3 วิธีเริ่มสอนลูกวัยรุ่นเรื่องเงิน
• อยากคุยกับลูกวัยรุ่นเรื่องเงินควรเริ่มที่ไหน?
• อยากทำให้ลูกคิดก่อนใช้เงินต้องทำยังไง?
• ถ้าพ่อแม่เองก็ไม่เก่งเรื่องเงินล่ะ..จะคุยได้มั้ย?
พ่อแม่หลายคนปวดหัวกับเรื่องนี้มากค่ะ อยากสอนลูกวัยรุ่นเรื่องเงินมากๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี หลายคนพูดแล้วลูกไม่ฟัง ไม่เข้าใจ
มาค่ะ..วันนี้มาดามฟินนี่จะพาไปดู 3 วิธีเริ่มสอนลูกวัยรุ่นเรื่องเงิน ที่ช่วยให้การเริ่มคุยกับลูกวัยรุ่นเรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย ไปดูกันค่ะ
1. สร้างบรรยากาศให้การพูดคุยเรื่องเงิน เป็นเรื่องสบายๆ
ถ้าพูดถึงเรื่องเงินแล้วเครียด จบเลยค่ะงานนี้ พ่อแม่ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ด้วยการชวนคุยเรื่องเงินให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนที่ชวนคุยเรื่องสัพเพเหระ กินข้าว ดูหนัง ไปเที่ยว เม้ามอยเรื่องข่าวดารา
ตัวอย่าง
ลูกจ๊ะ วันนี้เราไปซื้อของเข้าบ้านที่นี่กัน รู้มั้ย การซื้อของจำเป็นที่บ้านเราต้องใช้ไปซื้อที่นี่ในจำนวนเยอะ ประหยัดไปได้ตั้ง 2,000 บาทแน่ะ เงินตรงนี้กลายเป็นเงินออมบ้านเราได้มากขึ้น ดีเนอะลูกเนอะ
เดือนนี้บ้านเรามีค่าประกันรถของพ่อถึงกำหนดนะ พ่อแม่เตรียมเงินกันมาแล้วส่วนนึง แต่ยังไงเดือนนี้ เราลดจำนวนมื้อที่กินข้าวนอกบ้านลงเหลือ 4 วันนะจ๊ะ เราช่วยกัน ประกันเป็นเรื่องจำเป็นจ้ะ
2. สอนให้ลูกรู้จักที่มา รู้จักคุณค่าของเงิน
ถ้าลูกไม่รู้ว่าเงินที่เค้าได้รับมีที่มายังไง เค้าอาจไม่เห็นค่าของเงิน
ลองเล่าให้เค้าฟังดูนะว่างานของพ่อกับแม่นั้น วันๆ ต้องทำอะไรบ้าง
คิดคำนวณออกมาแล้ว ถือว่าใช้เวลาแลกเงินได้กี่บาท เงินนี้ได้มา..ไม่ฟรี
นอกจากนี้..พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกลองทำงานพิเศษค่ะ ไม่ว่าทำงานบ้านในบ้าน หรือทำงานนอกบ้าน
เพื่อให้เค้ารู้ชัดจัดเต็มว่าการจะได้เงิน ต้องลงแรงบางอย่าง
ข้อควรจำ
อย่าพร่ำบ่นให้ลูกฟังว่า “พ่อแม่เหนื่อยต้องไปทำงานหาเงิน”
เพราะลูกอาจได้รับความคิดฝังลงไปในหัวว่า “เงินคือผู้ร้าย” ที่ทำให้พ่อแม่ของเค้าต้องยากลำบาก การจะได้เงินต้องทุกข์ยากลำเค็ญ และนั่น..จะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่เกลียดเงิน ไม่อยากมีเงิน
โฟกัสที่ “การแลกเปลี่ยน” ไม่ใช่ “เงินคือพระเจ้า”
เพราะแท้จริง เงินคือเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนมูลค่า ดังนั้น หากลูกอยากมีเงินเยอะ ให้ลูกสร้างคุณค่าบางอย่างที่คนจะยอมจ่ายเงินจำนวนมากมาแลก แบบนี้คนเราสามารถมีเงินเยอะได้โดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากเสมอไป
3. บอกให้เค้ารู้ว่าคนเราเลือกฐานะและชะตาชีวิตตัวเองได้ ด้วยการกำหนดรายจ่ายตัวเอง
มันไม่สำคัญหรอกค่ะว่าเราจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน
หากมีต้นทุนชีวิตต่ำ จะเปลี่ยนฐานะได้ก็ให้ ขยัน รักดี อยู่ใกล้คนดี มีความมุมานะ คอยหาและทำตัวให้พร้อมรับโอกาส ที่สำคัญ...กุมชะตาชีวิตตัวเองในเรื่องการใช้เงินให้ได้
มันมีนะ..การใช้เงินแบบที่ยิ่งใช้แล้วชีวิตยิ่งดีขึ้น
ข้อควรจำ
การทำงบประมาณ คือ การกำหนด ขีดเขียนชะตาชีวิตตัวเราเอง
เราเลือกฐานะเราใหม่ได้ตลอดเวลา ด้วยการกำหนดรายจ่ายค่ะ ว่าจะให้เงินที่เราทำมาหาได้ ไปที่ไหนแล้วทำงานหนักทวีค่า หรือกลับมาเพิ่มค่าให้ตัวเรา
การทำงบประมาณ และการจดรายจ่าย คือ การกำหนดว่า “คนอย่างเราจะมีชีวิตแบบไหน เงินไปตรงไหนได้”
ไม่ใช่การตีกรอบคอยบอกตัวเองว่านั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ แต่คือการบอกว่าเราทำได้...ในเรื่องที่เป็นเรื่อง เรื่องที่เรากำหนดเอง
ที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องรู้สึกดีกับเรื่องเงินเสียเองก่อนค่ะ
หากตัวพ่อแม่เองยังไม่สามารถจัดการเรื่องเงินตัวเองได้ มันยากนะคะที่จะไปพูด ไปสอนเด็ก เพราะลูกวัยรุ่นเค้าโตแล้วนะคะ เค้ารู้เค้าเห็น หากพ่อแม่ไม่ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอนแล้วล่ะก็.. ลูกจะไม่ฟัง แถมยังมาเถียงว่าพ่อแม่ยังทำไม่ได้เลย มาดามก็ว่าไม่แปลกแล้วล่ะค่ะ
จงซื่อสัตย์กับลูก คุยด้วยความสบายใจ อันไหนเราเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เอาตรงนั้นแหละสอนลูก เค้าจะยิ่งชื่นชมในความกล้าและจริงใจของเรา และอาจจะหันกลับมาฟังคำสอนของเรามากขึ้นด้วยค่ะ
เป็นกำลังใจให้นะคะ
ขอให้มีความสุข อยู่เหนือเงิน เพลิดเพลินกับชีวิตทั้งครอบครัวนะคะ
โอเคนะ
มาดามฟินนี่