เรื่องการเงินบทใหม่ที่ผู้หญิง ‘ควรรู้’ เมื่อมีครอบครัว
HIGHLIGHTS
1. การจดทะเบียนสมรสทำให้เรามีสิทธิต่างๆในฐานะที่เราเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่หุ้นส่วนชีวิตที่กินอยู่กับสามี
2. ประกันชีวิตจะคุ้มครองโดยให้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินอื่นๆในกองมรดก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำเพื่อวางแผนชีวิตตัวเองและครอบครัว
3. การทำพินัยกรรมเป็นสิ่งที่ควรจัดการเพราะทำให้คนที่อยู่ข้างหลังได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
4. การตัดสินใจต่างๆในครอบครัวนี้ควรคำนึงถึงความเสี่ยงของตัวเองในอนาคต การยอมทุกอย่างเพราะความเชื่อใจนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
ที่ผ่านมาพี่ต้าร์เองเขียนบทความเล่าเรื่องคนโสด คนขึ้นคาน คนเตรียมอยู่บ้านพักคนชรา การวางแผนการเงินฉบับเพศทางเลือกซะเยอะ ก็ไม่ใช่ไรหรอกก็เล่าจากประสบการณ์ว่าตัวเราเตรียมพร้อมอย่างไรไว้บ้าง เพราะคนโสดเองต้องจัดการและวางแผนการเงินเยอะนะ
ทีนี้ก็ได้มีโอกาสไป Live กับมาดามฟินนี่ มีแฟนเพจอยากให้เล่าเรื่องการเงินของผู้หญิงมีคู่บ้าง ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองต้องรู้เมื่อมีสามีแล้ว เพราะบางคนก็กลัวว่าสามีจะทิ้ง สามีจะมีเมียน้อย แล้วสามีตายไปพ่อแม่สามีไล่เราออกจากบ้านจะทำอย่างไร วันนี้พี่ต้าร์มีข้อมูลเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะต้องทราบไว้จัดการชีวิตตัวเองนะครับ บทความนี้เลยเขียนในแนวๆ ไม่ใช่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่เป็นเรื่องที่ควรจัดการเพราะมันมีผลกระทบต่อเงินทองได้
1. การจดทะเบียนสมรสคือหลักประกันของชีวิต
หลายคนพอเจอผู้ชายที่ตกลงปลงใจด้วยก็วางแผนจะใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกัน คำถามที่มักจะตามมาหลังจากนั้นก็คือเป็นสามี-ภรรยากันแล้ว“จะจดทะเบียนสมรสดีไหม?” เพราะกลัวต้องไปจดทะเบียนโน้นนี่เสียเวลาก็เลยไม่จดดีกว่า
การจดทะเบียนสมรสเนี่ยมันจะเป็นหลักประกันของชีวิตเรานะครับ เพราะเราจะกลายเป็นภรรยาที่ถูกกฎหมาย มีสิทธิในมรดกของฝ่ายชายได้และแน่นอนว่าถ้าฝ่ายชายมีเมียน้อยที่ไม่ได้จดทะเบียน เขาจะไม่มีสิทธิอะไรครับ
กรณีที่เราไม่ได้จดทะเบียนสมรสและสามีเราดันมีเมียน้อยอีก นั่นจะแปลว่าเราจะเป็นหุ้นส่วนชีวิต เขาก็จะดูว่าเรากับสามีช่วยกันทำมาหากินกันอย่างไร และเมียน้อยช่วยกับสามีเราทำมาหากินอย่างไร ในช่วงเวลาไหน พอสามีตายเราก็ต้องแบ่งตามสัดส่วนกับผู้หญิงอีกคนนะครับ
2. ประกันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ
ไม่ว่าคุณจะจดเทียนหรือไม่จด เป็นเมียหลวงหรือเมียน้อย ประกันคือสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกที่ควรสร้างเป็นหลักประกันระหว่างกัน เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าใครจะจากไปก่อนแล้วจะทิ้งภาระอะไรไว้ให้บ้าง ข้อดีของการมีประกันก็คือพอเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นทางบริษัทจะจ่าย “ค่าสินไหมทดแทน” มาให้กับผู้ที่ถูกระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์
ซึ่งตรงนี้จะต่างกับทรัพย์สินอื่นๆ อย่างเงินสด กองทุนรวม หากสามีเราไม่ได้มีการทำพินัยกรรมเอาไว้ ทรัพย์สินทั้งหลายจะตกไปอยู่ในกองมรดกแล้วมีการมอบให้ทายาทตามลำดับ ซึ่งหากเราเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายก็อาจจะไม่ได้อะไรเลยในพินัยกรรมก็ได้
