5 สูตรสำหรับการปรับตัว ช่วยธุรกิจให้อยู่รอด!

5 สูตรสำหรับการปรับตัว ช่วยธุรกิจให้อยู่รอด!

5 สูตรสำหรับการปรับตัว ช่วยธุรกิจให้อยู่รอด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากยุคสมัยที่ธุรกิจเปลี่ยนจากปลาใหญ่กินปลาเล็ก เข้าสู่ยุคปลาเร็วกินปลาช้า จนถึงล่าสุดปลาไม่ว่าตัวเล็ก หรือตัวใหญ่ จะว่ายไว หรือว่ายช้า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ไม่รอดทั้งนั้น ดูจากกฎของเมนเดล บิดาทางพันธุศาสตร์ที่ได้กล่าวไว้ว่า สิ่งมีชีวิตที่จะมีโอกาสรอดในธรรมชาติได้ ต้องรู้จักปรับตัว ไม่เช่นนั้น ก็จะถูกคัดออก โดยธรรมชาติ หรือตายไปในที่สุด กฎนี้ดูเหมือนจะใช้ได้กับธุรกิจทุกยุคทุกสมัย


ถ้าไม่อยากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไปไม่รอด นี่คือ ไอเดียของการปรับแผนงานธุรกิจต่างๆ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ อย่างน่าอัศจรรย์ แต่อย่างไรก็ดี วิธีเหล่านี้ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นเพียงแนวทางที่อยากให้ผู้ประกอบการได้ลองนำไปตั้งคำถามกับสินค้า บริการ หรือแม้แต่โมเดลธุรกิจของตนเองว่า เราจะสามารถประยุกต์ใช้ไอเดียเหล่านี้ได้อย่างไร? ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูวิธีของพวกเขากัน

1.เรียบง่าย ใช้งานได้โดยไม่ต้องคิด

ไอเดียแรกคือ ทำให้สินค้าบริการ หรือโมเดลธุรกิจของคุณง่ายที่สุด ภาษากลยุทธ์เรียกว่า Tactic (less is more) ใช้แรงนิดเดียวได้ผลลัพธ์มหาศาล เกิดประโยชน์มากมาย โดยรายละเอียด หรือกลไกนิดเดียว ตัวอย่างธุรกิจเช่น ตัวต่อ Lego บริการคลิกเดียวสั่งได้ (One Click Ordering) ของ Amazon เครื่องเล่น iPod (มีปุ่มเดียว) หรือ Google ทีทั้งหน้าจอมีแค่ช่องค้นหากับปุ่มค้น ฯลฯ ลองลดขั้นตอนความยุ่งยากของสินค้าบริการของคุณดู อาจได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงได้เลย

2.เพิ่ม สร้าง หรือเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่

ไอเดียนี้เป็นการมองหาประสบการณ์เพิ่มเติม หรือสร้างใหม่เลย เช่น การทำให้บรรยากาศร้านน่านั่งคิดงาน สบายๆ เหมือนอยู่บ้านอย่าง Starbucks หรือการเรียกแท็กซี่ผ่านมือถือด้วย Grab หรือ Uber ร้านอาหารที่อยู่ในฟาร์ม เสิร์ฟสดถึงโต๊ะท่ามกลางธรรมชาติอย่าง Farm-to-table ฯลฯ ไอเดียนี้อยากให้เจ้าของธุรกิจมองว่า สินค้า หรือบริการ สามารถเพิ่มประสบการณ์อะไรให้ลูกค้าได้อีกบ้าง นอกจากตัวสินค้าเอง ซึ่งกฎพื้นฐานความต้องการของลูกค้าคือ better, Cheaper, Faster หมายถึง สินค้า บริการ หรือประสบการณ์ที่ดีกว่า คุ้มค่า และไม่ต้องรอ เพิ่มเติมอีกข้อคือ ความรู้สึกพิเศษ เฉพาะลูกค้าเท่านั้น (exclusivity)

3.ทำให้เล็กลง ง่ายขึ้น ถูกลง

บางทีการที่ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าของคุณ หรือซื้อน้อย อาจเป็นเพราะสินค้านั้นใหญ่เกินไป มากเกินไป การปรับลดให้พอเหมาะพอดี อาจทำให้สินค้าขายได้มากขึ้น เร็วขึ้น อดีตฟาสต์ฟูด เปิดตัวไอสกรีมถ้วยราคา 15 บาท ยอดขายก็พอมีบ้าง แต่พอปรับราคาลงเหลือ 7 บาท ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า Fiverr ฟรีแลนซ์ราคาประหยัดเริ่มต้นที่ 171 บาท ไอเดียนี้ ให้คุณกลับไปมองว่า ธุรกิจของคุณสามารถปรับขนาด ราคา หรือเวลาในการใช้บริการให้เล็กลง ง่ายขึ้น เร็วขึ้น หรือถูกลงได้ หรือไม่?

4.หาพันธมิตรธุรกิจ เร่งโต

ไอเดียนี้ฟังดูง่าย แต่การเลือกพันธมิตรคือ หัวใจของความสำเร็จ โดยหลักพื้นฐานคือ ควรเลือกพันธมิตรที่แข็งแรง เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ถ้าตอบโจทย์สามข้อนี้ก็ถือว่าเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจมากๆ ตัวอย่างเช่น Nike จับมือกับ Apple เพื่อเปลี่ยน iPod ให้กลายเป็นเทรนเนอร์ในการวิ่ง ทำให้รองเท้าวิ่งขายดีขึ้นพร้อมๆ กับไอพอด หรืออย่างการที่ Lazada อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ใช้บริการของ Kurry Xpress จนทำให้แบรนด์รับส่งสินค้ารายนี้เป็นที่จดจำ และมีฐานลูกค้ามากมาย พันธมิตรที่ใหญ่กว่า อาจทำให้คุณได้กำไรต่อหน่วยลดลง แต่ได้ปริมาณการใช้สินค้า หรือบริการที่มากกว่า งานหนัก แต่สิ่งที่ควรได้มานอกจากกำไรก็คือ ฐานข้อมูลลูกค้าที่สามารถนำไปใช้หากินได้ต่อในอนาคต

5.แสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่

ในยุคที่ธุรกิจไม่ได้ขาดแคลนสินค้า หรือบริการ แต่เป็น”ลูกค้า”ต่างหาก ที่หายากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่แข่งขันดุ เพราะใครก็ๆ สามารถกระโดดเข้ามาเล่นได้ไม่ยาก ไอเดียนี้ ต้องการจะบอกคุณว่า อย่ามัวแต่ไปแย่งหากินกับลูกค้ากลุ่มเดิมเลย เพราะนับวันจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ทีเปรียบเสมือนกับตัวหารที่มากขึ้น โอกาสธุรกิจก็ลดลง ทั้งรายได้ กำไร และการเติบโต ตัวอย่าง Zipcar บริการเช่ารถขับจากเต็นท์สู่เต็นท์ ที่จับกลุ่มสมาชิกที่อยากมีรถขับไม่ซ้ำคัน แต่ไม่ต้องการซื้อรถเป็นของตนเอง สมาชิกสามารถเลือกขับรถรุ่นใดก็ได้จากเต็นท์ใกล้ที่พัก เพื่อไปจอดยังเต็นท์ Zipcar ที่ใกล้เป้าหมายปลายทาง หรือในทางกลับได้ โดยเสียค่าสมาชิก และน้ำมัน

ไอเดียแถมท้าย

สังเกตว่า ไอเดียทั้งหมดที่เล่ามา ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะโลกเปลี่ยนไป แต่ความต้องการของผู้บริโภคยังคงเหมือนเดิม อาจจะมีบริบทของการใช้สินค้า หรือบริการที่ต้องเปลี่ยนไปบ้างตามยุคตามสมัย แต่ลึกๆ แล้ว ผู้บริโภคยังคงต้องการความสะดวก สบายทั้งกาย ใจ และกระเป๋าสตางค์ ดังนั้น การนำไอเดียเหล่านี้มาปัดผุ่น แล้วมองธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง เพื่อหาทางออกที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมดิจิทัล คุณอาจสามารถพลิกวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ให้กลายเป็นโอกาสใหม่ที่คาดไม่ถึงก็ได้

Text : ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook