ประกันสังคมอ้าง ทุกฝ่ายหนุน ขยายอายุบำนาญชราภาพจาก 55 เป็น 60 ปี

สปส. อ้าง ทุกฝ่ายหนุน ขยายอายุบำนาญชราภาพจาก 55 เป็น 60 ปี

สปส. อ้าง ทุกฝ่ายหนุน ขยายอายุบำนาญชราภาพจาก 55 เป็น 60 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงานประกันสังคม เผยเดินสายจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เดินสายจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม เผยผลตอบรับทั้งข้อเสนอแนะจากนายจ้าง ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน และนักวิชาการ หนุนขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปีเป็น 60 ปี ด้านเลขาธิการ สปส. ชี้จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง แผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ที่มีกำหนดจัดขึ้นทั้งหมด 12 ครั้ง ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2560 ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดประชุมดังกล่าวไปแล้ว 3 ครั้ง คือ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ ผู้ประกันตน นายจ้าง ผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ประมาณ 1,500 คน โดยข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละครั้งได้สะท้อนถึงการสนับสนุนแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพในหลายมิติ

“การจัดประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับการขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพื่อให้ผู้ประกันตนมีระยะเวลาในการออมเพิ่มขึ้น และเห็นว่าควรขยายอายุรับบำนาญชราภาพด้วยวิธีการสมัครใจมากกว่าการใช้วิธีบังคับ ส่วนทางเลือกในการขยายอายุการรับสิทธิยังมีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคงแนวทางการรับสิทธิบำนาญชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี หรือการขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนรายใหม่ เป็นต้น” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการปรับสูตรการคำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นการคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน โดยปรับมูลค่าของค่าจ้างแต่ละปีให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อนนำมาเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรเดิม นอกจากนี้ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังยินดีให้หักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อให้รับสิทธิประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังพ้นจากการเป็นผู้ประกันตน

ด้าน นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากรของไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป และเป็นที่แน่ชัดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย อย่างสมบูรณ์ สำนักงานประกันสังคมได้ติดตามสถานการณ์พร้อมศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม โดยความร่วมมือจากนักวิชาการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการประกันสังคม โดยมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด 3 ประเด็น

1. การขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพ มีแนวทางในการพิจารณา 4 แนวทาง ได้แก่

แนวทางที่ 1 คงอายุการรับสิทธิบำนาญชราภาพไว้ที่ 55 ปี เงื่อนไข และเงินบำนาญแบบเดิม (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ)

แนวทางที่ 2 ขยายอายุการมีสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล (60 ปี) และมีสิทธิได้รับบำเหน็จชดเชย หากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุที่มีสิทธิรับบำนาญได้ (สำนักงานประกันสังคมอาจกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การทยอยปรับเพิ่มอายุ การมีสิทธิรับบำนาญไว้ล่วงหน้า)

แนวทางที่ 3 ขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล (60 ปี) และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง

แนวทางที่ 4 ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำ (60 ปี) เฉพาะผู้ประกันตนใหม่ สำหรับผู้ประกันตนปัจจุบันสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญแต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง

2. เพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพต่อเนื่องแก่ผู้รับบำนาญ โดยผู้รับบำนาญสามารถเลือกรับการประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังออกจากการเป็นผู้ประกันตนได้และยินยอมให้สำนักงานประกันสังคมหักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพ

3. การปรับปรุงค่าจ้างเฉลี่ยสูตรใหม่เพื่อใช้ในการคำนวณบำนาญชราภาพทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเดือนสูงขึ้นจากสูตรฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้ในปัจจุบัน

นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปนำเสนอในเวทีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคมทั้ง 12 ครั้ง ระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2560 เพื่อให้ผู้ประกันตน นายจ้าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจตลอดจนสนับสนุนแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ที่จะให้ประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ประกันตน ในขณะเดียวกันสร้างเสถียรภาพให้กับกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคมมุ่งหวังให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและยอมรับการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ

โดยในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2560 ได้กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2 – 3 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก

ทั้งนี้ ผู้สนใจจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นแต่ไม่สะดวกเข้าร่วมตามสถานที่จัดงานได้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นและแสดงความคิดได้ที่ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook