สปส.ยัน แค่ 6 โรคเท่านั้นที่ไม่คุ้มครอง !
โรคและบริการรักษาพยาบาลที่ประกันสังคมไม่ให้ความคุ้มครอง
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผย โรคและบริการรักษาพยาบาลที่ไม่ให้ความคุ้มครอง มิใช่ 14 โรค เผยมีแค่ 6 โรคยกเว้นเท่านั้น
ด้านเลขาธิการ สปส. แจง การยกเว้นการคุ้มครองการรักษาโรคหรือบริการเป็นไปตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของการประกันสังคม ซึ่งมีความเหมาะสมตามหลักการทางการแพทย์ และสอดคล้องกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐอื่นๆ ของประเทศไทย
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนที่ขอให้สำนักงานประกันสังคมทบทวน 14 โรคและการบริการที่ไม่สามารถเบิกตามสิทธิประกันสังคมได้ รวมทั้งข้อเสนอเรื่องส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม ขอเรียนว่า ข้อเสนอดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบด้าน อาจต้องมีการปรับรูปแบบการจัดสิทธิประโยชน์ทดแทน การจัดระบบบริการทางการแพทย์ และอัตราค่าบริการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วมีเพียง 6 กรณีเท่านั้น ที่มีความชัดเจนว่าสำนักงานประกันสังคมไม่ให้ความคุ้มครอง ประกอบด้วย
- การกระทำใดๆเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการค้นคว้าทดลอง
- การรักษาภาวะมีบุตรยาก
- การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น
- การเปลี่ยนเพศ
- การผสมเทียม
ทั้งนี้ เป็นไปตามความเหมาะสมตามหลักการทางการแพทย์และสอดคล้องกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐอื่นๆ ของประเทศไทย
สำนักงานประกันสังคมยังคงให้ความคุ้มครองการรักษาในกรณีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและมีข้อบ่งชี้ ทางการแพทย์ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ในเกินกว่า 180 วัน ใน 1 ปี รวมทั้งยังได้ให้สิทธิผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไต เพื่อบำบัดทดแทนไตทั้งที่เป็นกรณีไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงการตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะด้วย ซึ่งประกอบด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต การปลูกถ่ายไตการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน และการปลูกถ่ายอวัยวะ 2 อวัยวะพร้อมกัน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อบ่งชี้ ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดตามแนวทางการรักษาและมาตรฐานที่ราชวิทยาลัยหรือสมาคมวิชาชีพ
กรณีทันตกรรม สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองครอบคลุม ทั้งการถอนฟัน อุดฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินปูนและการใส่ฟันเทียม ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน รวมถึงคลินิกทันตกรรม ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย หากเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทันตกรรมที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม
สำหรับแว่นตา กรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วยเป็นต้อกระจกและต้องผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาออก หากไม่ใส่เลนส์แก้วตาเทียม สามารถเบิกค่าอุปกรณ์แว่นตา สำหรับมองไกล แว่นตาสำหรับมองใกล้ และเลนส์สัมผัสจากสำนักงานประกันสังคมได้
เลขาธิการ สปส.กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคม ยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการปฏิรูปบริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ และให้ความคุ้มครองต่างๆ ให้กับผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศต่อไป