นทางออกที่ไม่สร้างปัญหาใหม่ในระยะยาวด้วยนะจ๊ะ

 aom3aom4


สรุปว่า…


แม้ว่าคนทำอาชีพค้าขายจะต้องใช้เงินหมุนตลอดเวลา แต่ก็ควรเก็บเงินเผื่อไว้กับช่วงที่ต้องผจญกับโปรโมชั่นความโชคร้ายด้วย อย่ารอและหวังพึ่งพาคนอื่น (เขาอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน) เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ ถ้าไม่เกิดวิฤตชีวิตก็โชคดีไป แต่ถ้าเกิดดราม่าขึ้นมาจริงๆจะได้มีเงินฉุกเฉินเข้าช่วยชีวิตเราไว้ได้นะจ๊ะ

 aom1

by อภินิหารเงินออม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook