7 เรื่องที่ต้องพิจารณาสักนิด ก่อนคิดจะซื้อรถ

7 เรื่องที่ต้องพิจารณาสักนิด ก่อนคิดจะซื้อรถ

7 เรื่องที่ต้องพิจารณาสักนิด ก่อนคิดจะซื้อรถ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

• ปัจจุบัน รถเปรียบเสมือนปัจจัยลำดับที่ 5 ในชีวิต เพราะการคมนาคมขนส่งสาธารณะในบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่ไม่ว่าจะจำเป็นแค่ไหน ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาคิดก่อนตัดสินใจซื้อรถอยู่ดี

• ปัจจัยที่แนะนำให้นำมาคิดมีอยู่ 7 ข้อ คือ ราคาและภาระหนี้สิน, ค่าใช้จ่ายต่างๆ, ความสะดวกสบาย, เวลาที่ใช้ในการเดินทาง, ประโยชน์ในการสร้างรายได้, ขนาดของครอบครัว และแรงจูงใจส่วนตัว

• การตัดสินใจ สามารถนำหลักการ Decision Matrix มาช่วยในการตัดสินใจได้ โดยให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละปัจจัย และให้คะแนนในแต่ละปัจจัยของแต่ละทางเลือก นำน้ำหนักและคะแนนมาคูณกัน แล้วรวมค่าที่ได้ทั้งหมด สุดท้าย ตัดสินใจจากตัวเลือกที่ได้คะแนนมากกว่า

• ไม่ว่าการตัดสินใจซื้อรถ จะมีปัจจัยมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ยังคงเป็นเรื่องของภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย ที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะถึงแม้เราจะมีแรงจูงใจ หรือมีความจำเป็นต้องซื้อรถขนาดไหน แต่ถ้าปัจจุบันเรายังไม่มีศักยภาพพอที่จะซื้อ แต่ยังดึงดันที่จะซื้อ ปัญหาทางการเงินจะตามมาอย่างแน่นอน

 

“รถยนต์” ถือเป็นเป้าหมายการเงินลำดับต้นๆของใครหลายๆคน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การคมนาคมขนส่งสาธารณะของบ้านเรานั้น ยอดเยี่ยมขนาดไหน (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) จนทำให้คนส่วนใหญ่หันมาคิดจะซื้อรถใช้กันเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว นอกจากนั้น ก็อาจจะมีเรื่องภาพลักษณ์ หรือหน้าตาทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หลายคนซื้อรถโดยดูแต่ความต้องการ และประโยชน์การใช้งานเป็นหลัก แต่ละเลยเรื่องของต้นทุน หรือสิ่งที่ต้องเสียไป จนทำให้แบกรับภาระไม่ไหว ทั้งเรื่องของหนี้สิน และค่าใช้จ่าย จนกลายเป็นผลร้ายต่อการเงินส่วนตัวของตัวเอง

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ซื้อรถแล้วมีปัญหาการเงิน ผมจึงขอแนะนำให้ต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทั้ง 7 เรื่อง และวิธีการตัดสินใจ เพื่อให้แน่ใจว่า การซื้อรถคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเราจริงหรือไม่ และถ้าจะซื้อแล้ว ควรบริหารจัดการยังไง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมาครับ

 

ปัจจัย 7 เรื่องที่ต้องคิดก่อนซื้อรถ

1. ราคาและภาระหนี้สิน (ค่างวดผ่อนต่อเดือน)

ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องนำมาคิดในการซื้อรถ เพราะถึงแม้เราจะสรุปได้แล้วว่า รถจำเป็นและมีประโยชน์กับเราจริงๆ แต่ถ้าซื้อหรือผ่อนไม่ไหว ยังไงก็ต้องยอมตัดใจ เพราะเชื่อเถอะว่า ถ้ายังดื้อซื้อรถทั้งๆที่เราความสามารถไม่ถึง อนาคตชีวิตจะลำบากยิ่งกว่าตอนไม่มีรถแน่นอน หลักการคิดเบื้องต้นง่ายๆคือ

- ถ้าจะซื้อรถด้วยเงินสด ราคารถไม่ควรเกินประมาณ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินที่เรามี (เช่น ถ้าอยากซื้อรถราคา 600,000 บาทด้วยเงินสด เราควรมีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิ (หักหนี้แล้ว) ไม่ต่ำกว่า 600,000/0.20 = 3,000,000 บาท)

- ถ้าจะซื้อรถด้วยเงินผ่อน เงินผ่อนต่อเดือน เมื่อรวมกับเงินผ่อนระยะสั้นอื่นๆ (เช่น หนี้บัตรเครดิตทั้งยอดในเดือนนั้น) ไม่ควรเกินประมาณ 30% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (เช่น เงินเดือน 25,000 ก็ไม่ควรผ่อนเกินเดือนละ 25,000 x 0.30 = 7,500 บาท ในกรณีที่ไม่มีหนี้สินระยะสั้นอื่นๆ) และถ้ามีหนี้บ้านด้วย ยอดเงินผ่อนหนี้สินทั้งหมดต่อเดือน (เงินผ่อนรถต่อเดือน + เงินผ่อนบ้านต่อเดือน + เงินผ่อนอื่นๆ) ไม่ควรเกินประมาณ 40% ของรายได้ต่อเดือน (ลองคิดดูว่า ได้เงินมาแต่ละเดือน เราจะเหลือเงินไว้ใช้เองเกินครึ่งมานิดเดียว แค่นั้นก็หนักแล้วครับ)

ซึ่งถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้ โดยเอาเงินผ่อนที่เหมาะสมเป็นที่ตั้ง ก็จะทำให้เราคิดย้อนกลับไปได้ว่า ราคารถที่เหมาะสมที่เราซื้อได้ ควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้เราเลือกซื้อรถได้เหมาะสมกับฐานะ ไม่เกินตัว โดยวิธีคิดคือ

- ราคารถที่เหมาะสม = (เงินผ่อนต่อเดือน x จำนวนเดือนที่ผ่อน)/(1+ดอกเบี้ย) x %ยอดเงินกู้)

เช่น ถ้าเราผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 7,500 และจะผ่อน 6 ปี (72 เดือน) ดอกเบี้ยกู้รถอยู่ที่ 3.50% ต่อปี และจะกู้ 90% ของราคารถ (ดาวน์ 10%) ดังนั้น ราคารถที่เหมาะสม ไม่ควรจะเกิน (7,500 x 72)/[(1+0.035) x 0.90] = 579,710 บาท หรือประมาณ 580,000 บาท นั่นเอง

 

2. ค่าใช้จ่ายต่างๆ

หลายคิดพอคิดจะซื้อรถ ก็ดูแต่ราคารถ หรือราคาผ่อนแต่เพียงอย่างเดียว พอคำนวณได้ว่าผ่อนไหว ก็คิดว่าจะซื้อได้เลย แต่ช้าก่อน ในความเป็นจริงพอเรามีรถแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆตามมาอีกมาก ตัวอย่างเช่น

- ค่าพ.ร.บ.และประกันรถยนต์ โดยค่าพ.ร.บ. จะอยู่ที่ประมาณ 600-1,200 ต่อปี ขึ้นอยู่กับประเภทและการใช้งาน ส่วนประกันรถยนต์ ถ้าเป็นประกันชั้น 1 ก็ประมาณ 12,000 บาท ต่อปีขึ้นไป สมมติว่า คิดที่ค่าพ.ร.บ. 600 บาท และ ค่าประกันรถ 12,000 บาท ต่อปี

- ค่าต่อทะเบียนรายปี 1,500-3,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ สมมติว่าคิดที่ 1,500 บาทต่อปี

- ค่าบำรุงรักษา ตั้งแต่ 5,000 บาทต่อปีขึ้นไป ตามระดับของรถ สมมติว่าคิดที่ 5,000 บาทต่อปี

- ค่าเปลี่ยนยาง ทุกๆ 2 ปี หรือประมาณ 50,000 กิโลเมตร อยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อ 4 เส้น สมมติว่าคิดที่ 15,000 บาท ทุกๆ 2 ปี (หรือเฉลี่ยปีละ 15,000/2 = 7,500 บาท)

- ค่าน้ำมัน สมมติว่าคิดที่ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน หรือ 48,000 บาทต่อปี

- ค่าทางด่วน สมมติว่าคิดที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน หรือ 12,000 บาทต่อปี

- ค่าที่จอดรายเดือน สมมติว่าคิดที่ประมาณ 800 บาทต่อเดือน หรือ 9,600 บาทต่อปี

- ค่าล้างรถ สมมติว่าคิดที่ประมาณ 200 บาทต่อครั้ง ล้างทุกๆ 2 เดือน รวมแล้วประมาณ 1,200 บาทต่อปี

ดังนั้น เมื่อลองคิดดูคร่าวๆแล้ว สำหรับรถทั่วไป (ราคาประมาณ 500,000-600,000 บาท) เราจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี (ไม่รวมค่าผ่อน) รวมทั้งหมดประมาณ 600+12,000+1,500+5,000+7,500+48,000+12,000+9,600+1,200 = 97,400 บาท หรือเกือบๆปีละ 100,000 บาท +- เลยทีเดียว (ขนาดยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เช่น ค่าปรับ,ค่าที่จอดรายครั้ง ฯลฯ)