หรือแม้กระทั่งเราเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ความลับของสามีอาจจะแตกในวันที่จัดงานศพก็ได้ เมื่อภรรยาน้อยอุ้มลูกมาขอแบ่งมรดกด้วยเพราะสามีได้รับรองบุตรตามกฎหมายหรือกระทำในสิ่งที่ถือว่าเป็นการรับรองบุตร เช่น ส่งเสียเล่าเรียน จ่ายเงินค่าเลี้ยงดู บอกกล่าวคนอื่นว่าเป็นลูก
การทำประกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะสร้างหลักประกันให้เราได้ในลำดับแรกเพราะค่าสินไหมนั้นระบุชื่อเรา และสามารถนำไปจัดการภาระได้ โดยไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการแบ่งมรดกที่ฟ้องกันไปมาตามข่าวในปัจจุบัน
3. พินัยกรรมคือสิ่งสำคัญของคนอยู่ข้างหลัง
นอกจากการทำประกันซึ่งเป็นหลักประกันของชีวิตทางด้านการเงินโดยตรงต่อคู่ชีวิต การทำพินัยกรรมทั้งของสามีและภรรยานั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างน้อยเราจะได้ทราบว่าเมื่อถึงเวลาจากไปแล้วคนที่อยู่ข้างหลังเราจะมีทรัพย์สินอะไรที่พออยู่ได้บ้าง ซึ่งการทำพินัยกรรมนั้นก็จะแบ่งมรดกให้กับทุกคนที่เรารัก ทั้งสามี ลูก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง
นอกจากนี้การทำพินัยกรรมยังมีข้อดีที่เป็นการบอกเจตนาของเราเองว่าจะให้ทรัพย์สินกับใครบ้าง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นไม่ให้เกิดการแย่งทรัพย์สินกันเมื่อไม่ได้มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แล้ว
4. ควรคิดและตัดสินใจร่วมกับสามีโดยคำนึงผลกระทบความเสี่ยงตัวเอง
เคยมีบางคนที่ผมรู้จักได้ช่วยสามีผ่อนบ้าน โดยสามีเป็นผู้ทำเรื่องกู้คนเดียวและตัวเองส่งเงินให้สามีช่วยค่าผ่อนแต่สามีรักพ่อแม่มากจึงอยากยกบ้านให้เป็นทรัพย์สินของแม่ โดยภรรยาก็ตกลงยินยอมยกให้ด้วยเช่นกันเพราะคิดว่าอย่างไรก็ตามก็อยู่ด้วยกัน วันดีคืนดีสามีเกิดจากไปอย่างกระทันหัน แม่สามีเห็นว่าฝ่ายหญิงเป็นคนนอก ไม่ได้มีหลานที่ต้องดูแล ท้ายสุดก็ได้ยกบ้านให้กับลูกชายอีกคนหนึ่ง (น้องชายของสามี) และภรรยาก็ต้องออกจากบ้านไป กลายเป็นเรื่องเป็นราวอีก
เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เห็นว่าการตัดสินใจบางอย่างมันมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ ส่วนในข้อกฎหมายก็แล้วแต่กรณีไปครับ เข้าใจว่าพ่อแม่คือบุคคลสำคัญของชีวิตเรา แต่ภรรยาก็เป็นบุคคลภายนอกที่แต่งเข้ามาและมีความสำคัญเหมือนคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นแล้วผู้หญิงเองก่อนที่จะตัดสินใจทำตามสิ่งที่ฝ่ายชายร้องขอ ต้องดูด้วยว่าจะเกิดผลกระทบกับตัวเองอย่างไรจะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
การตัดสินใจร่วมกับสามีนั้นยังใช้ได้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการตั้งเป้าหมายชีวิตและทรัพย์สินร่วมกัน การวางแผนเรื่องทั่วไปๆ ในบ้าน เรื่องลูก เพราะทุกเรื่องนั้นหากรับผิดชอบร่วมกันอยู่ดีๆ แต่เกิดความเสี่ยงและเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เรายังเตรียมพร้อมที่รับมือได้ ทุกอย่างจึงต้องคุยและคิดเสมอ
อย่าลืมนะครับว่าการเป็นภรรยาแต่งงานแล้วก็ต้องวางแผนหลายๆเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการเงิน นอกเหนือไปจากคนโสดอีก เห็นอย่างงี้อยากกลับไปโสดกันไหมล่ะครับ ฮาๆ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้ชีวิตโสดหรือชีวิตแต่งงานแล้วก็ตาม ความรู้ด้านการเงินและการวางแผนทางการเงินก็สำคัญกับทุกคนครับ
by TarKawin