ซึ่งถ้าเราจะซื้อรถทั่วไปราคา 400,000-600,000 บาท โดยผ่อน 6 ปี เท่ากับว่า ใน 6 ปีนั้น เราต้องเตรียมเงินถึงประมาณ 1,000,000 บาทขึ้นไป เลยทีเดียว ถ้ารถราคาแพงกว่านี้ ก็ต้องเตรียมมากกว่านี้ (เห็นตัวเลขนี้แล้ว พอจะมีสติก่อนจะซื้อขึ้นมาบ้างรึยังล่ะครับ?)

หลังจากเราดูเรื่องของราคาและต้นทุนที่จะเกิดขึ้นกรณีถ้าเราซื้อรถไปแล้ว ทีนี้เราก็ต้องมาดูต้นทุนของการไม่ซื้อรถกันบ้าง ว่าถ้าเราต้องเดินทางเอง ตัวเลือกอื่นๆคืออะไร? (นั่งมอเตอร์ไซค์, รถเมล์, แท็กซี่, รถไฟฟ้า) จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือต่อปี ประมาณเท่าไหร่? เพื่อที่จะได้สามารถเปรียบเทียบได้นั่นเอง

 

3. ความสะดวกสบายในการเดินทาง

ต้องเทียบกันว่า ระหว่างใช้รถ กับไม่ใช้รถ เรามีความสะดวก หรือมีข้อดีข้อเสียต่างกันมากน้อยแค่ไหน? เช่น ใช้รถอาจจะสะดวกตรงที่สามารถเดินทางได้เลยโดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่น แต่ต้องเผชิญกับรถติดบนท้องถนน และอาจจะหาที่จอดยาก (ดังนั้นต้องดูด้วยนะครับว่า บ้านเรามีที่จอดรถส่วนตัวไหม หรือที่ที่เราเดินทางไปบ่อยๆมีที่จอดไหม เพราะที่ปัจจุบันที่จอดรถหายากมาก) ขณะที่ถ้าไม่ใช้รถ เราอาจจะใช้รถไฟฟ้าแทนได้ ไม่ต้องเจอรถติด ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอด แต่ก็ต้องรอขบวนรถ (หรือรอรถเมล์) และต้องเบียดเสียดกับคนอื่น เป็นต้น

 

4. เวลาที่ใช้ในการเดินทาง

ถ้าไม่ใช้รถ แล้วเราต้องเดินทางไปทำงานเองโดยใช้ขนส่งสาธารณะ จะใช้เวลาเดินทางต่อวันประมาณกี่ชั่วโมง เมื่อเทียบกับถ้าเราต้องขับรถ ดังนั้น ต้องดูด้วยนะครับว่าย่านที่เราอยู่อาศัยหรือเส้นทางที่เราใช้ประจำรถติดขนาดไหน ใกล้รถไฟฟ้ารึเปล่า?

 

5. ประโยชน์ในการทำงานหรือสร้างรายได้

นอกจากเรื่องความจำเป็นแล้ว ลองดูว่า การซื้อรถสร้างประโยชน์อะไรเพิ่มเติมให้เราได้หรือไม่? สำหรับบางคน ถ้ามีรถแล้ว อาจจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มได้มากมาย กว่าการไม่ใช้รถ เช่น ใช้รถเพื่อเดินทางไปหาลูกค้าหลายราย หรือรายใหญ่ๆ ปิดงานได้แล้วจะมีรายได้เข้ามามาก และเมื่อหักกลบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการมีรถ สุทธิแล้วอาจจะได้กำไร หรือเสียค่าใช้จ่ายและเวลาน้อยกว่าการไม่ใช้รถ ถ้าแบบนี้ก็ถือว่าคุ้มที่จะซื้อครับ

 

6. ขนาดของครอบครัว

ถ้าเราต้องเดินทางคนเดียว เราอาจยอมลุยขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า นั่งมอเตอร์ไซค์ ได้ไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่ถ้าเราต้องเดินทางพร้อมกันหลายคน ทั้งสามี/ภรรยา ไหนจะลูกๆอีก (บางครอบครัวอาจจะมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยอีก) ถ้าไม่มีรถเราจะเดินทางลำบากไหม? ปลอดภัยรึเปล่า? ดังนั้น ถ้าเรามีครอบครัวแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามีรถเป็นของตัวเอง ก็อาจจะมีสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

 

7. ความชอบและแรงจูงใจส่วนตัว

ข้อสุดท้าย อาจจะไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ ว่าเราอยากได้รถยี่ห้อไหน รุ่นอะไร เพราะความชอบส่วนตัว สำหรับบางคน การมีรถเป็นเป้าหมายทางการเงิน อาจจะเป็นเรื่องของความต้องการ มากกว่าความจำเป็น ในแง่ดี มันก็อาจจะเป็นความฝัน ที่ช่วยให้เรามีแรงผลักดันในการทำงาน เปลี่ยนแปลงชีวิต หรือในการพัฒนาตัวเองมากขึ้นก็เป็นได้ แต่ก็ควรจะใช้จุดนี้ให้ถูกทาง ไม่ลุ่มหลงจนหน้ามืด โดยดูเรื่องเหตุผลทางการเงินควบคู่กันไปด้วย

 

============================

 

เมื่อเราตัดสินใจในแต่ละเรื่องได้แล้ว ซึ่งบางข้อ การซื้อรถอาจจะดีกว่า แต่บางข้อ การไม่ซื้อก็อาจจะดีกว่า แล้วสุดท้ายเราควรจะตัดสินใจอย่างไร? วิธีที่จะช่วยในการตัดสินใจ คือใช้สิ่งที่เรียกว่า “Decision Matrix” โดยมีวิธีใช้อยู่ 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ ครับ

1. กำหนดน้ำหนักของแต่ละปัจจัยเป็น % ว่าในและเรื่อง เราให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากที่สุด ไล่เรียงลงมา (ถ้าสำคัญมาก ก็ให้น้ำหนักมาก) ให้น้ำหนักรวมของทุกข้อรวมกันได้ 100%

2. ให้คะแนนในแต่ละข้อว่า เต็ม 10 แล้ว เรื่องนี้จะให้คะแนนเท่าไหร่

3. ให้เอาน้ำหนักคูณกับคะแนนในแต่ละเรื่อง

4. รวมค่าทั้งหมดที่ได้ในตัวเลือกนั้น แล้วดูว่า ตัวเลือกไหนมีคะแนนรวมมากกว่า ก็เลือกตัวเลือกนั้นครับ

ซึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ ผมขอแนะนำและเน้นย้ำเลยว่า ต้องให้น้ำหนัก หรือความสำคัญเรื่องราคาหรือเงินผ่อนค่ารถ มาเป็นอันดับ 1 ซึ่งข้อนี้แน่นอนว่า กรณีไม่ซื้อรถจะต้องได้คะแนนเต็ม 10 (เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อรถ) แต่ถ้าซื้อ ต้องดูว่าซื้อได้ไหมตามเงื่อนไขในข้อที่ 1 ถ้าซื้อไม่ได้ (เงินผ่อนมากกว่า 30% หรือ 40%) ก็ต้องให้ 0 คะแนนไปเลย แต่ถ้าน้อยกว่า 30% หรือ 40% มากๆ ก็ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ส่วนข้ออื่นๆ ก็ให้ลองประเมินเอา ตามตัวอย่าง ดังนี้

กรณีสมมติ : เพศชาย อายุ 35 ทำงานอาชีพเซล รายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน พิจารณาซื้อรถราคา 600,000 บาท (ผ่อนต่อเดือนประมาณ 7,700 บาท ไม่มีภาระหนี้สินอื่น (19.25% ของรายได้) มีภรรยา และลูก 1 คน อาศัยอยู่ย่านที่ค่อนข้างไกลจากรถไฟฟ้า

 car2


กรณีนี้ คะแนนรวมกรณีซื้อรถ สูงกว่า กรณีไม่ซื้อรถ ดังนั้น ควรตัดสินใจซื้อรถ คุ้มค่ากว่า

 

เห็นไหมล่ะครับว่า ในการที่เราจะตัดสินใจซื้อรถสักคัน อาจจะมีหลายเรื่องให้เราต้องคิดมากกว่าแค่เรื่องความอยาก ความจำเป็น หรือเรื่องราคา แต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เราอาจจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนกว่าที่คิด ด้วยการใช้นำเรื่อง Decision Matrix มาช่วยให้การตัดสินใจได้ ซึ่งเราอาจจะทำวิธีนี้ ไปใช้กับการตัดสินใจซื้อ รถมอเตอร์ไซค์ ซื้อบ้าน หรือการตัดสินใจเรื่องอื่นๆได้อีกด้วยนะครับ

 

แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม อย่าลืมว่า ความสามารถในการรับภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายของเรา ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาการเงินตามมาอยู่ดีนะครับ สวัสดีครับ :)

 car3car4

 

ins1
by Insuranger

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook